รัฐ-นักวิชาการ ร่วมหาทางออกขจัดอุปสรรคจัดการขยะ ก.มหาดไทย ยันมีปริมาณขยะพร้อมผลิตไฟกว่า 100 MW

รัฐ-นักวิชาการ ร่วมหาทางออกขจัดอุปสรรคจัดการขยะ ก.มหาดไทย ยันมีปริมาณขยะพร้อมผลิตไฟกว่า 100 MW

ปริมาณการผลิตขยะของไทยที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องและการกำจัดขยะที่ไม่ถูกวิธี กำลังจะกลายเป็นปัญหาหนักของประเทศในอนาคต หน่วยงานภาครัฐ นักวิชาการ และภาคเอกชน จึงร่วมแลกเปลี่ยนแนวทางปลดล็อคอุปสรรเพื่อนำขยะไปกำจัดกด้วยการผลิตกระแสไฟฟ้าโดยเร็ว

ตามข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ที่ระบุว่า ประเทศไทยมีปริมาณ “ขยะชุมชน” เมื่อปี2562 อยู่ที่ 28.7 ล้านตันต่อปี เป็นขยะพลาสติก 2 ล้านตันต่อปี ซึ่งในส่วนนี้มีการนำไปกำจัดอย่างถูกวิธีราว 25% และอีก 75% ยังก่อให้เกิดปัญหา ขณะที่อัตราการเกิดขยะต่อคน คือเป็น 1.1 กิโลกรัมต่อวัน

ที่ผ่านมา รัฐบาลกำหนดให้ “ขยะเป็นวาระแห่งชาติ” แต่การแก้ไขปัญหาขยะ ยังไม่สามารถขับเคลื่อนได้อย่างรวดเร็ว หรือ แม้แต่แนวทางที่ภาครัฐเพิ่มเป้าหมายส่งเสริมการกำจัดขยะด้วยการเผาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ.2561-2580 (AEDP 2018) ที่เพิ่มสัดส่วนรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนอีก 400 เมกะวัตต์ จากเดิมมีโควตา 500 เมกะวัตต์ รวมเป็น 900 เมกะวัตต์ ภายในปี 2580  แต่จนถึงปัจจุบัน ก็ยังไม่มีการออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชน ตามโควตาใหม่ 400 เมกะวัตต์  แต่อย่างใด

มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย จึงได้จัดงานเสวนาออนไลน์ “ทางออกการจัดการ ขยะเป็นพลังงาน? เมื่อวันที่ 25 มี.ค 2564 เพื่อระดมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาควิชาการ และเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการจัดการขยะ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการหาทางออกร่วมกัน  

นายวิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ระบุว่า ปัจจุบัน ขยะชุมชน ประมาณ 44% ถูกคัดแยกไปใช้ประโยชน์ อีก 34% กำจัดอย่างถูกต้อง และอีก 22% กำจัดไม่ถูกต้อง ซึ่งการกำจัดขยะส่วนใหญ่ยังเป็นการนำไปฝั่งกลบ และพบว่า ยังก่อให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม เช่น น้ำจากบ่อขยะรั่วไหลซึมลงสู่แหล่งน้ำชุมชน หรือ แม่น้ำ เป็นต้น

ดังนั้น จำเป็นต้องลดปริมาณขยะ โดยเบื้องต้นจะหาแนวทางนำขยะไปใช้ประโยชน์ให้มากที่สุดก่อนนำไปฝั่งกลบ ควบคู่กับการลดปริมาณการเกิดขึ้นของขยะ ซึ่งวิธีการลดปริมาณขยะที่สำคัญ คือ การจัด ลำดับชั้นการจัดการขยะ ซึ่งหลักการ 3R คือ Reduce ทำให้ไม่เกิดขยะหรือเกิดน้อยที่สุด ,Reuse ใช้สิ่งของซ้ำๆ การดัดแปลงรูปร่าง หรือ มอบให้ผู้อื่นที่ต้องการได้นำไปใช้ประโยชน์ ,Recycle คัดแยกและนำสิ่งของหรือ เศษวัสดุบางประเภทไปผ่านกระบวนการแปรรูปเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่

รวมถึง การจัดการขยะ Waste to Energy คือ การนำขยะที่ไม่สามารถนำไปผ่านกระบวนการแปรรูปเพื่อนำกลับไปใช้ใหม่ได้ มาเปลี่ยนให้เป็นพลังงาน หรือผลิตไฟฟ้าเป็นผลพลอยได้ และ Disposal เป็นลำดับขั้นสุดท้ายในการจัดการขยะที่ไม่สามารถผ่านกระบวนการต่างๆข้างต้นได้

