รับเทรนด์ 'ฟู้ดทรัค' อยากเปิด 'ร้านอาหาร' เคลื่อนที่ ต้องมีอะไรบ้าง?

รับเทรนด์ 'ฟู้ดทรัค' อยากเปิด 'ร้านอาหาร' เคลื่อนที่ ต้องมีอะไรบ้าง?

"โควิด" โอกาสทองของ "ฟู้ดทรัค" (Food Truck) ร้านขายอาหารเคลื่อนที่ที่กำลังเป็นโอกาสสำหรับ "อุตสาหกรรมอาหาร" ในสถานการณ์โรคระบาดที่พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป

สถานการณ์ "โควิด-19" วิกฤติโรคระบาดที่ทำให้ทั่วโลกได้รับผลกระทบ ทั้งวิถีชีวิต เศรษฐกิจ รวมไปถึงการแข่งขันของธุรกิจหลายอุตสาหกรรม รวมถึง "อุตสาหกรรมอาหาร" ในรูปแบบการขายแบบดั้งเดิมที่ปรับตัวไม่ทันพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป

ร้านอาหาร และผู้ให้บริการรายย่อยเอง จำเป็นจะต้องปรับกลยุทธ์ และการเข้าถึงสินค้า เนื่องจาก "การเว้นระยะห่างทางสังคม" หรือ "Social Distancing" ที่ทำให้ผู้บริโภคต้องงดใช้บริการนั่งรับประทานอาหารที่ร้าน หรือต้องลดจำนวนที่นั่งเพื่อเว้นระยะห่าง

ในช่วงที่ร้านอาหารสูญเสียโอกาสจากการลดจำนวนโต๊ะ จึงหันมาจาะกลุ่มลูกค้าด้วยการให้บริการ "ฟู้ดเดลิเวอรี่" แทน จนทำให้อัตราการเติบโตของฟู้ดเดลิเวอรี่เพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด

ข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ปริมาณการสั่งอาหารผ่านบริการ Food Delivery เติบโตกว่า 150% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 

นอกจากบริการส่งถึงบ้านแล้ว ยังมีอีกหนึ่งช่องทางที่เป็นโอกาสของบรรดาร้านอาหาร นั่นคือ "ฟู้ดทรัค" (Food Truck) สะท้อนจากมูลค่าตลาดที่เติบโตขึ้น 20% ในช่วงโควิดถึง 31 ต.ค. 63 

วินิจ ลิ่มเจริญ CEO & Founder บริษัท วี เชฟ ประเทศไทย จำกัด กล่าวในหลักสูตร Smart Restaurant Plus จัดโดย แม็คโคร โฮเรก้า อคาเดมี (Makro Horeca Academy: MHA) เกี่ยวกับภาพรวมการเติบโตของธุรกิจฟู้ดทรัคว่า ก่อนวิกฤติโควิด-19 ฟู้ดทรัคไม่ค่อยเป็นที่นิยมในประเทศไทยมากนัก เนื่องจากมีข้อจำกัดหลายเรื่อง เช่น พื้นที่ในการจอดรถอย่างถูกกฏหมาย สิ่งที่อำนวยพื้นฐาน อาทิ น้ำประปา ไฟฟ้า ฯลฯ 

แต่หลังจากช่วงโควิด-19 ฟู้ดทรัคกลับเป็นรูปแบบการขายเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากในช่วงที่มีมาตรการสกัดโควิด ต้องเว้นระยะห่าง เลี่ยงการพบปะสังคม ทำให้ร้านอาหารเคลื่อนที่เป็นทางเลือกในการวิ่งเข้าหาลูกค้าแทนที่จะรอลูกค้าเดินทางเข้ามาซื้อที่ร้าน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

การเปลี่ยนแปลงนี้เห็นได้ชัดเจนทั้งผู้ประกอบการร้านอาหารรายย่อยที่เริ่มปรับตัวเข้าหาฟู้ดทรัคมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน หรือแม้แต่ร้านอาหารขนาดใหญ่แบรนด์ต่างๆ ต่างมุ่งหน้าลงสนามเจาะกลุ่มเป้าหมายด้วยฟู้ดทรัคในแบบของตัวเอง เช่น

