'ตู่-เต้น' เส้นขนานการเมือง จุดเปลี่ยน 'นปช.' แยก 2 สาย ? 

'ตู่-เต้น' เส้นขนานการเมือง จุดเปลี่ยน 'นปช.' แยก 2 สาย ? 

กลเกมการเมืองเมื่อเวลาเปลี่ยน คนเปลี่ยน อุดมการณ์เปลี่ยน ถึงเวลาที่ต้องทำเพื่อความอยู่รอดแต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าจุดยืนของ “ตู่-เต้น” ที่เป็นเส้นขนาน กำลังส่งผลให้มวลชนคนเสื้อแดง นปช.ต้องแยกเป็น 2 สาย แต่สุดท้ายปลายทางอาจมีเป้าหมายเดียวกัน

ถึงเวลา “มิตรการเมือง-เพื่อนร่วมอุดมการณ์” ต้องเดินกันคนละเส้นทาง เมื่อ “จตุพร พรหมพันธุ์” ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แยกกันเดินคนละเส้นทางกับ “ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” เลขาธิการ นปช. เพราะการเคลื่อนไหวทางการเมืองเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง

“ตู่ จตุพร- เต้น ณัฐวุฒิ” คือเพื่อนร่วมรบ-เพื่อนร่วมอุดมการณ์ ร่วมกันก่อตั้ง “แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ” (นปก.) ก่อนเปลี่ยนชื่อมาเป็น นปช. เคลื่อนไหวขับไล่ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ต่อต้านรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหาร 2549 มาจนถึงจัดชุมนุมขับไล่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อปี 2552-2553 ทั้ง “จตุพร-ณัฐวุฒิ” เดินนำคนเสื้อแดงอยู่แนวหน้ามาทุกครั้ง

“จตุพร” เติบโตมาจากชมรมปาฐกถาและโต้วาที พรรคสัจจธรรม และพรรคศรัทธาธรรม มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นนักกิจกรรมการเมืองยุคพฤษภาทมิฬ “ณัฐวุฒิ” โด่งดังมาจากรายการโต้คารมมัธยมฯ และเวทีวาทีของกรรณิการ์ ธรรมเกสร ทางช่อง 9 อสมท ทั้งคู่เป็นนักพูดโดยธรรมชาติ ก่อนจะมาร่วมเคลื่อนไหวในนาม นปช.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :  

ความสัมพันธ์ระหว่าง “จตุพร-ณัฐวุฒิ” เริ่มกินแหนงแคลงใจกันช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยในปี 2554 ช่วงจัดตั้งรัฐบาลมีโควตาเก้าอี้รัฐมนตรีให้ “กลุ่ม นปช.” ที่ช่วยสู้รบกันมาทุกสนาม “1 เก้าอี้” ระดับแกนนำ นปช.ส่ง “ณัฐวุฒิ” แปลงร่างจากไพร่ ขึ้นแทนเสนาบดี ในตำแหน่ง “รมช.เกษตรและสหกรณ์” ส่วน “จตุพร” ร้องเพลงรอไปก่อน

“จตุพร-ณัฐวุฒิ” มีสัญญาใจกันว่า จะสลับกันนั่งเก้าอี้เสนาบดี เมื่อมีการปรับ ครม.ในช่วงปลายปี 2555 ทว่า คำสัญญาที่เคยให้กันไว้กลับถูกลบทิ้ง “จตุพร” ตายใจคิดว่า “เพื่อน” จะไม่หักหลัง ไม่ได้เดินเกมให้ตัวเองได้นั่งเก้าอี้เสนาบดี เพราะหลงคิดว่าตัวเองมี “นายใหญ่” คอยสนับสนุน ปรับ ครม.ก็นอนมา

ขณะที่ “ณัฐวุฒิ” เดินเกมเข้าออกบ้าน “เจ๊แดง” เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ จนถูกโยกจากเก้าอี้ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ให้มานั่งเก้าอี้ “รมช.พาณิชย์” ที่ “เยาวภา” คอยคุมเกมอยู่เบื้องหลัง

แม้ “จตุพร” จะปลอบใจตัวเองว่าไม่เป็นไร แต่การพลาดเก้าอี้เสนาบดีในครั้งนั้น ทำให้ “จตุพร” แทบจะไม่มีโอกาสได้เฉียดเข้าไปสั่งเก้าอี้เสนาบดีอีกต่อไป ความเจ็บซ้ำใจถูกเก็บสุมอกของ “จตุพร” มาโดยตลอด แต่ก็ต้องยอมกลืนเลือดทนเห็น “เพื่อนรัก” ได้ดิบได้ดี

จนกระทั่งรัฐประหาร 2557 ทั้ง “จตุพร-ณัฐวุฒิ” อยู่ในความสงบสยบความเคลื่อนไหว จน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม ประกาศจัดการเลือกตั้งทั้ง “จตุพร-ณัฐวุฒิ” ได้เวลาเคลื่อนเกมทางการเมืองอีกครั้ง แต่แยกทางกันเดินอย่างชัดเจน

ศึกเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 “จตุพร” แท็กทีมกับ “ยงยุทธ ติยะไพรัช” “สงคราม กิจเลิศไพไรจน์” ตั้งพรรคเพื่อชาติ (พช.) เดินสายหาเสียงทั่วประเทศ แต่ช่วงโค้งสุดท้าย “จตุพร” ประกาศแยกกันเดินกับ “ยงยุทธ-สงคราม” ท่ามกลางข้อครหาเรื่องเงินๆ ทองๆ พร้อมข่าวปล่อย “เงินขวัญถุง” จากค่ายสีเขียว

ทำให้ “4 ส.ส.เพื่อชาติ” อยู่ในความดูแลของ “ยงยุทธ-สงคราม” ส่วน “อารี ไกรนรา” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อชาติ อยู่ในความดูแลของ “จตุพร” ซึ่งมักจะฟรีโหวตไม่อิงกับมติพรรค

ขณะที่ “ณัฐวุฒิ” แยกออกไปอยู่ร่วมด้วยช่วยกันกับพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) นำทีมนปช. อาทิ “ธิดา ถาวรเศรษฐ์” “เหวง โตจิราการ” “ก่อแก้ว พิกุลทอง” มาร่วมด้วยช่วยกัน ก่อนถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค ทำให้หมดสิทธิ์ลงรับสมัครเลือกตั้ง

ภาพ นปช.แตกหักมาปรากฎให้เห็นอีกครั้ง ภายหลัง “จตุพร” เสนอให้ยุบทิ้ง นปช. ขณะที่ นปช.ปีก “ณัฐวุฒิ-ธิดา-เหวง-ก่อแก้ว” ไม่ยอมให้ยุบ เพราะมองว่าไม่ใช่องค์กรของใครคนใดคนหนึ่ง ทำให้ข้อเสนอดังกล่าวสลายหายไปอย่างเงียบๆ 

เวลาผ่านไป ภาพแบ่งขั้ว นปช.กลับมาชัดเจนอีกครั้ง หลัง “จตุพร” นำสำนักข่าว Peace News ออกจากตึกอิมพีเรียล ลาดพร้าว ของ “สงคราม” ไปตั้งสถานีโทรทัศน์พีซทีวีแห่งใหม่ อยู่ในซอยรามอินทรา 40 (ซอยวัดนวลจันทร์) ว่ากันว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นชื่อของเครือข่าย “คนแจกกล้วย” ของรัฐบาล

ด้าน “ณัฐวุฒิ” และแกนนำ นปช. อพยพไปอยู่ที่ศูนย์ข่าวยูดีดีนิวส์ ที่อาคารเอเวอรี่มอลล์ (นิวเวิลด์เดิม) สี่แยกแคราย จ.นนทบุรี ซึ่งเป็นรังเก่าของ “ธิดา” อยู่ก่อนแล้ว

มาวันนี้ “จตุพร” หันไปจับมือ “อดุลย์ เขียวบริบูรณ์” ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา'35 และกลุ่มเพื่อนอานันท์ เดินเกมการเมืองนอกสภาในนาม “สภาที่ 3” ประกาศลงสนามเริ่มไล่ “ประยุทธ์” ในวันที่ 4 เม.ย.นี้

“จตุพร” ชูธง “สามัคคีทุกสี” ไล่ประยุทธ์ โดยไม่แตะเรื่องสถาบันฯ ทำให้แนวร่วม “ม็อบ 3 นิ้ว” ไม่พอใจท่าทีของ “จตุพร” จนแนวร่วมโลกออนไลน์ออกมาโจมตี กล่าวหาว่าสู้ไปกราบไป รับงานมาลดเพดานการชุมนุม

ขณะที่ “ณัฐวุฒิ” หลังถอดกำไลอีเอ็ม ตั้งโต๊ะแถลงข่าวทันที โดยแสดงจุดยืนของอยู่ข้าง “เยาวชน-ม็อบ 3 นิ้ว” ทำให้ได้ใจมวลชนที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่ แนวร่วมโลกออนไลน์ออกมาแซ่ซร้อง แต่หากจับไต๋ให้ดี “ณัฐวุฒิ” ก็ไม่ประกาศชัดเจนว่าจะสนับสนุนการชุมนุม"ทะลุฟ้า"หรือไม่
ฉากชีวิตของ “จตุพร-ณัฐวุฒิ” จากเพื่อร่วมสนามรบ-เพื่อนร่วมอุดมการณ์ มีหลายเหตุการณ์ที่เป็นจุดพลิกผันจนทำให้ จากคู่หูที่มองหน้าก็รู้ใจ สลับกันขึ้นเวทีปราศรัย มาจนถึงวันต้องแยกทางกันเดินเสมือนเส้นขนานที่ยากจะบรรจบกันอีก

กลเกมการเมืองเมื่อเวลาเปลี่ยน คนเปลี่ยน อุดมการณ์เปลี่ยน ถึงเวลาที่ต้องทำเพื่อความอยู่รอดปลอดภัยของตัวเอง แต่ทั้งหมดทั้งมวลย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่าจุดยืนของ “ตู่-เต้น” ที่เป็นเส้นขนาน กำลังส่งผลให้มวลชนคนเสื้อแดง นปช.ต้องแยกเป็น 2 สาย แต่สุดท้ายปลายทางอาจมีเป้าหมายเดียวกัน