'ศอ.บต.' ชูแนวคิด 'ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ชายแดน' ยกระดับพัฒนาพื้นที่

'ศอ.บต.' ชูแนวคิด 'ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ชายแดน' ยกระดับพัฒนาพื้นที่

พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้ง 4 อำเภอของ จ.สงขลา ถือว่าเป็นพื้นที่ความมั่นคงที่ภาครัฐใช้กฎหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินครอบคลุมเกือบทุกพื้นที่ แต่นอกจากใช้กฎหมายและในการดูแลความสงบเรียบร้อยของพื้นที่ก็ยังมีแนวคิดในการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ด้วย

หน่วยงานหนึ่งที่มีบทบาทในการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจในพื้นที่ดังกล่าวได้แก่ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ที่ปัจจุบันเป็นหน่วยงานประสานงาน บูรณาการการทำงานกับหน่วยงานต่างๆกับชุมชนในพื้นที่เพื่อให้เกิดโครงการต่างๆได้ทั้งโครงการขนาดเล็กหรือโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งบางครั้งนำไปสู่ความเข้าใจผิดว่า ศอ.บต.เป็นเจ้าของโครงการหรือเป็นหน่วยงานที่นำเสนอโครงการ นิคมอุตสาหกรรมจะนะจ.สงขลาซึ่งเป็นประเด็นความขัดแย้งเนื่องจากมีชาวบ้านและชุมชนไม่เห็นด้วยกับโครงการจนนายกรัฐมนตรีได้สั่งให้ตั้งกรรมการไปดูข้อเท็จจริงในโครงการดังกล่าว 

“กรุงเทพธุรกิจ” สัมภาษณ์ นายบดินทร์ รัศมีเทศ รองเลขาธิการ ศอ.บต.ถึงโครงการฯจะนะรวมถึงทิศทางการพัฒนาพื้นที่จังหวัดภาคใต้ชายแดนในอนาคต ว่าในแนวคิดของการพัฒนาพื้นที่ในโครงการสามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ในเรื่องของการพัฒนาเศรษฐกิจถือว่าเป็นเรื่องสำคัญหน้าที่ของภาครัฐคือต้องสร้างโอกาสในพื้นที่ซึ่งสิ่งสำคัญในพื้นที่คือเรื่องของการสร้างงานเพื่อให้เด็กและเยาวชนที่เติบโตขึ้นมาสามารถมีงานทำ มีอาชีพที่มั่นคงซึ่งจะส่งผลให้คนในท้องถิ่นไม่ละทิ้งถิ่นฐานกลับมาเป็นกำลังในการพัฒนาท้องถิ่นและชุมชน 

นายบดินทร์กล่าวว่าหากมองในภาพใหญ่ของการพัฒนาประเทศโครงการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจของรัฐบาลแบ่งพื้นที่ต่างๆออกเป็นโซนๆเช่นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ส่วนในภาคใต้มีการพูดถึงเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ (เอสอีซี) แต่เอสอีซีนั้นเป็นส่วนของภาคใต้ตอนบน 4 จังหวัดในการพัฒนาพื้นที่ชายแดนภาคใต้จึงเป็นการกำหนดพื้นที่ที่เป็นระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ชายแดน (southern border economics corridors) หรือ "SBEC" ซึ่งในพื้นที่นี้จะเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่ครอบคลุม 4 อำเภอ ได้แก่ อ.เบตง อ.สุไหงโกลก อ.หนองจิก และอ.จะนะ 

ในส่วนของโครงการฯจะนะนายบดินทร์ระบุว่าโครงการดังกล่าวภาคเอกชนมีความสนใจในการเข้ามาลงทุนในที่ดินที่มีอยู่ในอ.จะนะ ซึ่งก็เข้ามายื่นโครงการผ่านรัฐบาลแต่ขั้นตอนกว่าจะสร้างพัฒนาพื้นที่ได้เป็นเขตอุตสาหกรรมได้ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะดำเนินการได้ทันทีต้องผ่านขั้นตอนหลายอย่างตั้งแต่การขออนุญาตจากกรมโยธาธิการและผังมือง ในการปรับเปลี่ยนพื้นที่ให้เป็นสีม่วงที่สามารถทำกิจการประเภทอุตสาหกรรมได้ซึ่งเมื่อขั้นตอนส่วนนี้ยังไม่เกิดขึ้นการจะทำนิคมอุตสาหกรรมก็ยังไม่สามารถที่จะดำเนินการได้ และในขั้นตอนของการขอปรับเปลี่ยนสีผังเมืองก็ต้องมีการทำประชาพิจารณ์และรับฟังความเห็นจากภาคประชาชนและคนในพื้นที่อย่างรอบด้าน 

อย่างไรก็ตามในส่วนของโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมในจะนะมีกรอบแนวคิดที่ชัดเจนว่าจะไม่มีอุตสาหกรรมหนัก เช่น ปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมเหล็ก แต่เป็นพื้นที่ที่เป็นเมืองแห่งอนาคตเป็นเมืองน่าอยู่ ทันสมัย เป็นศูนย์กลางในการพัฒนาอิเล็กทรอนิกส์ทันสมัย ซึ่ง ศอ.บต.ได้ประสานงานกับบริษัทเอกชนรวมถึงสถาบันศึกษาในการเตรียมความพร้อมในเรื่องบุคลากรซึ่งจะช่วยยกระดับฝีมือแรงงานและทักษะของคนในพื้นที่ให้สอดคล้องกับอุตสาหกรรมในพื้นที่

“แนวคิดของ SBEC นั้นมีทั้งความเหมือนและความต่างกับ EEC เนื่องจากใน EEC นั้นมีการพัฒนาอุตสาหกรรมที่หลากหลาย แต่ในพื้นที่ SBEC จะเป็นพื้นที่เซฟโซน 100% ซึ่งจะเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมทันสมัย เมืองน่าอยู่ ส่วนหัวใจสำคัญนั้นอยู่ที่อ.จะนะเนื่องจากจะมีท่าเรือขนาดใหญ่ซึ่งถือว่าจะเป็นท่าเรือฝั่งอ่าวไทยที่มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆในอนาคต โดยโครงการทั้งหมดต้องมีการรับฟังความคิดเห็นและความต้องการจากคนในพื้นที่อย่างเป็นขั้นตอนเพื่อให้โครงการตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนมากที่สุด” นายบดินทร์กล่าว 

  

161727844234 สำหรับการเปิดสนามบินเบตง จ.ยะลา จะช่วยในเรื่องของภาคท่องเที่ยวในจ.ยะลาและพื้นที่เนื่องจากการเดินทางเข้ามาทำได้ง่ายขึ้น โดยขณะนี้สนามบินสร้างเสร็จแล้ว แต่รอสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลงเพื่อให้สายการบินต่างๆวางแผนเที่ยวบินซึ่งคาดว่าหากมีการประเมิณแล้วมีนักท่องเที่ยวใช้บริการประมาณ 75% ของเที่ยวบินก็จะสามารถเปิดให้บริการได้ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งขณะนี้มีหลายสายการบินที่ได้แจ้งว่าจะเข้ามาเปิดเส้นทางการบินทั้งจากกรุงเทพมาเบตง ภูเก็ต และหาดใหญ่ ก็สามารถเชื่อมโยงในการให้บริการการบินร่วมกันได้

นอกจากนี้ในการสร้างความเข้มแข็งให้กับสินค้าชุมชนนายบดินทร์บอกว่ากำลังริเริ่มกับคนในพื้นที่ในการทำตราสินค้า (แบรนด์) ที่มีความเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นภายใต้ชื่อแบรนด์สินค้า “ปัตยะนา” (Patyana) ซึ่งจะมีการนำเอาสินค้าท้องถิ่นมาจำหน่ายโดยเล่าเรื่องเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่นรวมทั้งมีการใช้ความรู้เรื่องผังเมืองในท้องที่มาผสมผสานเพื่อสร้างจุดขายที่ไม่เหมือนสินค้าในพื้นที่อื่นๆซึ่งภายใต้สินค้านี้จะผลิตสินค้าที่มีคุณภาพจากท้องถิ่นไปจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