กรมเจ้าท่า เปิดใช้ 'ท่าเรือภาณุรังษี' เชื่อม 'ตลาดน้อย-ล้ง1919'

กรมเจ้าท่า เปิดใช้ 'ท่าเรือภาณุรังษี' เชื่อม 'ตลาดน้อย-ล้ง1919'

กรมเจ้าท่า เปิดใช้งาน “ท่าเรือภาณุรังษี” เชื่อม "ตลาดน้อย-ล้ง1919" มั่นใจช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวรอบเกาะรัตนโกสินทร์

เมื่อวันที่ 1 เม.ย.64  นายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า เป็นประธานในพิธีเปิด "ท่าเรือภาณุรังษี" ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ชุมชนตลาดน้อย โดยระบุว่า "ท่าเรือภาณุรังษี" มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ สะท้อนการตั้งถิ่นฐานของยุคเริ่มต้นกรุงรัตนโกสินทร์ กรมเจ้าท่าได้เห็นความสำคัญ จึงพัฒนารูปลักษณ์ท่าเรือภาณุรังษีขึ้นใหม่ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวรอบเกาะรัตนโกสินทร์

เนื่องจากท่าน้ำภาณุรังษี อยู่ติดกับสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญเชิงประวัติศาสตร์มากมาย อาทิ พิพิธภัณฑ์ชุมชนท่าน้ำภาณุรังษี หรือ สวนศิลป์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งเป็นย่านบ้านเกิดของอาจารย์ป๋วย อาคารพิพิธภัณฑ์ดังกล่าว เป็นสถานที่จัดแสดงนิทรรศการริมแม่น้ำเจ้าพระยา และเป็นพื้นที่สีเขียวที่ตั้งอยู่ย่านใจเมืองริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีทัศนียภาพที่สวยงาม มีความร่มรื่นของต้นไม้ใหญ่ เป็นจุดเชื่อมต่อของชุมชนตลาดน้อย ปัจจุบัน ชุมชนตลาดน้อยเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของคนรุ่นใหม่ที่นิยมมาถ่ายรูป เรียนรู้ ศึกษาประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตของชุมชนที่เต็มไปด้วยเรื่องเล่าวัฒนธรรมจีนดั้งเดิม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

ทั้งนี้ กรมเจ้าท่า ได้พัฒนาปรับรูปลักษณ์ท่าเรือภาณุรังษีขึ้นใหม่ ซึ่งท่าเรือ จะต้องเป็นมากกว่าท่าเรือ เพื่อรองรับการท่องเที่ยวทางน้ำที่เพิ่มมากขึ้น ท่าน้ำภาณุรังษี ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตรงข้ามกับท่าเรือหวั่งหลี (ล้ง1919) และเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางน้ำอีกด้วย กรมเจ้าท่าปรับรูปลักษณ์ของท่าน้ำโดยเสริมโป๊ะท่าเรือจำนวน 1 โป๊ะ ซึ่งมีขนาดความกว้าง 6 x 12 เมตร โป๊ะรองรับจำนวนคนได้ 60 คน ซึ่งการพัฒนาท่าเรือได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากภายนอกร่วมกัน ปัจจุบัน ชุมชนตลาดน้อยได้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาถ่ายรูป ศึกษาประวัติศาสตร์ วิถีชุมชน และศิลปะแบบสตรีทอาร์ตเป็นจำนวนมาก

ซึ่งผู้คนและนักท่องเที่ยวสามารถเดินชมสภาพภายในชุมชนริมน้ำที่ยังคงสภาพ และบรรยากาศดั้งเดิม และเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และชุมชนตลอดลำน้ำเจ้าพระยา โดยกรมเจ้าท่ามีเรือข้ามฟากพร้อมให้บริการ ทุกวันเสาร์ – อาทิตย์

การพัฒนาท่าเรือภาณุรังษีขึ้นใหม่ นับเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางน้ำที่เพิ่มขึ้น รวมถึงประชาชนและนักท่องเที่ยวจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ นับเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวทั้งภายนอกและภายในชุมชนได้อย่างยั่งยืน