พลิกโฉมธุรกิจพิชิตโอกาส ด้วยพลวัตทักษะใหม่

พลิกโฉมธุรกิจพิชิตโอกาส   ด้วยพลวัตทักษะใหม่

ปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจ หรือนักวิชาการต่างให้ความสนใจกับการพัฒนาทักษะใหม่อย่างต่อเนื่อง ด้วยตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนองค์กรให้มีขีดความสามารถในการอยู่รอดท่ามกลางความแปรปรวนและไม่แน่นอนของสถานการณ์ต่างๆทางธุรกิจ

ปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจ หรือนักวิชาการต่างให้ความสนใจกับการพัฒนาทักษะใหม่อย่างต่อเนื่อง ด้วยตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนองค์กรให้มีขีดความสามารถในการอยู่รอดท่ามกลางความแปรปรวนและไม่แน่นอนของสถานการณ์ต่างๆทางธุรกิจ ไม่เพียงแต่เรื่องความรุนแรงในการแข่งขันยังรวมถึงเรื่องข้อจำกัดของความต้องการซื้อและอำนาจในการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคที่ลดลงในภาวะวิกฤติโควิด-19 ที่ยังคงทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่องและกว้างขวางยากแก่การคาดการณ์ว่าจะสิ้นสุดหรือมีสถานการณ์ดีขึ้นเมื่อใดแม้ว่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากการมีวัคซีนแต่ยังคงมีประเด็นอื่นๆเกิดขึ้นไม่ว่าประเด็นการเมือง ประเด็นความขัดแย้งระหว่างประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจต่างๆ ตลอดจนประเด็นของการเปลี่ยนโฉมรูปแบบการแข่งขันของธุรกิจที่มุ่งเน้นให้ความสำคัญเรื่องการใช้นวัตกรรมเทคโนโลยี หุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในการสร้างความได้เปรียบเรื่องการลดต้นทุนและการให้บริการเชิงรุกตลอดเวลาและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

ดังนั้นภาคธุรกิจไม่ว่าจะเป็นองค์กรระดับข้ามชาติ องค์กรมหาชน หรือแม้แต่องค์กรขนาดเล็กที่เป็นผู้ประกอบการรายย่อย วิสาหกิจชุมชน หรือแม้แต่พนักงานผู้ปฏิบัติงานเริ่มให้ความสนใจในการพัฒนาทักษะของตนเอง ด้วยพลวัตทักษะใหม่ (Dynamic GSC Skill)

ทักษะ (skill) เกิดขึ้นจากการเรียนรู้ ปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ฝึกฝนกระทำจนเกิดความชำนาญและเชี่ยวชาญมากยิ่งขึ้น จากผลงานวิจัยร่วมกันของบริษัทไมโครซอฟท์และไอดีซีกับกลุ่มตัวอย่างที่เป็นองค์กรธุรกิจไทยจำนวนร้อยกว่าแห่งในช่วงปี 2562 พบว่าทักษะที่มีความสำคัญสำหรับบุคลากรในอนาคตมากที่สุดได้แก่ ทักษะความคิดสร้างสรรค์ ทักษะทางดิจิทัล และทักษะการคิดวิเคราะห์หรือทักษะด้านสถิติตามลำดับ

อีกทั้งในอนาคตประเทศไทยจะขาดแคลนพนักงานที่มีทักษะดังกล่าวรวมถึงขาดแคลนพนักงานที่มีความสามารถในการวิจัยและการพัฒนาเชิงวิทยาศาสตร์อีกด้วย นอกจากนี้ผลการสำรวจภาคธุรกิจของไทย (WEF, 2020) พบว่าทักษะที่ธุรกิจต้องการมากที่สุดคือทักษะทางด้านเทคนิคดิจิทัล และทักษะสำคัญต่อการทำงานในอนาคต จะเห็นได้ว่าธุรกิจต้องการพนักงานที่มีความคิดสร้างสรรค์และคิดนอกกรอบ  

ถึงเวลาแล้วที่พนักงานในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลต้องมุ่งเน้นเรียนรู้และฝึกฝนเพื่อสร้างทักษะใหม่ที่สร้างความก้าวหน้า ก้าวไกลในภาวะวิกฤติ ทักษะใหม่นี้เรียกให้เข้าใจได้ง่ายว่า “Growth Skill” เพื่อสร้างความเข้าใจว่าต้องเป็นทักษะที่สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้ทุกฝ่ายในช่วงวิกฤติและความไม่แน่นอน แต่ผู้บริหารหรือผู้นำองค์กรก็คงต้องให้ความสำคัญกับการยกระดับทักษะของพนักงานในองค์กรทุกคนให้มีทักษะที่เชี่ยวชาญมากยิ่งขึ้นในสิ่งที่พนักงานแต่ละคนมีความชำนาญการอยู่เดิมแล้วเพราะความเชี่ยวชาญที่เกิดจากการสะสมประสบการณ์ในการทำงานยังคงเป็นเรื่องที่ละทิ้งไม่ได้แต่ต้องมีการยกระดับทักษะที่สำคัญนั้นให้เป็นเลิศและยั่งยืน “Shift Skill” 

อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะปรับความเชี่ยวชาญในสิ่งที่พนักงานแต่ละคนชำนาญแล้วการแปลงโฉมทักษะของพนักงานด้วยการส่งเสริมให้เรียนรู้และฝึกฝนทักษะที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ในที่นี้เรียกว่า “Change Skill” หรือที่คนส่วนใหญ่เคยได้ยินคำว่า Reskill ยังคงเป็นเรื่องที่ทุกองค์กรธุรกิจต้องเตรียมการไว้เสมอด้วยสถานการณ์ความไม่แน่นอนเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ธุรกิจของท่านสามารถดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน ผู้เขียนขอเป็นกำลังใจให้ท่านและทีมงานมาร่วมกันพลิกโฉมธุรกิจ พิชิตโอกาสด้วยพลวัตทักษะใหม่ “GSC: Growth Skill, Shift Skill, Change Skill” ได้เป็นอย่างดี