'เฟทโก้' ชี้ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน 'ร้อนแรง'

'เฟทโก้' ชี้ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน 'ร้อนแรง'

ความเชื่อมั่นนักลงทุนอยู่ในโซน "ร้อนแรง" ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 "รายย่อย-โบรกฯ-กองทุน*ต่างชาติ" เชื่อมั่นสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศ พร้อมคาดหวังเงินทุนไหนเข้า-กำไร บจ.ฟื้น

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ผลสำรวจในเดือน มี.ค.2564 พบว่า ดัชนีฯ ในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 145.55 ปรับตัวลดลง 4.4% จากเดือนก่อน ยังคงอยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง” ต่อเนื่องเป็นเดือนที่สี่ โดยนักลงทุนคาดหวังการคลี่คลายสถานการณ์โควิด-19 จากการกระจายวัคซีนเป็นปัจจัยหนุนมากที่สุด รองลงมาคือการไหลเข้าของเงินทุน และผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน

สำหรับปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ สถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ที่ยังระบาดในหลายประเทศ รองลงมาคือการท่องเที่ยว และสถานการณ์การเมืองในประเทศ

161735175290

ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) สำรวจในเดือน มี.ค.2564 ได้ผลสำรวจโดยสรุป ดังนี้

- ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (มิ.ย.2564) อยู่ในเกณฑ์ร้อนแรง” (ช่วงค่าดัชนี 120 -159) ปรับตัวลดลง 4.4% จากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 55

- ความเชื่อมั่นนักลงทุนทุกกลุ่มอยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง”

- หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด หมวดอาหารและเครื่องดื่ม (FOOD)

- หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT)

- ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ สถานการณ์ Covid-19 คลี่คลายจากการกระจายวัคซีน

- ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ สถานการณ์ระบาดของ Covid-19 ในหลายประเทศ

ผลสำรวจ ณ เดือน มี.ค.2564 รายกลุ่มนักลงทุน พบว่า ความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนบุคคลปรับตัวลดลง 1% อยู่ที่ระดับ 139.47 กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับตัวเพิ่มขึ้น 35% อยู่ที่ระดับ 154.55 กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น 16% อยู่ที่ระดับ 150.00 และกลุ่มนักลงทุนต่างชาติปรับตัวลดลง 18% อยู่ที่ระดับ 150.00

นักลงทุนสนใจลงทุนในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม (FOOD) มากที่สุด รองลงมาคือหมวดการท่องเที่ยวและสันทนาการ (TOURISM) และหมวดปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ (PETRO) ขณะที่นักลงทุนเห็นว่าหมวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ไม่น่าสนใจลงทุนมากที่สุด  รองลงมาคือหมวดแฟชั่น (FASHION) และหมวดการท่องเที่ยวและสันทนาการ (TOURISM) 

ในช่วงต้นเดือน มี.ค.2564 SET index ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง จากปัจจัยบวกด้านความคืบหน้าของการทยอยฉีดวัคซีนในประเทศ โดยในช่วงกลางเดือนมีปรับตัวลงบ้างเล็กน้อย จากอัตราราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลง ช่วงครึ่งเดือนหลังดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากข่าวดีในประเทศ

อาทิ การออกมาตรการทางการเงินเพิ่มเติมเพิ่อให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (มาตรการฟื้นฟูฯ) ของธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลังวงเงินรวม 350,000 ล้านบาท และการออกแนวทางการผ่อนปรนการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดย ณ สิ้นเดือนมีนาคม SET Index ปิดที่ 1,587.21 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.04% จากเดือนก่อนหน้า

ปัจจัยต่างประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ ผลการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ขนาด 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สรอ. ซึ่่งจะเอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และเป็นกำลังขับเคลื่อนสำคัญของการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก แต่อาจส่งผลต่อความกังวลของนักลงทุนจากการคาดการณ์ภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ซึ่งสะท้อนผ่านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (บอนด์ยิลด์) ที่ปรับตัวสูงขึ้นทั้งในสหรัฐฯ และในหลายประเทศทั่วโลก

นอกจากนี้ การแข่งขันทางการค้าและเทคโนโลยีระหว่างจีนและสหรัฐฯ รวมถึงเหตุการณ์ความไม่สงบจากปัญหาการเมืองในเมียนมาเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ในส่วนของปัจจัยในประเทศ ได้แก่ อัตราเร่งในการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ซึ่งหากล่าช้าจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย การบริหารจัดการของภาครัฐในการควบคุมพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากการตรวจค้นหาเชิงรุก ผลของการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในกลุ่มจังหวัดนำร่อง และสถานการณ์การเมืองในประเทศ