ประกอบกับรัฐบาล มีนโยบายใหม่  BCG Model ที่ประกอบด้วย B คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (BIO Economy) ยกระดับและเพิ่มมูลค่าให้สินค้าและบริการจากฐานความหลากหลายทางชีวภาพ C คือเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) นำทรัพยากรมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแบะหมุนเวียนมาใช้ใหม่ (ZERO WASTE) และ G คือ เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก กระจายรายได้อย่างเป็นธรรมและทั่วถึง โดยเรื่องของ BCG Model จะช่วยให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ยกตัวอย่าง เช่น ช่วงโควิด-19 กรุงเทพฯ มีปริมารขยะพลาสติกจากฟู้ดเดลิเวอรี่เพิ่มขึ้น 62% จากปกติจะมีการนำไปรีไซเคิลประมาณ 27-30% แต่พบว่าการรีไซเคิล ลดลงเหลือ 19% เพราะคนกังวลเรื่องการติดเชื้อโควิด-19 ก็กลายเป็นปัญหาสำคัญ ที่ต้องแก้ ฉะนั้น BCG เข้ามาก็ต้องแก้ปัญหาร่วมกัน โดยเฉพาะ เรื่องของ Circular Economy จะช่วยลดปริมาณขยะ

นอกจากนี้ ยังมีโรดแมป “การบริหารจัดการขยะพลาสติกครบวงจร” โดยกำหนดเป้าหมายจะนำมารีไซเคิลให้ได้ 100% ภายในปี 2573 เพราะไทย ติดอันดับ 1ใน 5 ของโลกที่สร้างขยะพลาสติกในทะเล

“เรื่องของ BCG Model กับทางออกในการจัดการขยะเป็นพลังงาน ก็ตอบโจทย์หลายๆอย่าง แต่ยังต้องอาศัยร่วมมือหลายๆภาคส่วน เช่น ภาครัฐ ภาคประชาสังคม มาทำให้เรื่องนี้”

161675298348

นายวีระศักดิ์ วีระธรรมโม รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) กล่าวว่า การรับซื้อไฟฟ้าจากขยะ ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2561 - 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Revision 1) และแผน AEDP 2018 กำหนดเป้าหมายรับซื้อไฟฟ้าขยะชุม อีก 400 เมกะวัตต์ และขยะอุตสาหกรรม อีก 44 เมกะวัตต์ ซึ่งขยะชุมชน ปัจจุบัน ภาครัฐ ได้ออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าขยะชุมชน ภายใต้โครงการโรงไฟฟ้า Quick Win Project ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 11 โรง กำลังผลิต 83.04 เมกะวัตต์ ซึ่งมีกำหนด COD เดือน ธ.ค.2564

ส่วนการรับซื้อไฟฟ้าขยะชุมชน โควตาใหม่ 400 เมกะวัตต์ จะออกประกาศได้ ก็ต่อเมื่อทางกระทรวงมหาดไทย ได้คัดกรองโครงการแล้ว เสนอเรื่องมายังกระทรวงพลังงาน เพื่อพิจารณากำหนดนโยบายและส่งเรื่องให้ กกพ. ออกประกาศรับซื้อไฟฟ้า ตามขั้นตอนต่อไป    

นายธนา ยันตรโกวิท อดีตรองอธิบดี กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า การจัดการขยะเกิดขึ้นยาก เพราะมีเรื่องของการลงทุนเข้ามาเกี่ยวข้อง การกำจัดขยะรูปแบบใดก็ต้องใช้เงิน หลุมฝังกลบก็มีหลัก 100 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบัน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ทั่วประเทศกว่า 7,000 แห่ง มีรายได้ต่ำกว่า 50 ล้านบาท คิดเป็นประมาณ 60-70% เหลืองบพัฒนาไม่มาก มีเพียงกรุงเทพฯ เป็นแห่งเดียวที่มีรายได้ 10,000 ล้านบาท

จึงมีการจัดทำโรดแมปรวมกลุ่มของท้องถิ่น หรือ คลัตเตอร์ เพื่อให้เกิดปริมาณขยะที่เพียงพอต่อการผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งปกติแล้วแต่ละพื้นที่จะมีขยะ ราว 100-200 ตัน ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน ซึ่งปัจจุบัน อปท.กว่า 7,000 แห่ง มีกลุ่มจัดการขยะ 262 กลุ่ม แบ่งเป็นขนาด S M L คือ ขนาด S ต่ำกว่า 300 ตันต่อวัน ขนาด M ตั้งแต่ 300-500 ตันต่อวัน มีอยู่ 11 กลุ่ม และขนาด L มากกว่า 500 ตันต่อวัน มีอยู่ 11 กลุ่ม ซึ่งกลุ่มที่จะคุ้มค่าต่อการลงทุนผลิตไฟฟ้า คือ M และ L รวมกันอยู่ที่ 22 กลุ่ม แต่กลุ่มเล็กๆก็ยังสามารถมาร่วมกลุ่มกันได้ แต่จะทำยังไงให้สามารถเข้าสู่กระบวนการของ กกพ.ได้