- ร้าน ส.ขอนแก่น เปลี่ยนผลิตภัณฑ์อาหารของตัวเองมาเป็นเมนูอาหารพร้อมรับประทาน
- ร้านกาแฟ Red Diamon กาแฟพรีเมียมผันตัวเองมาอยู่ในรถ ทว่าคงคุณภาพแบบพรีเมียมพร้อมเสิร์ฟได้แบบไม่ต้องไปถึงร้าน  
- ล่าสุด ร้าน BBQ Plaza (บาร์บีคิวพลาซ่า) เปิดตัว "GON Food ทัก" ขนเมนูอาหารในเครือ รวมทั้งเมนูใหม่ “GON เสียบไม้” และเมนูข้าวหน้าต่างๆ จำหน่ายในหมู่บ้าน "แสนสิริ" โครงการต่างๆ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการ Collaboration ร่วมกันของทั้งสองแบรนด์

สิ่งที่น่าสนใจในการเกิดขึ้นของฟู้ดทรัคในบ้านเรา ไม่ใช่แค่การปรับตัวให้อยู่รอดตามเทรนด์ชั่วครั้งชั่วคราว แต่เป็นการพัฒนาธุรกิจเพื่อแบ่งส่วนแบ่งตลาดร้านอาหารรูปแบบใหม่ที่แนวโน้มการเติบโตจริงในอนาคต

สะท้อนจากข้อมูลการเติบโตของฟู้ดทรัคในบ้านเรา จากการเก็บข้อมูลของ "กรมพัฒนาธุรกิจการค้า" ที่พบว่า ฟู้ดทรัคทั่วประเทศ 2,500 ราย มูลค่าเศรษฐกิจรวม 2,600 ล้านบาท อัตราการเติบโตของธุรกิจ เฉลี่ย 20% ต่อปี และมีรายได้เฉลี่ย/คัน/ปีประมาณ 1,056,000 บาท (4,000 บาท / 22 วัน / 12 เดือน)

จึงอาจเรียกได้ว่าช่วงโควิด คือโอกาสทองของธุรกิจฟู้คทรัค ในประเทศไทยแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน 

  

  •  อยากเริ่มต้นทำ "ฟู้ดทรัค" ต้องมีอะไรบ้าง 

ข้อมูลจาก กรมพัฒนาธุรกิจการค้า (ณ วันที่ 31 ต.ค. 64) ระบุว่า การเริ่มต้นทำฟู้ดทรัคที่เป็นรถใหม่ 1 คัน จะต้องใช้เงินเริ่มต้น 5 แสนบาทถึง 1 ล้านบาท ซึ่งขึ้นอยู่กับอุปกรณ์ต่างๆ ที่ต้องใช้แตกต่างกันออกไปตามประเภทอาหาร และรูปแบบธุรกิจ

161665050975

แม้จะมีข้อดีอยู่หลายด้าน แต่การจะเริ่มต้นทำฟู้ดทรัคสักคัน ก็จำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงเป้าหมายและกลยุทธ์ทางธุรกิจของตนเอง รวมถึงกำลังทรัพย์ เพื่อให้การ "ลงทุน" ธุรกิจอาหารเคลื่อนที่ สามารถขับเคลื่อนธุรกิจต่อไปได้ในระยะยาว ไม่ใช่ทำตาม "เทรนด์" แล้วทุนจม

การเริ่มต้นอาจทำได้จากการสำรวจธุรกิจของตัวเองว่ามีกลุ่มเป้าหมายกลุ่มไหน และการลงทุนทำฟู้ดทรัคจะสร้างโอกาสใดให้แบรนด์บ้าง รวมไปถึงการวางแผนการขาย ที่ทำให้มีโอกาสเติบโตในระยะสั้น และระยะยาวที่ทำให้คุ้มค่ากับการลงทุน

ขณะเดียวกันก็ต้องศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการตั้งร้าน ขออนุญาต ฯลฯ เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างถูกต้อง และไม่ต้องมาเหนื่อยทีหลัง!

ที่มา: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย