เดินสายสร้างการรับรู้เกี่ยวกับ 'พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติฯ(ฉบับใหม่)'

 เดินสายสร้างการรับรู้เกี่ยวกับ 'พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติฯ(ฉบับใหม่)'

กรมอุทยานแห่งชาติฯ ลงพื้นที่ภาคใต้ จัดเวทีเสวนาสัญจร มุ่งสร้างการรับรู้ภาคประชาชนต่อ "พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติฯ (ฉบับใหม่)" และพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฯ (ฉบับใหม่) เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน

ที่ศาลาประชาคม อ.คุระบุรี จ.พังงา  กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)  จัดเวทีเสวนาสื่อสัญจร ครั้งที่ 4  ภายใต้โครงการการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารที่สำคัญเพื่อการศึกษาเกี่ยวกับกฎหมายของ “กรมอุทยานแห่งชาติฯ” เพื่อสร้างการรับรู้กฎหมายฉบับใหม่ของ “กรมอุทยานแห่งชาติฯ”

นายเพิ่มศักดิ์ คงแก้ว ผู้แทน ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า  เนื่องจาก “พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติฯ” ที่มีอยู่เดิมมีผลบังคับใช้มาเป็นเวลานาน ตั้งแต่ พ.ศ. 2504 ทำให้บทบัญญัติบางประการไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน  จึงได้มีการปรับปรุงให้เหมาะสม และตราพระราชบัญญัติใหม่ขึ้นในปี พ.ศ. 2562 เพื่อทำให้การปฏิบัติตามภารกิจมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันประชาชนยังสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรได้ โดยเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด โดยเจตนารมณ์สำคัญของ พ.ร.บ. ฉบับใหม่นี้ คือ “กฎหมาย”ที่ทำให้เราอยู่ร่วมกันได้ ป่าอยู่ได้... คนอยู่ได้

161675507043

ทั้งนี้ การดำเนินโครงการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ฉบับใหม่ ภายใต้แนวคิด คนสมดุล ป่าสมบูรณ์  ของ “กรมอุทยานแห่งชาติฯ” เพื่อสร้างการรับรู้ต่อ “ภาคประชาชน” โดยเฉพาะ ชุมชนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์กว่า 4,000 ชุมชนรอบพื้นที่ “อุทยานแห่งชาติฯ”ทั่วประเทศ ให้สามารถอยู่ร่วมกับป่าภายใต้ “พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติฯ (ฉบับใหม่)”ได้ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญ ที่จะช่วยให้การดูแลพื้นที่ป่าในเขตและรอบเขตอุทยานแห่งชาติเป็นไปได้อย่างสมดุล โดยที่ผ่านมาได้ประชาสัมพันธ์ไปแล้ว ในพื้นที่ 3 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และ เลย  

กฎหมายฉบับปรับปรุงนี้ จะช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องการบุกรุกครอบครองที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติ สำหรับการช่วยเหลือประชาชนเดิมที่อาศัยอยู่ในเขตป่า จะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข การอยู่อาศัยหรือทำกิน รวมถึงการสิ้นสุดการอนุญาต ซึ่งจะอยู่ภายใต้มาตรการในการกำกับดูแล การติดตาม และการประเมินผลว่าต้องไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพ หรือทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายเพิ่มศักดิ์ กล่าว

  • "พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติฯ(ฉบับใหม่)" เปิดช่องชาวบ้านทำมาหากิน

โดยจะเป็นการให้สิทธิ์ในที่ทำกินไม่ใช่การให้เอกสารสิทธิ์  ปัจจุบันอยู่ระหว่างการออก “กฎหมาย”ลำดับรอง ในการกำหนด หลักเกณฑ์ และ เงื่อนไข การอยู่อาศัยและทำกิน รวมถึงกรณีของชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่อาศัยอยู่แล้วในอุทยานแห่งชาติ เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาให้เหมาะสมกับลักษณะพื้นที่ และวิถีชีวิตของชุมชนดั้งเดิมและกลุ่มชาติพันธุ์ อาทิ ชาวเล ชาวกะเหรี่ยง เป็นต้น