โดยกฎหมายปัจจุบัน กำหนดให้ท้องถิ่นต้องเป็นผู้เสนอโครงการ ซึ่งจากการสอบถามข้อมูลผู้สนใจทำโรงไฟฟ้าขยะ พบว่า มีสนใจ 60 กลุ่ม แต่มีศักยภาพจริง ประมาณ 22 กลุ่มดังกล่าว ซึ่งรวมเป็นจำนวนเมกะวัตต์ที่ผลิตไฟฟ้าได้ถึง 1,000 เมกะวัตต์ จึงเสนอเรื่องไปยังกระทรวงพลังงาน เพื่อขอเพิ่มโควตา จากเดิมมีอยู่ 500 เมกะวัตต์ ซึ่งในส่วนนี้ เอกชนดำเนินการไปแล้วกว่า 300 เมกะวัตต์ แต่จากหารือรวมกันในเบื้องต้น ทางกระทรวงพลังงาน ให้ทดลองทำโครงการ เพื่อประเมินประสิทธิภาพก่อน จึงเป็นที่มาของ โรงไฟฟ้า Quick Win จำนวน 11 โรง (โควตาเก่า 500 เมกะวัตต์)

ส่วนโควตาใหม่ 400 เมกะวัตต์ มี พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ รองรับ และผ่อนปรนไม่ต้องทำตามกฎหมายร่วมทุน แต่ต้องอินตามหลักเกณฑ์ ของกฎหมายร่วมทุน 7 ข้อ และหลักเกณฑ์อีก 4 ข้อ รวมเป็น 11 ข้อ ซึ่งนับเป็นขั้นตอนที่ต้องใช้เวลา แต่ขณะนี้ พบว่า มีโครงการที่กระทรวงมหาดไทย เห็นชอบแล้ว และพร้อมดำเนินการจัดตั้งโรงไฟฟ้าเพื่อกำจัดขยะ จำนวนกว่า 20 โครงการ คิดเป็นกว่า 100 เมกะวัตต์

“เราส่งรายชื่อไปยังกระทรวงพลังงานแล้ว ทั้งกว่า 20 โครงการ เพื่อบอกให้รู้ว่า ณ วันนี้ เราพร้อมแล้ว”

นายพิรียุตม์ วรรณพฤกษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม และพลังงาน กล่าวว่า การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะ คือเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นๆ ซึ่งที่ผ่านมาพบว่า เจ้าของโครงการยังไม่รู้ว่า จะใช้เทคโนโลยีอะไร และต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก ดังนั้นเพื่อให้เกิดความคุ้มทุนรัฐจึงกำหนดให้มีสัญญารับซื้อไฟฟ้าถึง 20 ปี หมายความชุมชนจะต้องอยู่คู่กับโรงไฟฟ้าไปตลอด 20 ปี โดยที่ไม่รู้ว่า จะเอาขยะไปจัดการอย่างไรบ้าง ก็จะเป็นผลเสีย

“ฉะนั้น จุดเริ่มต้น หรือ จุดล้มเหลวของโครงการ อยู่ที่ท้องถิ่นต้องจริงจังในการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการฯ อันแรกคือ เลือกเทคโนโลยี และต้องรวมกลุ่ม เพื่อรวบรวมปริมาณขยะ และมีการจัดการที่ดี จะนำไปสู่ Waste to Energy”

161675307434

นายสารัตน์ เกี่ยวข้อง ผู้อำนวยการกองช่าง เทศบาลเมืองกระบี่ กล่าวว่า เทศบาลฯ ได้จัดทำโรงไฟฟ้าขยะชุมชน ซึ่งเป็น 1 ใน 11 โรงไฟฟ้าที่อยู่ภายใต้ Quick Win Project โดยมีกำลังผลิตไฟฟ้า อยู่ที่ 6 เมกะวัตต์ จำนวนนี้ขายให้ กฟภ. ปริมาณ 4.4 เมกะวัตต์ และกำลังผลิตที่เหลือใช้ภายในโรงงาน โดยได้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว เมื่อ 28 ธ.ค.2563 ขณะนี้ดำเนินการมาเป็นเวลาประมาณ 3 เดือนแล้ว พบว่า ยังมีอุปสรรคเรื่องเสียงของเครื่องจักร และอยู่ระหว่างการเร่งแก้ไข ขณะที่ชาวบ้านในพื้นที่ให้การยอมรับการจัดตั้งโรงไฟฟ้า แต่ว่ายังไม่มีความคุ้นชินมากนัก เพราะพื้นที่จ.กระบี่ ในตอนกลางคืนจะเงียบมาก เมื่อมีโรงไฟฟ้าเกิดขึ้นก็ยังมีเสียงการทำงานของเครื่องจักร ขณะที่สถานการณ์โดยรวมยังถือว่าไปด้วยดี

“หัวใจสำคัญของการจัดตั้งโรงไฟฟ้าขยะเทศบาลเมืองกระบี่ ที่เกิดขึ้นได้นั้น เริ่มต้นขึ้นจากการทำประชาคมร่วมกับคนในพื้นที่ เพื่อหาทางออกจัดการขยะร่วมกัน และพบว่า โรงไฟฟ้าน่าจะเป็นทางออกที่ดี ซึ่งกว่าจะเกิดโรงไฟฟ้า ใช้เวลาดำเนินการประมาณ 2 ปี”

นางเบญจมาส โชติทอง ผู้อำนวยการฝ่ายบริการทางวิชาการ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ระบุว่า ข้อมูลปี 2562 พบว่า ขยะชุมชนในเมืองใหญ่ 45-60% เกิดจากขยะอาหารและขยะอินทรีย์ โดย 10-20% สามารถนำมารีไซเคิลได้ ขณะที่ 20-30% ขยะรีไซเคิลไม่ได้ และไม่คุ้มค่าในการรีไซเคิล ซึ่งปริมาณขยะที่กำจัดไม่ถูกวิธีจะกลายเป็นปัญหาสะสมที่มากขึ้น

ดังนั้นจำเป็นต้องมีความร่วมมือในการจัดการขยะเป็นพลังงาน ซึ่งน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด ดังนั้น 1. ต้องจริงจังกับการคัดแยกขยะ โดยเฉพาะการกำจัดขยะอินทรีย์ และขยะอาหาร ที่มีกว่าครึ่งหนึ่งของขยะที่เกิดขึ้นซึ่งถูกทิ้งรวมกันขยะทั่วไป ด้วยการกำหนดให้มีการคัดแยกขยะอินทรีย์และขยะอาหารที่ต้นทางแหล่งกำเนิดขยะขนาดใหญ่ เช่น ห้างสรรพสินค้า ศูนย์อาหาร ตลาด อาคารสูง เป็นต้น เพื่อลดปริมาณขยะที่จะต้องนำไปกำจัดด้วยระบบการเผา และการกำหนดให้มีระบบผลิตก๊าซชีวภาพในการกำจัดขยะอินทรีย์/ขยะอาหาร  หรือ วีธีการอื่นตามความเหมาะสม ควบคู่กับเตาเผาขยะ ทั้งนี้เพื่อลดต้นทุนและลดมลพิษจากการเผาขยะ

2.กำหนดอัตรา Tipping Fee ที่เหมาะสม โดยค่ากำจัดขยะมูลฝอยมีความผันแปรระหว่าง 250-1,000 บาทต่อตัน และยังไม่สะท้อนต้นทุนการจัดการขยะ ดังนั้น ต้องกำหนดกรอบการจัดเก็บค่ากำจัดขยะเป็นธรรมและเหมาะสมสำหรับการกำจัดด้วยวิธีการฝังกลบและการเผาผลิตพลังงาน อีกทั้งต้องผลักดันให้ อปท.มีการปรับอัตราค่าเก็บขนและกำจัดขยะให้สะท้อนต้นทุนในการดำเนินงานจริง ตามกรอบที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้ผู้ก่อขยะร่วมรับผิดชอบ และลดภาระของหน่วยงาน ตลอดจนกำหนดแนวทางให้ อปท.ลดหรือยกเว้นค่าเก็บขนและหรือกำจัดขยะแก่แหล่งกำเนินขยะที่มีคัดแยกหรือจัดการขยะตามเกณฑ์ที่กำหนด

และ 3.กำหนดขนาดแลผังใช้พื้นที่โครงการ โดยการจัดการขยะเป็นพลังงานควรมีสภาพแวดล้อมที่ดี และได้รับการยอมรับจากชุมชนโดยรอบ ซึ่งควรกำหนดให้มีพื้นที่ขนาดเพียงพอในการจัดการสิ่งแวดล้อมทั้งระบบ ได้แก่ การบำบัดน้ำเสียจากน้ำขยะ การฝังกลบเถ้าอย่างถูกวิธ เป็นต้น การกำหนดให้มีการปลูกต้นไม้เป็นแนวกันชนระหว่างโครงการกับพื้นที่ภายนอก เพื่อป้องกันกลิ่นและฝุ่นซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบ และการกำหนดให้จัดทำคูคันกั้นน้ำหรือระบบระบายน้ำเพื่อลดความเสี่ยงจากอุทกภัย ที่อาจเกิดขึ้น