สร้างระบบเศรษฐกิจสังคมใหม่ ยุควิกฤติโควิด-19

สร้างระบบเศรษฐกิจสังคมใหม่ ยุควิกฤติโควิด-19

เปิดบทวิเคราะห์ปัญหาและแนวทางปฏิรูปประเทศไทยในยุควิกฤติโควิด-19 รวมถึงเปิด 6 แนวทางการปฏิรูประบบเศรษฐกิจทางเลือกใหม่ ที่จะเข้ามาช่วยสร้างงานและแก้ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ

รัฐบาลนี้ยังคงแก้ปัญหาแบบแจกเงิน (คืนภาษี) ให้คนไปบริโภค เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่จะได้ผลน้อย เพราะยังคิดในกรอบการพัฒนาแบบพึ่งพาทุน การค้า การบริการ (ท่องเที่ยว) จากต่างชาติแบบเก่า ไม่ได้แก้ปัญหาเชิงระบบโครงสร้าง เช่น สร้างงานใหม่ ปฏิรูปการกระจายทรัพย์สินและทรัพยากรอย่างแท้จริง ผมเสนอให้อ่านหนังสือเล่มใหม่ของผม ชื่อแบบเดียวกับบทความนี้ พิมพ์โดยสถาบันวิชาการ 14 ตุลาคม

หนังสือเล่มนี้วิเคราะห์ปัญหาและแนวทางปฏิรูปประเทศไทยในยุควิกฤติโควิด-19 ใน 4 ด้านใหญ่ๆ คือ 1.ปฏิรูปเศรษฐกิจและระบบนิเวศ 2.ปฏิรูปการเมืองและการบริหารจัดการสังคม 3.ปฏิรูปการศึกษาและสังคมด้านต่างๆ 4.ปฏิรูปวิธีคิด ทัศนคติ อุปนิสัยของพลเมือง โดยเน้นข้อ 1 มากกว่าเพื่อน 

ใช้แนวทางการวิเคราะห์แนวเศรษฐศาสตร์การเมือง และสังคมศาสตร์แบบพหุวิทยาการ วิเคราะห์ปัญหารากเหง้าของระบบโครงสร้างเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมวัฒนธรรม และเสนอทางเลือกใหม่ที่ต่างไปจากกรอบคิดเศรษฐศาสตร์แบบทุนนิยมอุตสาหกรรมและการเมืองประชาธิปไตยผ่านตัวแทนแบบสหรัฐ อังกฤษ

แนวทางสร้างระบบเศรษฐกิจสังคมใหม่ ประกอบไปด้วยเศรษฐศาสตร์แนวเพื่อระบบนิเวศ สังคมนิยมประชาธิปไตย ชุมชนนิยม ประชาธิปไตยทางตรง การกระจายอำนาจ ทรัพยากรและประชาธิปไตยที่ประชาชน ชุมชนมีส่วนกำหนดมากขึ้น 

การพัฒนาเศรษฐกิจที่เน้นความสมดุล ความเป็นธรรม คุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม ความเจริญงอกงามทางจิตใจมากกว่าการเติบโตทางวัตถุ แนวทางแก้ปัญหาความขัดแย้งสายกลางที่มีลักษณะปฏิรูป ไม่สุดโต่งไปทางขั้วใดขั้วหนึ่ง ขั้วจารีตนิยม อำนาจนิยม กษัตริย์นิยม หรือขั้วเสรีนิยมหัวรุนแรงค่อนไปทางอนาธิปไตย

ในยุคสมัยที่นักเศรษฐศาสตร์และผู้นำส่วนใหญ่ของไทยยังคิดอยู่ในกรอบการพัฒนาประเทศตามแนวทุนนิยมอุตสาหกรรมข้ามชาติ และคนจำนวนมากยังมีความคิดความเชื่อทางการเมืองแบบ 2 ขั้วสุดโต่ง เลือกข้างใดข้างหนึ่งด้วยความเชื่อและศรัทธา มากกว่าด้วยเหตุผลและข้อมูลอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ หนังสือเล่มนี้เสนอทางเลือกใหม่ ซึ่งอาจจะเรียกว่าางเลือกสายกลางแนวปฏิรูป ที่พยายามวิเคราะห์โลกตามความเป็นจริงมากกว่าตามความเชื่อ

