กมธ.สภาจ่อเรียก'ปธ.ศาลฎีกา' แจง ปมอ้างบุคคลภายนอก ไม่อนุญาติประกันแกนนำม็อบ

กมธ.สภาจ่อเรียก'ปธ.ศาลฎีกา' แจง ปมอ้างบุคคลภายนอก ไม่อนุญาติประกันแกนนำม็อบ

กมธ.สภาฯจ่อเรียก'ประธานศาลฎีกา' แจง ปมอ้างบุคคลภายนอก ไม่อนุญาติประกันแกนนำม็อบ

นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เเถลงข่าวต่อสื่อมวลชนถึงประเด็นสืบเนื่องจากที่มีการพูดคุยกันอย่างเเพร่หลายในสังคม กรณีนางเมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกาถูกตั้งคำถามจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่า เพราะเหตุใดจึงยังมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวแกนนำกลุ่มราษฎร เพราะเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากผู้ถูกกล่าวหาไม่มีพฤติการณ์หลบหนี ไม่มีพฤติการณ์จะยุ่งเหยิงต่อพยานหลักฐาน จะไม่ให้ปล่อยตัวได้อย่างไร

โดย ประธานศาลฎีกาตอบว่า "มีบุคคลภายนอกสั่งมาอีกที" ขณะที่การออกมาแถลงชี้แจงแทนโดยโฆษกศาลยุติธรรมก็ไม่มีเหตุผลรองรับมากเพียงพอ จนเกิดเป็นคำถามว่าศาลทำหน้าที่เป็นอิสระหรือไม่ และข้อกล่าวหาที่ได้รับก็ไม่รู้ว่ามีมูลความจริงเพียงใด

นายรังสิมันต์ กล่าวต่อไปว่า ประเด็นที่เกิดขึ้น มีเพียงการชี้เเจงอธิบายอย่างสั้นเเละไม่มีรายละเอียดพอ โดยเราในฐานะสภาผู้เเทนราษฎรที่จะใช้กระบวนการทางนิติบัญญัติ ตรวจสอบ เพื่อใช้เป็นพื้นที่สร้างความเข้าใจกับสังคมได้ และเป็นโอกาสอันดีหากศาลชี้แจงได้ และยืนยันว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ใหญ่เพราะเป็นเรื่องความเป็นอิสระของศาล

“นี่คือโอกาสที่ศาลยุติธรรมจะได้ชี้เเจงต่อกรรมาธิการเเละสังคม จึงได้เสนอให้ กมธ.ฯ เชิญนางเมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกา หรือผู้เเทนมาชี้เเจงข้อเท็จจริง หากศาลสามารถชี้เเจงโดยสิ้นข้อสงสัยก็จะเป็นเรื่องที่ดี อย่างไรก็ตาม ทางกมธ.กฎหมาย ฯ ยังไม่มีมติว่าจะรับหรือไม่ โดยจะหารือในวันพรุ่งนี้ ( 1 เม.ย. 64 ) อีกครั้ง ซึ่ง กมธ.กฎหมาย ฯ จะต้องทำหน้าที่พิจารณา ตรวจสอบ เพื่อแก้ไขข้อสงสัยให้กับประชาชนให้กระจ่าง เเละเป็นประโยชน์ต่อบทบาทเเละภาพลักษณ์ของสถาบันตุลาการอย่างเต็มที่”

นายรังสิมันต์ กล่าวต่อไปว่า ความเป็นอิสระของศาลถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะหากประชาชนไม่เชื่อถือ ความยุติธรรมก็คงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ และไม่ใช่ว่าสภาใหญ่กว่าศาล หรือศาลใหญ่กว่า แต่คณะกรรมาธิการสามารถเรียกมาชี้แจงได้ซึ่งเป็นตามอำนาจทางรัฐธรรมนูญ เพียงเเต่ไม่สามารถบังคับมาได้

นอกจากนี้ รังสิมันต์ ยังได้กล่าวถึงผลหลังจากที่คณะกรรมาธิการการกฎหมายฯ ได้ลงพื้นที่เยี่ยมผู้ต้องหาที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ซึ่งตนได้พูดคุยผ่านวีดีโอคอนเฟอเรนซ์กับ นายจุตภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน ผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมในคดีมาตรา 112 ถึงความเป็นอยู่เเละสภาพชีวิตในเรือนจำ ไผ่ระบุว่าได้รับการปฏิบัติอย่างดีจากเจ้าหน้าที่ตามมาตรฐานของเรือนจำเหมือนกับผู้ถูกคุมขังอื่นๆ ขณะเดียวกันยังได้พูดคุยกับรองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ซึ่งสอบถามถึงวิธีการคุมตัวผู้ต้องขังไปขึ้นศาลว่าเหตุใดเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์จึงต้องยืนอยู่ในระยะประชิด พร้อมกับเสนอขอให้อยู่ในระยะสายตาได้หรือไม่ เนื่องจากบางครั้งเจ้าหน้าที่ก็ไม่จำเป็นต้องได้ยินการสนทนาที่เป็นเรื่องส่วนตัว โดยทางรองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ก็รับปากว่าจะนำเรื่องนี้ไปหารือ

สำหรับกรณีของนายพริษฐ์ ชีวารักษ์ หรือ เพนกวิ้น ทางกรมราชทัณฑ์เองก็มีความกังวลถึงสภาพร่างกายของนายพริษฐ์ที่อ่อนแอจากการอดอาหาร ส่วนตัวจึงมองว่าทางกรมราชทัณฑ์ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องคุมขัง และขอให้ผู้ต้องหาได้รับสิทธิ์การประกันตัวออกมา เพราะการประกันตัวก็ไม่ได้หมายความว่าข้อกล่าวหาต่างๆจะหมดไป ส่วนใหญ่ที่เห็นผู้ได้รับการประกันตัวไม่มีพฤติการณ์จะหลบหนีหรือขอลี้ภัย และจากประสบการณ์ส่วนตัวเคยเห็นผู้ต้องขังที่อยู่ในลักษณะเดียวกัน สุดท้ายก็ยอมรับสารภาพแต่ไม่ใช่เพราะยอมรับว่ากระทำผิด เพียงแต่กระบวนการทำให้ต้องยอมจำนนซึ่งแบบนี้จะเรียกว่าเป็นการแก้ไขปัญหาหรือไม่

“ ที่ผ่านมายังไม่มีกลุ่มคนที่เรียกร้องเเละต่อสู้ทางประชาธิปไตยหลบหนีคดี กระบวนการที่ต้องให้เขาสารภาพโดยความจำนน เราเรียกว่าความยุติธรรมหรือเปล่า ผมคิดว่าเราควรให้เขาได้สิทธิเเละเสรีภาพ เเละสู้คดีอย่างเต็มที่ “ รังสิมันต์ กล่าวทิ้งท้าย