นายเพิ่มศักดิ์ กล่าวด้วยว่า “ กฎหมาย” ใหม่ (มาตรา 65) ยังเปิดให้ชาวบ้านสามารถเก็บหาของป่าหรือหากินใน “เขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์” ได้  โดยอยู่ภายใต้กรอบที่กำหนด เช่น  เป็นบุคคลที่ได้รับอนุญาต  เก็บตามชนิด ตามประเภทที่ให้เก็บ  เก็บในบริเวณที่ให้เก็บ  เก็บในระยะเวลาที่ให้เก็บ  เก็บเพื่อดำรงชีพอย่างปกติ   ซึ่งข้อกำหนดเหล่านี้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและเป็นข้อผ่อนปรนที่ทำให้คนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างสมดุล ขณะเดียวกัน พ.ร.บ.ฉบับใหม่ ได้เพิ่มบทลงโทษให้มากขึ้น เพื่อที่ประชาชนจะไม่กล้าฝ่าฝืน "กฎหมาย"อาทิ ผู้ใดยึดถือหรือครอบครองที่ดิน ก่อสร้าง แผ้วถาง เผาป่า ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 4-20 ปี หรือปรับตั้งแต่ 400,000 -2,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นต้น

161675509482

นอกจากนี้ พ.ร.บ.ปี 2562 (ฉบับใหม่)  ยังได้เปิดโอกาสให้หัวหน้า "อุทยานแห่งชาติฯ" สามารถนำนโยบายหลักของการบริหารจัดการอุทยาน( Park Policy) ไปร่วมออกแบบแผน การพัฒนาและจัด Zoning   โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพของพื้นที่และลักษณะการใช้ประโยชน์ที่แตกต่างกัน ซึ่งจะทำให้การบริหารจัดการที่ครอบคลุมพื้นที่กว่า 155 แห่ง เป็นไปอย่างเหมาะสมกับแต่ละพื้นที่

ภายใต้การทำงานตามนโยบาย "ทส. ยกกำลัง 2+4" โดย บวกที่ 1 คือยกย่องเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ การน้อมนำแนวทางพระราชดำริ มาประยุกต์ใช้ในการทำงาน บวกที่ 2 คือการมีส่วนร่วมของประชาชน บวกที่ 3 คือการแสวงหาความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ในการเพิ่มศักยภาพการทำงานอยู่เสมอ และบวกที่ 4 คือมี หลักธรรมาภิบาลในการทำงาน

  • พ.ร.บ.ฉบับใหม่ สอดรับคนกับป่าอยู่ร่วมกัน

ผู้แทน ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 กล่าวในตอนท้ายว่า  ในส่วน พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ปี 2562 (ฉบับใหม่) ซึ่งได้เพิ่มบทบัญญัติและปรับข้อ "กฎหมาย"ให้ทันกับเหตุการณ์ปัจจุบันนั้น จะเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญ ที่จะช่วยให้กำหนดชนิดพันธุ์สัตว์ซึ่งได้รับความคุ้มครองที่สอดคล้องกับอนุสัญญาไซเตส และสาระสำคัญของกฎหมายใหม่บางมาตรา ระบุมีการเพิ่มบทลงโทษแรงขึ้น 

โดยบทลงโทษที่รุนแรงนี้จะช่วยควบคุมป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมเกี่ยวกับสัตว์ป่าได้ดียิ่งขึ้น  อาทิ  บทบัญญัติ มาตรา 12 ห้ามมิให้ผู้ใดล่าสัตว์ป่าสงวน หรือ สัตว์ป่าคุ้มครอง  หากสัตว์ชนิดนั้นเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่หากสัตว์ชนิดนั้นเป็นสัตว์ป่าสงวน จะมีโทษปรับขึ้นไปอีก คือ มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี  ถึง 15 ปี หรือปรับตั้งแต่สามแสนบาทถึงหนึ่งล้านห้าแสนบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ เป็นต้น

ด้านนายอาทิตย์ ขยันกิจ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ จ.พังงา กล่าวว่า หลังจากประกาศใช้ พ.ร.บ.ใหม่ทั้ง 2 ฉบับ ได้ลงพื้นที่ไปยังหมู่บ้านมอแกน หมู่เกาะสุรินทร์ เพื่อสำรวจพื้นที่ และประชากรรวมถึงชี้แจงข้อกฎหมายใหม่ในม.64 และ ม.65 ทั้งนี้จากการสำรวจพื้นที่แปลงรวมจำนวน 6.1 ไร่ พบประชากรทั้งหมดจำนวน 78 ครัวเรือน

โดยอนุญาตให้ใช้ประโยชน์จากพืชพรรณไม้และพันธุ์ปลารวม 168 ชนิดได้ ชาวบ้านมอแกนส่วนใหญ่ทำประมงพื้นบ้านเพื่อยังชีพ และไม่เคยบุกรุกพื้นที่ในเขตหวงห้าม ซึ่งตรงตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายใหม่ที่ต้องการให้คนกับป่าอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล จึงอยากให้ทุกคนช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และใช้ประโยชน์ไม่ให้เกินขีดความสามารถของทรัพยากรที่จะทดแทนได้ เพียงเท่านี้เราจะใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน