ครม.ถกขึ้นภาษี VAT ห่วงฐานะการคลังประเทศ

ครม.ถกขึ้นภาษี VAT ห่วงฐานะการคลังประเทศ

ครม.หารือฐานะการคลัง ถกขึ้นแวต แนะอย่าเอาไปจุดประเด็นการเมือง สั่ง “คลัง” ศึกษารายละเอียด นายกฯ ห่วงภาวะเสี่ยงทางการคลัง หลังโควิดฉุดการจัดเก็บรายได้รัฐบาล เข้มเบิกจ่ายงบเท่าที่จำเป็น เร่งปฏิรูปโครงสร้างภาษี

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 30 มี.ค.2564 ได้หารือวิธีการจะสร้างรายได้จากโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล และโครงสร้างพื้นฐานทางสาธารณูปโภค พร้อมกันนี้ได้พิจารณาถึงเรื่องความเสี่ยงของสถานะการเงิน ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงมีการระบาดของโควิด-19 และช่วงที่ผ่านมาที่เกิดสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ 

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การทำจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ได้ขอให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ให้ความสำคัญ 13 เรื่องที่สำคัญ โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจมูลค่าสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยวิถีชีวิตยั่งยืน การกระจายโอกาสที่กระจุกตัวให้เข้าสู่กลุ่มคนทุกพื้นที่ ปัจจัยสนับสนุนการพลิกโฉมประเทศการสร้างทรัพยากรมนุษย์พัฒนากำลังคนให้มีสมรรถนะสูง เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ

แหล่งจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวว่า ในที่ประชุม ครม.ได้มีการหารือกันอย่างกว้างขวางถึงการจัดเก็บรายได้ของประเทศเป็นพิเศษ โดยกระทรวงการคลังรายงานภาพรวมเศรษฐกิจที่เก็บไม่ได้ตามเป้าเมื่อเทียบกับต่างประเทศ และงบประมาณที่มีอยู่ก็จำเป็นต้องใช้แก้ปัญหาสถานการโควิด-19 ซึ่งปัจจุบันนี้จัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) อยู่ 7% เท่านั้น

โดยนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้ความเห็นใน ครม.ว่า การขึ้นภาษีขอให้พิจารณาอย่างตรงไปตรงมา อย่านำไปเป็นประเด็นการเมืองเพราะใครมาก็กลัวประชาชนคัดค้าน และในต่างประเทศเขาเลือกจะขึ้นภาษีในช่วงโควิด เพื่อนำรายได้ไปเพิ่มสวัสดิการให้ประชาชน ซึ่งนายกรัฐมนตรีกล่าวสนับสนุนว่าเห็นด้วยกับแนวคิดของนายจุติ

ขณะที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้ความเห็นใน ครม.ว่า ประเทศไทยไม่มีการขึ้นภาษีมานานแล้ว ดังนั้นควรไปศึกษาให้รอบคอบก่อน ด้านนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้สอบถามว่า ต่างประเทศที่พูดถึงเป็นประเทศเพื่อนบ้านเราหรือประเทศไหน โดยที่ประชุมไม่มีข้อสรุปและให้กระทรวงการคลังไปศึกษารายละเอียดในเรื่องนี้แล้วให้เสนอกลับเข้าสู่ที่ประชุม ครม.อีกครั้งว่าจะทำในแนวทางใด

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า กระทรวงการคลัง ได้รายงาน ครม.ให้รับทราบรายงานความเสี่ยงทางการคลังประจำปีงบประมาณ 2563 โดยระบุว่า ความไม่แน่นอนของการจัดเก็บรายได้ท่ามกลางสถานการณ์ได้โควิด-19 ได้สร้างความตึงตัวด้านสภาพคล่องทางการคลัง 

โดยสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ณ สิ้นปีงบประมาณ 2563 อยู่ที่ 49.34% เพิ่มขึ้นจากปีก่อน จากความจำเป็นในการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ และการกู้เงินตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 

อีกทั้ง ประมาณการสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ปีงบประมาณ 2565-2568 จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยสิ้นปีงบประมาณ 2568 คาดว่าจะอยู่ที่ 58.72 % แต่ยังคงไม่เกิน 60% ด้านประมาณการสัดส่วนภาระดอกเบี้ยต่อรายได้มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นทั้งจากเม็ดเงินของดอกเบี้ย ที่เพิ่มขึ้นตามระดับหนี้ และจากความสามารถในการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลที่ลดลง

ทั้งนี้ การจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้นกรุงเทพธุรกิจรายงานว่ายังคงมีแรงกดดันจากผลประกอบการในปี 2563 ที่จะใช้เป็นฐานในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลในปีงบประมาณ 2564 ส่วนการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับต่างประเทศ และการจัดเก็บภาษีจากฐานรายได้อยู่ในระดับต่ำ 

โดยสัดส่วนภาษีจากฐานรายได้ต่อจีดีพีลดลงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้สัดส่วนภาษีจากฐานรายได้ต่อภาษีจากฐานบริโภคของประเทศไทยยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับต่างประเทศ สะท้อนถึงกลไกการกระจายรายได้และการสร้างเสถียรภาพในตัวเองของระบบภาษีของประเทศไทยที่อาจไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

ดังนั้น กระทรวงการคลังจึงมีข้อเสนอแนะ คือ

1.ระยะสั้นถึงปานกลาง รัฐบาลจะต้องพิจารณาแนวทางเสริมสภาพคล่องเพื่อรองรับความไม่แน่นอนจากการจัดเก็บรายได้ และควรชะลอการเบิกจ่ายงบประมาณโดยให้หน่วยงานเบิกจ่ายเท่าที่จำเป็นต้องใช้จ่ายจริง

และพิจารณาอนุมัติการใช้งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น และรายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เท่าที่จำเป็น รัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญสูงสุดกับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายเพื่อชำระดอกเบี้ยอย่างพอเพียง เพื่อป้องกันการผิดชำระหนี้ของรัฐบาล

2.ระยะปานกลางถึงระยะยาว รัฐบาลควรพิจารณาดำเนินการปฏิรูปโครงสร้างภาษี และเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษี และควรพิจารณาปฏิรูประบบสวัสดิการสำหรับประชาชน บูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงาน เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการจัดทำสวัสดิการ รวมทั้งรัฐบาลควรพิจารณาขับเคลื่อนโครงการลงทุนภาครัฐที่ไม่เป็นภาระงบประมาณ เพื่อให้โครงการลงทุนภาครัฐยังสามารถเป็นเครื่องกลสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง