อัพเดต! ‘วัคซีนโควิด19’ทุกมิติ

อัพเดต! ‘วัคซีนโควิด19’ทุกมิติ

ประเทศไทยมีการฉีด “วัคซีนโควิด19”ครบ 1 เดือน ซึ่งเริ่มเมี่อวันที่ 28 ก.พ.2564 มีความก้าวหน้าอย่างไร ทั้งในมิติสิ่งที่เกิดขึ้นหลังฉีด การขึ้นทะเบียนวัคซีน รวมถึง การวิจัย และการผลิตภายในประเทศ

สถานการณ์ “วัคซีนโควิด19”โลก
“วัคซีนโควิด19”ที่ผ่านการรับรองทั่วโลก
   
สถาบันวัคซีนแห่งชาติ 
รายงานเมื่อวันที่  18  มี.ค.2564 ว่า ทั่วโลกมี “วัคซีนโควิด19” จำนวน 13 ชนิด ได้รับอนุญาตให้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน (Emergency Use Authorization : EUA) ซึ่งเป็นการอนุญาตให้ใช้วัคซีนในกรณีฉุกเฉิน โดยหน่วยงานควบคุมกำกับของแต่ลประเทศ โดยพิจารณาจากผลการทดสอบวัคซีนในมนุษย์(อาจมีผลเฟส3แล้วหรือไม่ก็ได้) ให้สามารถใช้กับประชากรกลุ่มเป้าหมายในประเทศนั้นๆได้

       3 ชนิดที่ได้รับการรับรอง(Emergency Use Listing :EUL) จากองค์การอนามัยโลก(WHO) ซึ่งเป็นการประเมินวัคซีนในภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข มีเป้าหมายเพื่อให้สามารถใช้วัคซีนได้ในวงกว้าง เนื่องจากระบบควบคุมกำกับของบางประเทศอาจไม่มีความพร้อมและไม่มีมาตรฐานเพียงพอ จึงให้ใช้การอ้างอิงจากEUL โดยการประเมินจะทำโดยผู้เชี่ยวชาญของWHO คือ “วัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน” “วัคซีนของไฟเซอร์/ไบออนเทค” และ “วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า”

ยอดจอง “วัคซีนโควิด19”

     กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มีการประมวลข้อมูลเมื่อวันที่ 8 มี.ค.2564 ระบุว่า  มีการจองวัคซีนทั่วโลก 9,600 ล้านโดส โดย 10 ประเทศที่มียอดการจองวัคซีนจำนวนมากที่สุด ได้แก่  1.อินเดีย 2,200 ล้านโดส

2.สหรัฐอเมริกา 1,210 ล้านโดส
3.สหราชอาณาจักร 417 ล้านดดส
4.ญี่ปุ่น 314 ล้านโดส
5.อินโดนีเซีย 301 ล้านโดส
6.บราซิล 300 ล้านโดส
7.จีน 300 ล้านโดส
8.แคนาดา 238 ล้านโดส
9.เม็กซิโก 211 ล้านโดส
10.รัสเซีย 160 ล้านโดส

-วัคซีนที่ได้รับการจองมากที่สุดคือวัคซีนของ AstraZeneca/Oxford 3,009 ล้านโดส

-ประเทศที่มีการจองวัคซีนในสัดส่วนประชากรมากที่สุดคือ สหราชอาณาจักร 339.6%ของจำนวนประชากร

161675093699
การฉีด “วัคซีนโควิด19”ทั่วโลก

        เมื่อวันที่ 26 มี.ค.2564 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)ประมวลข้อมูลการฉีด “วัคซีนโควิด19”  โดยอ้างอิงแหล่งข้อมูลจาก Bloomberg Vaccine Tracker, Our World in dataว่า ขณะนี้จำนวนการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทั่วโลก เกินกว่า 500 ล้านโดสแล้ว ใน 140 ประเทศ/เขตปกครอง

      ประเทศที่ฉีด “วัคซีนโควิด19” แล้วมากที่สุด 5 อันดับแรกที่ฉีดวัคซีนรวมกันเกือบ 3 ใน 4 ของการฉีดทั่วโลก (73%) ได้แก่

1. สหรัฐอเมริกา จำนวน 133.31 ล้านโดส (26.6% ของจำนวนการฉีดทั่วโลก)
2. จีน จำนวน 85.86 ล้านโดส (17.1%)
3. สหภาพยุโรป จำนวน 63.09 ล้านโดส (12.6%)
4. อินเดีย จำนวน 54.67 ล้านโดส (10.9%)
5. สหราชอาณาจักร จำนวน 31.77 ล้านโดส (6.3%)

