เวิลด์แบงก์ หั่นจีดีพีไทยปี 64 เหลือโต 3.4% ลุ้นเปิดประเทศฟื้นเศรษฐกิจ

เวิลด์แบงก์ หั่นจีดีพีไทยปี 64 เหลือโต 3.4% ลุ้นเปิดประเทศฟื้นเศรษฐกิจ

ธนาคารโลกประเป้าเศรษฐกิจไทยปีนี้เหลือโต 3.4% จากเดิมคาดโต 4% พร้อมคาดการณ์จีดีพีฟื้นตัวกลับมาเท่าก่อนเกิดโควิด-19 ที่ 4.7% ในปี 65 ชี้แผนกระจายวัคซีน-การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวจะเป็นแรงหนุนต่อรายได้ประเทศ

นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) เปิดเผยว่า ธนาคารโลกปรับประมาณการเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทยปี 2564 ลงมาอยู่ที่ 3.4% จากเดิมคาดว่าจะเติบโตในระดับ 4% โดยคาดว่าจะเป็นการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป และคาดว่าในปี 2565 จีดีพีไทยจะกลับมาเติบโตที่ 4.7% เทียบเท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด-19

อย่างไรก็ดี ยังต้องจับตาดูปัจจัยสำคัญอย่างวัคซีนและการท่องเที่ยวในประเทศ เพราะประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ โดยที่ผ่านมาไทยเป็นประเทศที่สามารถควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ได้ค่อนข้างดี สะท้อนจากอัตราผู้ติดเชื้อและอัตราผู้เสียเชียวิตจากโควิด-19 น้อยกว่าประเทศในภูมิภาคเดียวกันอย่างเวียดนามและจีน

นอกจากนี้ รัฐบาลของไทยมียุทธศาสตร์การกระจายวัคซีนที่ชัดเจน โดยมีการสั่งซื้อวัคซีนจาก 2 บริษัทผู้ผลิต เพื่อกระจายให้แก่กลุ่มเสี่ยงและบุคลากรที่ทำงานในแนวหน้า รวมถึงมีการตั้งเป้ากระจายวัคซีนโควิด-19 แก่ประชากร 50-60% ภายในปีนี้

ขณะที่การเปิดประเทศเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวนั้น หากมีความล่าช้าหรือไม่เป็นไปตามแผนจะเป็นความเสี่ยงขาลงต่อประมาณการเศรษฐกิจในปีนี้ โดยย้ำเตือนว่าการกลับประเทศอาจไม่ได้ส่งผลให้นักท่องเที่ยวเดินทางกลับเข้ามาทันที เพราะยังมีปัจจัยอื่น เช่น กังวลการติดเชื้อ ซึ่งอาจส่งผลให้นักท่องเที่ยวตัดสินใจไม่เดินทาง

ทั้งนี้ คาดว่าในปี 2564 จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในประเทศไทยราว 4-5 ล้านราย จากก่อนเกิดโควิด-19 ที่ระดับ 40 ล้านราย

เมื่อสอบถามถึงการดำเนินนโยบายการคลังของไทย นายเกียรติพงศ์ กล่าวว่า ประเทศไทยยังต้องดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อช่วยเหลือการใช้จ่ายของครัวเรือน รวมถึงช่วยเหลือภาคธุรกิจและบริษัทต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจหดตัว โดยปัจจุบันสถานการณ์การคลังของไทยยังมีพื้นที่ในการดำเนินนโยบาย จากระดับหนี้สาธารณะที่ 53% เพิ่มขึ้นจากก่อนโควิด-19 ที่ 43%

ขณะที่มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยในช่วงที่ผ่านมาค่อนข้างมีประสิทธิผล โดยมีขนาดค่อนข้างใหญ่ มีความรวดเร็วในการออกมาตรการที่เหมาะสม และมีการครอบคลุม ส่วนในระยะต่อจากนี้แนะนำกำหนดเป้าหมายกลุ่มที่ต้องการช่วยเหลือให้ตรงจุดมากขึ้น เพื่อป้องกันการขาดดุลทางการคลัง

ส่วนมาตรการช่วยเหลือธุรกิจผ่านมาตรการซอฟท์โลนและโกดังพักหนี้ เชื่อว่าเป็นนโยบายสำคัญเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจและภาคธุรกิจตั้งแต่รายเล็กไปจนถึงรายใหญ่ โดยเชื่อว่าการมีมาตรการที่เจาะกลุ่มเป้าหมายจะช่วยให้ธุรกิจที่ยังมีความสามารถแต่ขาดสภาพคล่องฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้

อย่างไรก็ดี มองว่างบประมาณเบิกจ่ายซอฟท์โลนที่ค่อนข้างน้อยจะเป็นอุปสรรคต่อโครงการ ขณะที่โกดังพักหนี้ยังติดตามรอดูรายละเอียดก่อนประเมินผลที่ได้รับต่อไป

"งบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยอยู่ที่ 6% ของจีดีพี ค่อนข้างใหญ่เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ สะท้อนว่าไทยมีพื้นที่ทางการคลังให้ความช่วยเหลือสูง โดยที่ระดับหนี้สาธารณะก็ยังไม่สูงเกินไป แต่ความเสี่ยงหลักอยู่ที่การใช้ที่อาจไม่เป็นไปตามเป้าหมายมากกว่า" นายเกียรติพงศ์ กล่าว

นอกจากนี้ ธนาคารโลกยังมีข้อแนะนำด้านนโยบายภาษี จากปัจจุบันไทยมีระดับการเก็บภาษีต่อจีดีพีลดลงก่อนช่วงเกิดโควิด-19 อยู่ที่ 17% จึงมองว่ามีโอกาสขยายฐานภาษีได้อีกมาก เช่น ภาษีที่ดินและภาษีมรดกที่ยังเก็บได้ค่อนข้างต่ำ รวมถึงมีข้อแนะนำต่อการพัฒนาการจัดเก็บภาษีของไทยให้เป็นระบบและเหมาะสมกับแต่ละกลุ่มมากขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายลดความเหลื่อมล้ำ