“เกษตร”ปรับซอฟท์โลนยาง สกัดรายใหญ่ขอกู้หมื่นล้าน

 “เกษตร”ปรับซอฟท์โลนยาง สกัดรายใหญ่ขอกู้หมื่นล้าน

“เกษตร”ตั้งเงื่อนไขโครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง ได้ไม่เกิน 40% ของกรอบ 2.5 หมื่นล้านบาท หวั่นเกิดการผูกขาด หลังผู้ประกอบการรายใหญ่ เสนอรับการสนับสนุนสูงถึง1.2 หมื่นล้านบาท

นายประยูร อินสกุล รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง ว่าที่ประชุมได้พิจารณาหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการพิจารณาวงสินเชื่อตามโครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง วงเงินสินเชื่อ 25,000 ล้านบาท

  161709758897

โดยได้ดำเนินการจัดทำร่างหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการพิจารณาวงเงินสินเชื่อตามโครงการเพื่อเป็นกรอบการพิจารณาให้สามารถช่วยเหลือและสนับสนุนผู้ประกอบการให้ได้รับประโยชน์ในการดำเนินโครงการอย่างทั่วถึง จึงเสนอให้ฝ่ายกฎหมายพิจารณาเรียบร้อยแล้วกำหนดร่างข้อหลักเกณฑ์และเงื่อนไขใหม่ว่าการยางแห่งประเทศไทย( กยท.)

ได้พิจารณากำหนดวงเงินสินเชื่อตามโครงการของผู้เข้าร่วมโครงการแต่ละรายได้ไม่เกิน 40% ของวงเงินสินเชื่อตามโครงการ ภายใต้วงเงินสินเชื่อคงเหลือ เพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาด เป็นการกระจายให้เอกชนแต่ละรายสามารถสมัครเข้าโครงการได้ และทำให้เกษตรกรได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ด้วย

ทั้งนี้ โครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง วงเงินสินเชื่อ 25,000 ล้านบาท มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการขยายกำลังการผลิต ปรับเปลี่ยนเครื่องจักรการผลิต ภายใต้โครงการแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบ โดยผู้ประกอบการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางขั้นปลายน้ำที่เข้าร่วมโครงการฯ จะได้รับชดเชยดอกเบี้ยตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 3% ตลอดอายุโครงการ 10 ปี (พ.ศ. 2559 – 2569) ไม่เกินปี พ.ศ. 2569 ซึ่งเป็นสินเชื่อทั้งจากธนาคารพาณิชย์หรือธนาคารรัฐ (สถาบันการเงินเฉพาะกิจ) ได้ทุกธนาคาร

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการ กยท. กล่าวว่า โครงการดังกล่าวมีเอกชนให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการประมาณ 15 บริษัท ซึ่งส่วนใหญ่ได้ขอรับการสนับสนุนไม่เกิน 40 % ของกรอบที่กำหนดไว้ ยกเว้น 1 ราย ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ ขอรับการสนับสนุนรวมแล้วสูงถึง 1.2 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 70 % ของกรอบวงเงินที่กำหนดไว้ ในขณะที่โครงการนี้รัฐบาลช่วยเหลือดอกเบี้ยถึง 3 %ดังนั้นการอนุมัติให้บริษัทรายดังกล่าวได้รับการสนับสนุนตามวงเงินที่ขอ จะส่งผลให้เกิดการผูกขาด

 

ดังนั้นกยท.จึงเสนอให้ คณะกรรมการบริหารโครงการฯพิจารณา และกำหนดให้สนับสนุนผู้ประกอบการได้ไม่เกิน 40 % ของกรอบเงินที่กำหนดไว้เท่านั้นซึ่งปัจจุบันวงเงินในโครงการดังกล่าวเหลืออยู่เพียง 6,000 ล้านบาท โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาภาคเอกชนที่ขอรับการสนับสนุน 4 บริษัท ซึ่งขอรับการสนับสนุนสูงกว่าวงเงินที่มีอยู่

161709765964

            นายณกรณ์ กล่าวถึงตลาดกลางยางพาราจังหวัดสุราษฎร์ธานีที่ได้ร่วมมือทางธุรกิจกับบริษัท ท่าฉางรับเบอร์ จำกัด เพื่อพัฒนาการบริหารจัดการน้ำยางสด ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มด้านราคา ลดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางโดยสำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีหน้าที่รวบรวม น้ำยางสดที่มีคุณภาพดีจากสมาชิกของตลาดกลางฯ และขายน้ำยางให้แก่บริษัท ท่าฉางรับเบอร์ จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานผู้รับซื้อน้ำยางสดที่มีคุณภาพ

            ทั้งนี้ คาดว่าจะมีบริษัทอื่น ๆ เข้าร่วมโครงการฯ อีกจำนวนมาก ที่สำคัญ คือ ความสม่ำเสมอของผลผลิตทั้งคุณภาพและปริมาณ สามารถทำให้เกิดความเชื่อมั่นกับผู้รับซื้อยางได้

นายพงศ์นเรศ วนสุวรรณกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท ท่าฉางรับเบอร์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทจะให้ความร่วมมือในการส่งเสริมและให้การสนับสนุนการรับซื้อน้ำยางสดจาก กยท. ซึ่งความร่วมมือนี้จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย คือทั้งผู้ผลิต ได้แก่ เกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ซื้อ ได้แก่ โรงงานบริษัท ท่าฉางรับเบอร์ จำกัด ที่รับซื้อน้ำยางสดจากเกษตรกรชาวสวนยาง