วางเป้าหมายรถยนต์ไฟฟ้า: จุดเริ่ม ไม่ใช่ความสำเร็จ

วางเป้าหมายรถยนต์ไฟฟ้า:  จุดเริ่ม ไม่ใช่ความสำเร็จ

แม้ว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมารถไฟฟ้าแบบที่เป็นแบบแบตเตอรี่จริง ๆ หรือ BEV นั้นได้รับความนิยมมากขึ้นก็จริง โดยจำนวนจดทะเบียนใหม่ในปี 2559 มีเพียง 101 คัน และเพิ่มมาเป็น 2,999 คันในปี 2563 แต่ถ้ามองดูในรายละเอียดจะพบว่ากว่า50% เป็นรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า

แม้ว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมารถไฟฟ้าแบบที่เป็นแบบแบตเตอรี่จริง ๆ หรือ BEV นั้นได้รับความนิยมมากขึ้นก็จริง โดยจำนวนจดทะเบียนใหม่ในปี 2559 มีเพียง 101 คัน และเพิ่มมาเป็น 2,999 คันในปี 2563 แต่ถ้ามองดูในรายละเอียดจะพบว่ากว่า50% เป็นรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า มีประเภทรถนั่งเพียง 40% หรือ 1,288 คัน เท่านั้น ก็ยังถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนจดทะเบียนรถใหม่ประเภทไฮบริด (HEV) และปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) ซึ่งปัจจุบันในปี 2563 จำนวนรถสองประเภทหลังนี้มียอดจดทะเบียนกว่า 32,264 คัน จากยอดจดทะเบียนใหม่เมื่อ 5 ปีที่แล้วที่มีเพียง 9,577 คัน โดยกว่า 90% เป็นรถยนต์นั่ง

ที่ผ่านมาก็ต้องถือว่าผู้บริโภคเริ่มรับรู้การเปลี่ยนแปลงของเทรนด์ทางด้านเทคโนโลยี ราคาเริ่มลดลงมาอยู่ในระดับสมเหตุสมผล ความจุของแบตเตอรี่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้รถไฟฟ้าแบบ BEV น่าสนใจมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคส่วนมากยังกล้า ๆ กลัว ๆ หลายคำถามยังอยู่ในหัว ทั้งเรื่องการซ่อมบำรุง หรือสถานีชาร์จไฟ ฯลฯ ทำให้ตลาดเพิ่มไปในส่วนไฮบริดและปลั๊กอินกันเป็นส่วนมาก ซึ่งก็ตรงกับความต้องการของบริษัทในประเทศไทยที่ไม่แน่ใจที่จะกระโดดเข้าสู่รถยนต์ไฟฟ้าแบบ BEV เต็มตัว เพราะไม่ต้องการไปกระทบกับตลาดรถยนต์ประเภทเดิมของตนเอง หรือยังไม่อยากลงทุนใหม่เพราะเทคโนโลยีแบบ PHEV/HEV เพิ่งลงทุนไป และตลาดรถแบบสันดาปภายใน (Internal Combustion Engines) ก็ยังคงขายดีอยู่ ทำให้ทุกค่ายคงขยับตัวเองไปแค่เพียงเทคโนโลยีไฮบริดมากกว่าที่ไปถึง BEV และก็ดูเหมือนว่าตลาดก็ให้การตอบรับดี ทำให้โอกาสที่ประเทศไทยจะเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบ BEV ยังคงต้องรออีกนาน

ในงานมอเตอร์โชว์ปีนี้ ผมสังเกตเห็นว่าค่ายรถยนต์สำคัญนำรถไฟฟ้า BEV มาโชว์แน่นเวที ซึ่งผมได้มีโอกาสคุยกับทางผู้เล่นรายใหม่ในตลาดรถยนต์เมืองไทย คือ Great Wall Motor (GWM) ในงานมอเตอร์โชว์ล่าสุดที่ขนเอานวัตกรรมยานยนต์ใหม่ ๆ อวด และไม่เน้นขายรถเหมือนบูธอื่น ๆ เล่าให้ฟังว่ามีการวางแผนผลิตรถยนต์ BEV ในไทยแน่นอนอีกสองปีข้างหน้า คือ ปี 2566 แต่ช่วงนี้จะนำเข้ารถ BEV เข้ามาลองตลาดก่อน และจะวางตลาดไฮบริดรุ่นแรกที่ผลิตในประเทศไทยในไตรมาสสองของปีนี้แน่ ซึ่งผมว่าการมาของค่ายรถยนต์จีนรายนี้ได้ส่งสัญญานให้รถยนต์ค่ายอื่น ๆ ที่เป็นเจ้าตลาดในไทยต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดและต้องรีบลงมาจับรถไฟฟ้ามากขึ้น แม้จะเป็น PHEV หรือ HEV ก็ตาม และอาจต้องเริ่ม BEV เร็วกว่าเดิม

คณะกรรมการรถยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติได้กำหนดเป้าหมายในการยกเลิกรถยนต์ประเภทเครื่องยนต์สันดาปภายใน ในอีก 15 ปีข้างหน้าในปี 2578 ซึ่งมาตรการนี้ถือว่ากล้าหาญและชี้ทิศทางการพัฒนาที่ชัด แต่ถ้าจะให้เป้าหมายนั้นมีความหมายและเป็นไปได้จริง ๆ รัฐบาลจะต้องมีมาตรการอื่น ๆ เช่น มาตรการภาษีหรือข้อห้าม เพื่อให้การผลิตยานยนต์เครื่องยนต์สันดาปชะลอลง และผู้บริโภคลดการใช้หรือซื้อรถยนต์ประเภทนี้

หากเราไม่มีมาตรการเหล่านี้เตรียมไว้ในแต่ระยะเวลาแล้ว รับรองได้ว่าพอถึงเวลาที่กำหนดไว้ ก็มีการวิ่งเต้นจากผู้ผลิตให้เลื่อนเวลายกเลิกออกไป รวมทั้งโจทย์ทางการเมืองที่ว่ารังแกคนจนที่ขับรถแบบสันดาป หรือมีนอกมีในกับบริษัทรถยนต์เพื่อให้ขายรถใหม่ได้มากขึ้น แล้วก็จบลงโดยการเลื่อนเวลา Deadline ออกไป ตามด้วยเหตุผลเดิม ๆ คือเพื่อศึกษาผลกระทบให้ครบด้าน แล้วก็ปล่อยให้ไปเป็นเรื่องของรัฐบาลชุดต่อไป แต่ถ้าหากมีการวางแผนยกเลิกหรือ Exit Plan ตั้งแต่วันนี้แล้ว เมื่อถึงวันนั้นจะไม่ได้มีข้ออ้างอะไรอีก

วันนี้ก็ต้องรอฟังมาตรการ Exit plan สำหรับยานยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในของคณะกรรมการรถยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติดูว่ามีอะไรบ้างและดีพอที่จะทำให้เรามองเห็นแสงแห่งความสำเร็จในอีก 15 ปีหรือไม่ เชื่อว่าคงไม่คิดแค่ประกาศเป้าหมายแล้ว ถือว่างานเสร็จแล้วนะครับ เพราะนั้นคือจุดเริ่มต้นของการทำงาน