วิธีการคิดวิเคราะห์ใช้แนวเศรษฐศาสตร์การเมือง (และสังคมวิทยา) เชิงวิพากษ์ เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาและปฏิรูปเปลี่ยนแปลงสังคมไทย (รวมทั้งเศรษฐกิจและการเมือง) ให้เป็นสังคมที่เป็นธรรม อนุรักษ์ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม และให้คุณค่าต่อความเจริญงอกงามทางจิตใจที่น่าอยู่ขึ้นสำหรับคนส่วนใหญ่

ตัวอย่างการวิเคราะห์เรื่องจะสร้างงานและแก้เศรษฐกิจตกต่ำได้อย่างไร

ปัญหาโรคระบาดโควิด-19 ทำให้การลงทุนการค้า การเดินทางระหว่างประเทศหดตัวอย่างรุนแรงอย่างน้อย 1-2 ปี การคิดแก้ปัญหาโดยใช้กรอบความคิดเดิมคือ ทุนนิยมอุตสาหกรรมข้ามชาติแบบรัฐบาลมุ่งใช้เงินอุดหนุนธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวกับต่างชาติอื่นๆ และการแจกเงินประชาชนเพื่อการบริโภค เป็นการบรรเทาปัญหาชั่วคราวระยะสั้น ที่ไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำของไทยในระยะกลางและระยะยาวได้น้อย

เราต้องกล้าคิดนอกกรอบ-กล้าปฏิรูประบบเศรษฐกิจแนวใหม่ ลดการพึ่งพาการลงทุน ตลาดของทุนนิยมข้ามชาติ หันมาพึ่งพาแรงงาน ทรัพยากร ตลาดภายในประเทศมากขึ้น ปฏิรูปโครงสร้างกระจายทรัพย์สิน/รายได้ให้เป็นธรรม และพัฒนาแนวฟื้นฟูอนุรักษ์ธรรมชาติ สภาพแวดล้อม (Fair and Green) เน้นเศรษฐกิจแนวพึ่งตนเองระดับประเทศเพิ่มขึ้น การสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่ในแนวนี้ จะสร้างงานใหม่และฟื้นฟูเศรษฐกิจได้จริงได้มากกว่าการหวังพึ่งการลงทุน การค้า การท่องเที่ยวจากต่างประเทศ

แนวทางการปฏิรูประบบเศรษฐกิจทางเลือกใหม่ที่สำคัญ มีอาทิเช่น

1.พัฒนาตามแนวทางเศรษฐศาสตร์เพื่อระบบนิเวศ (Ecological Economics) พรรคกรีน และพรรคสังคมประชาธิปไตย เน้นการกระจายการพัฒนาอย่างเป็นธรรม และความเจริญงอกงามของคุณภาพชีวิตและสังคม

ปฏิรูปที่ดิน เกษตร ป่าไม้ นำที่ดินรกร้างว่างเปล่า ที่ราชพัสดุ (กรมธนารักษ์, ทหาร) และที่ดินสาธารณะ (กรมที่ดิน, อปท.) ที่มีถึงราว 20 ล้านไร่ มาจัดสรรเป็นแปลงละ 1 ไร่ให้ประชาชน 10 ล้านครอบครัวทำการเกษตรแบบผสมผสาน เกษตรอินทรีย์ วนเกษตร ไร่นาสวนผสม 

โดยรัฐสนับสนุนในเรื่องการระบบเก็บกักและจ่ายน้ำ และการลงทุนพื้นฐาน แบบทำให้ฟรีและหรือให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ พัฒนาเครื่องทุ่นแรงเพื่อการเกษตรขนาดเล็กที่เหมาะสม ฝึกอบรมความรู้ทักษะ ฯลฯ ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกต้นไม้ยืนต้นที่มีค่าในระยะยาวควบคู่ไปกับการทำเกษตรผสมผสานเพื่อการกินอยู่ และหารายได้เพื่อเลี้ยงตนเองในระยะสั้นได้ รัฐบาลอาจออกพันธบัตรเพื่อการปลูกป่า และเอาเงินส่วนนี้ไปให้เกษตรกรกู้ระยะยาวดอกเบี้ยต่ำเพื่อสนับสนุนการปลูกป่าไม้ทางเศรษฐกิจในหลายรูปแบบได้

