"นักวิชาการ ส.พระปกเกล้า" มองฉากทัศน์การเมืองไทย "ฝ่ายบริหาร" ครอบงำ "สภาฯ"

"นักวิชาการ ส.พระปกเกล้า" มองฉากทัศน์การเมืองไทย "ฝ่ายบริหาร" ครอบงำ "สภาฯ"

นักวิชาการพระปกเกล้า มองภาพอนาคตการเมืองไทย ชี้ พลเมืองเข้มแข็ง คือคำตอบของประชาธิไตยที่ยยั่งยืน ชี้ ฝ่ายบริหาร ครอบงำ สภาฯ การตรวจสอบทำได้น้อย-ออกกฎหมายเพื่อฝ่ายบริหาร

       สถาบันพระปกเกล้า จัดสัมมนาออนไลน์ เรื่อง ส่องอนาคตการเมืองไทยเพื่อประชาธิปไตยที่ยั่งยืน  โดยมีนักวิชาการของสถาบันพระปกเกล้า นักการเมือง และนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมแสดงความเห็น
        โดย น.ส.ถวิลวดี บุรีกุล  ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า กล่าวถึงฉากทัศน์ อนาคตการเมืองไทย ว่า จากการศึกษาในส่วนของอำนาจนิติบัญญัติ ส่วนของรัฐสภานั้น พบว่าตัวแทนของรัฐสภายังเป็นตัวแทนของพรรคที่ทำเพื่อผลประโยชน์ของพรรคการเมือง  ทำให้การตรวจสอบทำได้น้อย ขณะที่การออกกฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับฝ่ายบริหาร มากกว่าออกกฎหมายของสภาฯ หรือ ประชาชน ทั้งนี้ในอนาคตหากประชาชนมีความเข้มแข็ง  การกำหนดนโยบายของพรรคการเมือง กฎหมายจากประชาชนจะมีความหมายมากขึ้น
        "พรรคการเมืองที่ผ่านมาไม่เป็นสถาบัน เป็นพรรคเฉพาะกิจ พรรคเพื่อผลประโยชน์ นายทุน ยุบง่ายตั้งง่ายย สมาชิกไม่ชัดเจน การคัดเลือกผู้สมัครไม่ได้มาจากประชาชน ในอนาคตระยะสั้นเชื่อว่าพรรคการเมืองจะอ่อนแอ มีพรรคสำรองมากขึ้น ส่วนอนาคตพรรคการเมืองระยะยาวนั้น เชื่อว่าจะเป็นพรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่ เป็นพรรคที่มีอุดมการณ์ ประชาชนสนับสนุน และประชาชนลงทุนเพื่อพรรค สร้างพลเมืองตื่นรู้  และได้อำนาจของตนเองทำงานเพื่อการเมืองมากขึ้น” น.ส.ถวิลวดี กล่าว
        น.ส.ถวิลวดี กล่าวด้วยว่า ส่วนของฝ่ายบริหาร หรือ คณะรัฐมนตรี (ครม.)  พบว่าครม.ของทหารหากอยู่นาน จะถูกตรวจสอบได้ยาก ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าฝ่ายบริหารสามารถกำหนดทิศทางของประเทศได้มากกว่า  เช่นเดียวกันว่ารัฐสภาจะสามารถครอบงำฝ่ายนิติบัญญัติ แม้งานนิติบัญญัติจะทำได้แต่เป็นไปเพื่อฝ่ายบริหารเท่านั้น 
        น.ส.ถวิลวดี กล่าวว่า สำหรับฉากทัศน์การเมืองไทยภาพรวม สามารถมองได้ 4 ลักษณะ คือ  1.การเมืองนำโดยระบบรัฐสภา เน้นกฎหมายนำประเทศ ทำหน้าที่เป็นตัวแทนประชาชน ตรวจสอบถ่วงดุล อำนาจได้ และทำหน้าที่นิติบัญญัติ อย่างเข้มแข็ง ประโยชน์สาธารณะ  เป็นตัวแทนประชาชนตรวจสอบรัฐบาล แก้ปัญหาวิกฤตประเทศไทย, 2.การเมืองนำโดยฝ่ายบริหาร จะถูกมองว่าเป็นอำนาจนิยม เน้นผลประโยชน์ และอำนาจ ซึ่งแล้วแต่ว่าจะคำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวม หรือสว่นตนหรือพรรคพวก นอกจากนั้นกรณีที่การเมืองนำโดยฝ่าบริหาร ผู้นำจะเข้มแข็ง ระบบตรวจสอบอ่อนแอ ความไว้วางใจต่ำ มีความเหลื่อมล้ำสูง กองทัพเข้มแข็ง เพราะกองทัพต้องสนับสนุนฝ่ายบริหาร ดังนั้นจะทำให้เกิดระบบอุปถัมภ์ มีความขัดแย้ง , 3. การเมืองนำโดยพลเมือง  จะเกิดวัฒนธรรมประชาธิปไตย แบบมีส่วนร่วม ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในนโยบาสาธารณะ จะทำให้เกิดความไว้วางใจทางสังคมสูง ประชาชนตรวจสอบนักการเมืองได้ และการเมืองภาคพลเมืองจะนำไปสู่การผลักดันพลเมืองที่มีคุณภาพเข้าสู่การเมืองระบบรัฐสภา และฝ่ายบริหาร  ทั้งนี้ 3 ลักษณะนั้นอาจไม่ได้รับการยอมรับมากนัก จึงมีลักษณะที่ 4 คือ  การเมืองเชิงสมดุล มีธรรมาภิบาล เน้นสันติสุขของประเทศ เป็นประชาธิปไตย  ซึ่งเครื่องมือที่จะทำให้เกิดขึ้นได้ คือ ประชาชน และพลเมืองต้องเข้มแข็ง มีการเรียนรู้ และมีการใช้สิทธิเสรีภาพเพิ่มมากขึ้น.