ปรับโครงสร้างค่าไฟใหม่(ปี64-68) บิลค่าไฟจ่อโชว์รายจ่ายตามนโยบายรัฐ(PE)

ปรับโครงสร้างค่าไฟใหม่(ปี64-68) บิลค่าไฟจ่อโชว์รายจ่ายตามนโยบายรัฐ(PE)

ภาครัฐเตรียมปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่ ในช่วงปี 2564-2568 เตรียมเพิ่มประมาณการค่าใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐ (PE) เข้าไปคำนวณในต้นทุนค่าไฟฟ้า หวังสร้างความเป็นธรรมต่อผู้บริโภค

โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า ของประเทศไทย ภายใต้การกำกับดูแลของ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ปัจจุบัน ในบิลเรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้าในแต่ละเดือน จะประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ค่าไฟฟ้าฐาน, ค่าไฟฟ้า Ft (ค่าเอฟที) และภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ในอนาคตอันใกล้ ในบิลค่าไฟฟ้า จะปรากฏข้อมูล “ประมาณการค่าใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐ (Policy Expense : PE)” เข้าไปแสดงให้ผู้ใช้ไฟฟ้าได้เห็นถึงรายจ่ายฯที่สะท้อนต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าในอนาคตด้วย

เนื่องจาก การประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 1 เม.ย.2564 มีมติเห็นชอบนโยบายการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศไทยในระยะ 5 ปีข้างหน้า(ปี พ.ศ. 2564 – 2568) และกรอบแนวทางการจัดทำโครงสร้างอัตราค่าไฟ เพื่อให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ไปจัดทำรายละเอียดในการกำกับดูแลและกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงาน ให้เกิดความชัดเจน พร้อมนำกลับมาเสนอต่อที่ประชุม กพช. ภายในปี 2565

โดยมติดังกล่าว มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้การกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าสะท้อนต้นทุนในการให้บริการของกิจการไฟฟ้าอย่างเหมาะสมและเป็นธรรมต่อทั้งผู้รับใบอนุญาตและผู้ใช้ไฟฟ้าทุกกลุ่ม เพื่อให้โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงบริบทของอุตสาหกรรมไฟฟ้า ที่เกิดจากนโยบายและยุทธศาสตร์ของประเทศ

รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทาง เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต และเพื่อให้โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้ามีความเกื้อหนุนต่อการรักษาประสิทธิภาพ เสถียรภาพ และความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศโดยรวม

161729143342

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ระบุว่า การปรับปรุงอัตราค่าไฟฟ้า โดยให้สะท้อนรายได้ที่พึงได้รับ (Allowed revenue) ซึ่งคิดจากต้นทุนและผลตอบแทนที่เหมาะสมของแต่ละประเภทใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้าแยกออกจากกัน และคำนึงถึงต้นทุนในการรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงของระบบไฟฟ้า โดยเทียบเคียงกับหลักการในการให้บริการเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้า (Ancillary service) เพื่อให้รายรับที่เรียกเก็บจากผู้สร้างความผันผวนต่อระบบไฟฟ้ามีความสมดุลกับค่าใช้จ่ายในการเสริมสร้างความมั่นคงในระบบไฟฟ้า และกระจายภาระค่าใช้จ่ายดังกล่าวไปยังผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม โดยไม่ควรเป็นการเพิ่มภาระกับผู้ใช้ไฟฟ้าเมื่อเปรียบเทียบกับอัตราค่าไฟฟ้าภายใต้บริบทเดิม

และโครงสร้างอัตราขายปลีก ได้กำหนดให้มีการอุดหนุนอัตราค่าไฟฟ้าของกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยโดยเฉพาะบ้านอยู่อาศัยที่มีรายได้น้อย โดยให้มีการพิจารณาคุณสมบัติผู้ที่สมควรได้รับการช่วยเหลือบนพื้นฐานระบบบูรณการฐานข้อมูลสวัสดิการสังคม (e-Social Welfare) แทนปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว และควรกำหนดให้โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้ากลุ่มอื่นๆ ให้ใกล้เคียงกับต้นทุนหน่วยสุดท้าย (Marginal Cost)

ทั้งนี้ โครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่ หลักการสำคัญคือ จะเพิ่มเติม และแยก “ประมาณการค่าใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐ (Policy Expense : PE)” เข้าไปในสูตรค่าไฟฟ้าหลักในปัจจุบัน จากเดิมที่มีเพียงค่าไฟฟ้าฐาน และ ค่าไฟฟ้าผันแปร(Ft) เพื่อทำให้มีความชัดเจนว่า หากมีเงินอุดหนุนช่วยประชาชนตามนโยบายของภาครัฐแล้วค่าไฟฟ้าแต่ละส่วนจะเป็นอัตราเท่าใด รวมถึง ค่า PE จะสะท้อนต้นทุนเทคโนโลยีไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่จะรับซื้อเข้ามาในระบบเพิ่มขึ้นในอนาคตด้วย อีกทั้ง การประมูลนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวในรูปแบบตลาดจร หรือ Sport LNG ในช่วงที่ราคา LNG ตลาดโลกต่ำกว่า ราคาก๊าซเฉลี่ยรวมในประเทศ (Pool Gas) ก็จะเป็นส่วนของต้นทุนค่า PE ที่นำมาลดต้นทุนค่าไฟในอนาคตได้ด้วย

161729119811

นอกจากนี้ ที่ประชุม กพช.เมื่อวันที่ 1 เม.ย.2564 ยังเห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมการบูรณาการระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.), การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน มีกรรมการประกอบด้วย ปลัดกระทรวงพลังงาน ปลัดกระทรวงมหาดไทย เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(เลขา สศช.)ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)  ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขา กกพ. และผู้ว่าการทั้ง 3 การไฟฟ้า

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ระบุว่า การตั้งคณะกรรมการฯดังกล่าว เป็นไปตามแนวทางของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน ที่ให้ดำเนินการจัดทำแผนบูรณาการระหว่าง 3 การไฟฟ้า เนื่องจากปัจจุบันยังอยู่ภายใต้แยกสังกัดกระทรวงกัน จึงควรมีคณะกรรมการฯขึ้นมาร่วมบูรณาการแผนการลงทุนของทั้ง 3 การไฟฟ้า ไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนกัน ทั้งเรื่องของการลงทุนระบบส่งและสายส่งไฟฟ้าทั่วประเทศ เรื่องของข้อมูลดาต้าเซ็นเตอร์ต่างๆ ที่ปัจจุบัน ทั้ง 3 การไฟฟ้าต่างมีฐานข้อมูลของตนเอง ซึ่งจะทำอย่างไรให้อยู่ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน เพราะในอนาคตข้อมูลเหล่านี้ จะต้องถูกนำมาบรรจุในศูนย์ข้อมูลพลังงานแห่งชาติ ของ สนพ. จึงต้องมีมาตรฐานเดียวกันที่ชัดเจน

“ปัจจุบัน โครงการสร้างไฟฟ้ายังเป็น one way แต่ในอนาคตจะเป็น two-way คือ ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถส่งขายไฟฟ้ากลับเข้าสู่ระบบได้ ดังนั้นจะต้องปรับโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับ third party access ในอนาคต”

นอกจากนี้ ยังจะมีข้อกำหนดว่า หากโครงการลงทุนใดมีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท จะต้องนำบรรจุไว้ภายใต้แผนบูรณาการลงทุน เพื่อให้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการต่างๆเช่น กระทรวงพลังงาน สศช. ตามขั้นตอน และต้องเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) จึงจะได้รับอนุมัติการลงทุน