ประเทศที่ฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรมากที่สุด
มี 8 ประเทศที่ฉีดวัคซีนให้กับประชากรอย่างน้อย 20% แล้ว ได้แก่
1. อิสราเอล (54.5% ของประชากร) (ฉีดวัคซีนของ Pfizer/BioNTech และ Moderna)
2. เซเชลส์ (49.2%) (ฉีดวัคซีนของ AstraZeneca/Oxford และ Sinopharm)
3. สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (36%) (ฉีดวัคซีนของ AstraZeneca/Oxford, Pfizer/BioNTech, Sinopharm และ Gamaleya)
4. มัลดีฟส์ (24.2%) (ฉีดวัคซีนของ AstraZeneca/Oxford)
5. ชิลี (23.8%) (ฉีดวัคซีนของ Pfizer/BioNTech และ Sinovac)
6. สหราชอาณาจักร (23.4%) (ฉีดวัคซีนของ AstraZeneca/Oxford และ Pfizer/BioNTech)
7. บาห์เรน (23.2%) (ฉีดวัคซีนของ AstraZeneca/Oxford, Pfizer/BioNTech, Sinopharm และ Gamaleya)
8. โมนาโก (20.5%) (ฉีดวัคซีนของ Pfizer/BioNTech)

จำนวนการฉีด “วัคซีนโควิด19” แยกตามภูมิภาค
1. เอเชียและตะวันออกกลาง 42.27%
2. อเมริกาเหนือ 29.07%
3. ยุโรป 19.9%
4. ลาตินอเมริกาและแคริบเบียน 6.8%
5. แอฟริกา 1.89%
6. โอเชียเนีย 0.07%

จำนวนการฉีด “วัคซีนโควิด19” แยกตามภูมิภาค

  1. เอเชียและตะวันออกกลาง 41.2%
  2. อเมริกาเหนือ 29.82%
  3. ยุโรป 20.29%
  4. ลาตินอเมริกาและแคริบเบียน 6.77%
  5. แอฟริกา 1.85%
  6. โอเชียเนีย 0.07%

ในภูมิภาคอาเซียน ได้ฉีด “วัคซีนโควิด19”แล้ว 12,492,127 โดส ใน 9 ประเทศ ได้แก่
1. สิงคโปร์ จำนวน 1,109,000 โดส (9.7% ของประชากร) ฉีดวัคซีนของ Pfizer และ Moderna
2. อินโดนีเซีย จำนวน 9,754,646 โดส (1.8% ของประชากร) ฉีดวัคซีนของ Sinovac
3. พม่า จำนวน 105,285 โดส (0.1% ของประชากร) ฉีดวัคซีนของ AstraZeneca
4. กัมพูชา จำนวน 296,149 โดส (0.9% ของประชากร) ฉีดวัคซีนของ Sinopharm
5. มาเลเซีย จำนวน 510,976 โดส (0.8% ของประชากร) ฉีดวัคซีนของ Pfizer และ Sinovac
6. ไทย จำนวน 136,190 โดส (0.2% ของประชากร) ฉีดวัคซีนของ Sinovac และ AstraZeneca
7. ฟิลิปปินส์ จำนวน 508,332 โดส (0.2% ของประชากร) ฉีดวัคซีนของ Sinovac และ AstraZeneca
8. เวียดนาม จำนวน 39,817 โดส (<0.1% ของประชากร) ฉีดวัคซีนของ AstraZeneca
9. ลาว จำนวน 40,732 โดส (0.3% ของประชากร) ฉีดวัคซีนของ Sinopharm
ทั้งนี้ บรูไน ระบุว่าจะฉีดภายในไตรมาสที่ 1 ของปี 2564

“วัคซีนโควิด19”ในประเทศไทย
นำเข้ามาแล้ว 1.1 ล้านโดส 
      
 ประเทศไทยมีคำสั่งซื้อ “วัคซีนโควิด19”แล้ว จาก 2 บริษัท คือ 1.ซิโนแวค จำนวน 2 ล้านโดส ส่งมอบแล้ว 2 ล็อต รวม 1 ล้าน เหลือส่งมอบเดือนเม.ย.2564 อีก 1 ล้านโดส และอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อขอซื้อเพิ่มอีก 5 ล้านโดส

       และ2.แอสตร้าเซนเนก้า มีคำสังซื้อแล้ว 63 ล้านโดส มีการส่งมอบล็อตผลิตจากต่างประเทศเข้ามาแล้ว  1.17 แสนโดส ส่วนที่เหลือจะเป็นการส่งมอบจากการผลิตภายในประเทศไทย โดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ตั้งแต่เดือนมิ.ย. ราว 6 ล้านโดส ก.ค.-พ.ย.เดือนละ 10 ล้านโดส และธ.ค. อีก 6 ล้านโดส
3 ยี่ห้อผ่านขึ้นทะเบียนอย.
     
สำหรับการขึ้นทะเบียน “วัคซีนโควิด19” ในประเทศไทยนั้น นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) เปิดเผยว่า  ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)มีการขึ้นทะเบียน ภายใต้เงื่อนไขใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว 3 ยี่ห้อ คือ “วัคซีนซิโนแวค”  “วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า” “วัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน”
      
นอกจากนี้  วัคซีนของบริษัท บารัต ไบโอเทค เทคโนโลยี ประเทศอินเดีย นำเข้าโดยบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด อยู่ระหว่างการยื่นเอกสารแบบต่อเนื่อง หรือ rolling submission และสำหรับวัคซีนอื่น ๆ ได้แก่ “วัคซีนโมเดอร์นา” ของประเทศสหรัฐอเมริกา “วัคซีนสปุตนิก ไฟว์” ของประเทศรัสเซีย และ “วัคซีนซิโนฟาร์ม” ของประเทศจีน ได้มีการเข้าหารือกับ อย. เพื่อเตรียมการยื่นคำขอขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 แล้ว  

ความคืบหน้า“วัคซีนโควิด19”ไทยทำ
1.ชนิดเชื้อตาย วัคซีนขององค์การเภสัชกรรม(อภ.)
เริ่มฉีดทดลองในคนระยะที่ 1 แล้วเมื่อวันที่ 22 มี.ค.2564
2.ชนิด mRNA วัคซีนโควิด19จุฬา( ChulaCov19) แผนการทดสอบในคนไทย เริ่มต้นพ.ค.2564 

3.ชนิด Protein Subunit วัคซีนของ บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด เตรียมทดสอบวัคซีนโควิด-19 ในมนุษย์ช่วงกลางปี 2564  

4.ชนิดDNA ของ บริษัทไบโอเนท-เอเชีย จำกัด อยู่ในระยะเตรียมทดสอบในคนระยะที่ 1
5. ชนิดเชื้อตาย ของศูนย์วิจัยและพัฒนาวัคซีน มหาวิทยาลัยมหิดล อยู่ในขั้นการพัฒนาวัคซีนตัวเลือกระดับห้องปฏิบัติการ
6.ชนิดเชื้อเป็น(Live-attenuated)ของ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) อยู่ในระยะทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยในสัตว์ทดลอง
7.ชนิดไวรัล แว็คเตอร์ (Viral vector)ของสวทช. อยู่ในระยะทดสอบการกระตุ้นภูมิคุ้มกันเบื้องต้นในสัตว์ทดลอง
และ8.ชนิดไวรัสอนุภาคเหมือน (Virus-Like Particle-VLP) ของสวทช.และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล อยู่ในระยะทดสอบการกระตุ้นภูมิคุ้มกันเบื้องต้นในสัตว์ทดลอง
นอกจากนี้ ไทยยังมีวัคซีนอีกกว่า 20 ชนิดอยู่ระหว่างการวิจัยพัฒนา
161675095963

เตรียมพร้อม 3 โรงงานผลิต “วัคซีนโควิด19” 3 ชนิด
 - โรงงานองค์การเภสัชกรรม ต.ทับกวาง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี

      เดิมก่อสร้างเพื่อเป็นโรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่  “ชนิดเชื้อตาย” ในเชิงอุตสาหกรรม เริ่มดำเนินการก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2552  โรงงานเพิ่งแล้วเสร็จและยังไม่ได้ผลิตวัคซีนในเชิงอุตสาหกรรม เมื่อเกิดโรคโควิด19 ระบาด จึงปรับมาใช้ในการผลิต “วัคซีนโควิด 19” “ชนิดเชื้อตาย” ที่อภ.ดำเนินการศึกษาวิจัยพัฒนา อยู่ระหว่างการวิจัยในคนระยะที่ 1 
     หากวิจัย “วัคซีนโควิด19” “ชนิดเชื้อตาย” สำเร็จ อภ.จะใช้โรงงานแห่งนี้ในการผลิต ปัจจุบันโรงงานดังกล่าวมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 25-30 ล้านโดสต่อปี ขณะนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสถาบันวัคซีนแห่งชาติ และงบของอภ.รวมประมาณ 150 ล้านบาท เพื่อติดตั้งไลน์การบรรจุวัคซีนเพิ่มเติม จะทำให้เพิ่มกำลังการผลิตได้ประมาณ 60 ล้านโดสต่อปี 
-โรงงานบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์