2.ปฏิรูประบบการคลัง งบประมาณ เก็บภาษีทรัพย์สิน รายได้จากทรัพย์สินในอัตราก้าวหน้า กระจายทรัพยากร รายได้ การศึกษา การสาธารณสุข การมีงานทำ ไปสู่ประชาชนอย่างทั่วถึงเป็นธรรมเพิ่มขึ้น ทำให้ประชาชนมีผลิตภาพ รายได้ อำนาจซื้อเพิ่มขึ้น ตลาดภายในประเทศที่มีประชากร 68 ล้านคน (พอๆ กับฝรั่งเศส อังกฤษ) จะใหญ่ขึ้นกว่าปัจจุบันได้หลายเท่า

3.ลดขนาดเมืองใหญ่และการผลิตแบบรวมศูนย์ขนาดใหญ่ กระจายอำนาจ ทรัพยากร งบประมาณ ความรู้ สู่จังหวัด/ท้องถิ่น ทำให้ชุมชนขนาดเล็กพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจสังคมได้มากขึ้น ชุมชนสามารถผลิต/บริโภคอาหารและปัจจัยที่จำเป็นต่อการดำรงชีพได้เอง หรือค้าขายแลกเปลี่ยนในระยะใกล้ๆ เพิ่มการจ้างงานและผลผลิต ลดการขนส่งเส้นทางไกลเพื่อลดการใช้พลังงาน ลดการสร้างมลภาวะ และเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชน

4.สร้างเศรษฐกิจภาคเพื่อส่วนรวมสำหรับทรัพยากรและกิจการที่สำคัญต่อส่วนรวมในหลายรูปแบบ เช่น รัฐวิสาหกิจที่บริหารอย่างมีประสิทธิภาพแบบเอกชน (ตัวอย่างในสิงคโปร์ ยุโรปเหนือ) ระบบโรงงานธุรกิจที่คนงานถือหุ้น ร่วมบริหาร (เยอรมนี และ ฯลฯ) ระบบสหกรณ์ผู้ผลิตผู้บริโภค (สเปน ญี่ปุ่น ฯลฯ) องค์กรแบบร่วมลงทุนร่วมบริหารจัดการโดยประชาชนเช่นนี้ จะคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมและแบ่งปันกันอย่างเป็นธรรมมากกว่าธุรกิจเอกชนที่เน้นให้กำไรอยู่ที่นายทุนเอกชนฝ่ายเดียว

5.ส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรม สร้างแรงจูงใจ ความมีประสิทธิภาพ การคิดค้นใหม่ของธุรกิจขนาดย่อม ควบคุม/จำกัดการผูกขาด/กึ่งผูกขาดของธุรกิจใหญ่ กิจการบางอย่างที่ต้องลงทุนสูง หรือทำเป็นขนาดใหญ่และมีประสิทธิภาพได้ ต้องทำในรูปของสหกรณ์ บริษัทมหาชนที่ประชาชนถือหุ้นใหญ่ หรือรัฐวิสาหกิจที่เน้นการบริหารแบบเอกชน ป้องกันการเอาเปรียบแรงงาน ผู้บริโภค สิ่งแวดล้อม และธุรกิจใหญ่ที่กำไรสูงกว่าธุรกิจขนาดย่อมควรเสียภาษีในอัตราสูงกว่า

6.สร้างระบบสังคมสวัสดิการที่ดี ลงทุนด้านการศึกษา การสาธารณสุข การพัฒนาทางสังคม ศิลปวัฒนธรรม การกีฬา การพักผ่อนหย่อนใจ ฯลฯ ที่มีคุณภาพ ประชาชนทั้งประเทศเข้าถึงได้ เพราะถ้าปล่อยตามกลไกตลาดทุนนิยม คนจนส่วนใหญ่จะเข้าไม่ถึง