      เป็นการผลิต “วัคซีนโควิด19” “ชนิดไวรัล แว็กเตอร์” ของ “แอสตร้าเซนเนก้า” โดยรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า โดยเริ่มรับการถ่ายทอดตั้งแต่ธ.ค.2563
      นพ.นคร เปรมศรี ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ เปิดเผยความคืบหน้าว่า สามารถผลิตได้แล้ว 5 รุ่น อยู่ระหว่างการส่งตรวจคุณภาพวัคซีนที่ผลิตได้ ณ ห้องปฏิบัติการ อ้างอิงในสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา ราวกลางเดือนพ.ค.นี้ จะสามารถทำการรับรองรุ่นการผลิต (lot release)  ทั้งนี้ เมื่อผ่านกระบวนการตรวจสอบทุกขั้นตอนดังกล่าวแล้ว  ตามแผนบริษัท สยามไบโอไซฯจะทำการผลิตและส่งมอบวัคซีนสูตรแอสตร้าเซนเนก้าให้กับประเทศไทย ประมาณเดือนละ 5-10 ล้านโดสจนครบ61ล้านโดส แต่กำลังการผลิตของบริษัทสามารถทำได้ 15-18 ล้านโสดต่อเดือน และอนาคตก็สามารถเพิ่มกำลังการผลิตต่อเดือนได้มากขึ้น

- โรงงานบริษัท ไบโอเนท-เอเชีย
        โรงงานแห่งนี้มีการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตรองรับ การผลิตวัคซีนชนิด mRNA ของจุฬาฯ มาตั้งแต่ปี 2563  โดยปลายปี 2564 จะผลิตได้ 1-5 ล้านโดส โดยปีต่อไป ผลิต 20 ล้านโดส
 

การฉีด “วัคซีนโควิด19”ในไทย
         กรมควบคุมโรค รายงานเมื่อวันที่ 26 มี.ค.2564 ว่า
จำนวนการได้รับวัคซีนสะสมของประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-25 มี.ค.2564 รวม 136,190 โดส แยกเป็นผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 121,392 ราย และเข็มที่ 2 จำนวน 14,798 ราย
        สรุปเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากการให้บริการฉีดวัคซีนโควิด 19 สะสมตั้งแต่  28ก.พ.-25มี.ค.2564 ซึ่งเป็นการรายงานจากการสังเกตอาการด้วยตนเองและรายงานผ่านไลน์หมอพร้อม จำนวน 12,586  ราย คิดเป็น 23.38 %ของผู้รับวัคซีนทั้งหมด แยกเป็น
ปวดกล้ามเนื้อ
24.85%

ปวดศีรษะ 15.16%

ปวด บวมแดงร้อนบริเวณที่ฉีด 14.68 %

 เหนื่อย อ่อนเพลีย ไม่มีแรง 11.84%
 คลื่นไส้ 9.59
%
ไข้
8.18

ท้องเสีย 5.15%

อาเจียน 3.89%

ผื่น 3.37%

ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรง 3.27

อื่นๆ  4.94 %
161675098085
 “แพ้วัคซีน” 2 รายจากยอดฉีด 1.3 แสนโดส

          ในจำนวนนี้มีรายงานอาการไม่พึงประสงค์รุนแรงที่ได้รับการยืนยันจากคณะผู้เชี่ยวชาญแล้ว 2 รายว่าแพ้วัคซีน
     รายที่ 1 เพศหญิง 26 ปี จ.สมุทรสาคร มีประวัติแพ้กุ้งและแพ้ไรฝุ่น หลังฉีดวัคซีนประมาณ  10 นาที  มีผื่นแดงคันบริเวณที่ฉีดและศีรษะ แดงร้อนบริเวณหูและใบหน้า หูและตามบวมเล็กน้อย ต่อมามีไข้ ปวดเมื่อยเนื้อตัว เวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ใจสั่น หายใจไม่สะดวก ได้รับยาเข้าทางหลอดเลือดดำ และพักสังเกตอาการที่ห้องฉุกเฉินประมาณ 4 ชั่วโมงอาการดีขึ้น กลับบ้านได้

       และรายที่ 2 เพศหญิง 30 ปี จ.ราชบุรี ปฏิเสธประวัติโรคประจำตัวและประวัติแพ้ยาหรือแพ้อาหาร หลังฉีด 30 นาที มีผื่นนูนแดงขึ้นบริเวณคอ หลัง แขน หน้าอก คันทั้งตัว รู้สึกว่าหน้าบวม คลื่นไส้แต่ไม่อาเจียน จุกแน่นบริเวณลิ้นปี่ จุกแน่น หน้าอก หายใจเหนื่อย ได้รับยาเข้าทางหลอดเลือดดำ รับไว้สังเกตอาการที่โรงพยาบาล 1 คืน อาการดีขึ้น กลับบ้านได้
      
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ความต่าง 'แพ้วัคซีนโควิด19' Vs 'อาการไม่พึงประสงค์'