สธ. ร่วมกับ กษ. ส่งเสริมกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจเพื่อสร้างรายได้

สธ. ร่วมกับ กษ. ส่งเสริมกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจเพื่อสร้างรายได้

กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขานรับนโยบายรัฐบาลให้กัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้แก่ประเทศ

นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ เปิดเผยว่า ตามนโยบายของรัฐบาลมุ่งสนับสนุนให้เกษตรกรมีรายได้จากผลผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพ รวมทั้งการศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการใช้กัญชา กัญชง และพืชสมุนไพรใน ทางการแพทย์ เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและสร้างรายได้ให้ประชาชน ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ได้เร่งดำเนินการเพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล โดยมี “นโยบายกัญชาเพื่อการแพทย์และกัญชงเพื่อเศรษฐกิจ” มุ่ง การใช้ประโยชน์กัญชงให้คุ้มค่า และกำกับดูแลผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพมาตรฐาน ปลอดภัย และเป็นไปตามกฎหมาย รวมถึงส่งเสริมการใช้เพื่อประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ที่กฎหมายกำหนด และเพื่อให้นโยบายของรัฐบาล ในการสนับสนุนกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจประสบผลสำเร็จ กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้ร่วมกันหารือแนวทางการพิจารณาอนุญาต กำกับดูแลกัญชงอย่างครบวงจร

161649172868

จากกรณีที่มีกระแสข่าวว่ามีการหลอกขายเมล็ดพันธุ์กัญชงให้แก่เกษตรกรรายย่อยนั้น ทางกระทรวงสาธารณสุขมีความเป็นห่วงอย่างยิ่ง ได้มีการประชาสัมพันธ์เพื่อเตือนประชาชนและเกษตรกรอย่าหลงเชื่อการชักชวนดังกล่าวไปแล้ว ซึ่งคณะกรรมการฯ มีหน้าที่ให้ความเห็นชอบในการอนุญาตปลูก ผลิต นำเข้า ส่งออก และได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อช่วยกลั่นกรองและเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการในการพิจารณาเห็นชอบ

นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวเพิ่มเติมว่า กัญชงเป็นพืชที่นำไปใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน เช่น เปลือก ลำตัน เส้นใย ใช้ทำเครื่องนุ่งห่ม วัสดุก่อสร้าง เสื้อเกราะ ช่อดอก นำมาสกัดให้ได้สาร CBD ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ อาหาร เครื่องสำอาง เมล็ดกัญชงและน้ำมันเมล็ดกัญชง ใช้แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร และเครื่องสำอาง ทั้งนี้ ตามกฎกระทรวงเปิดกว้างให้กับผู้ขออนุญาตซึ่งเป็นประชาชน หรือเกษตรกร บุคคลทั่วไป หน่วยงานภาครัฐ หรือหน่วยงานภาคเอกชน สามารถมาขออนุญาตได้ โดยผู้ประสงค์จะขออนุญาตปลูก หากพื้นที่ปลูกอยู่ในกรุงเทพฯ สามารถยื่นขออนุญาตที่ อย. ส่วนต่างจังหวัดยื่นได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตรวจประเมินพื้นที่

161649176662

ทั้งนี้ พื้นที่ปลูกต้องมีหลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองของผู้ขออนุญาตที่ถูกต้องตามกฎหมาย เช่น โฉนดที่ดิน สัญญาเช่าที่ดิน และตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม 2564 ที่กฎกระทรวงกัญชงมีผลบังคับใช้ ทั่วประเทศมีผู้มายื่นขออนุญาตปลูกแล้วจำนวนทั้งสิ้น 18 ราย พื้นที่ประมาณ 900 ไร่ โดยมีทั้งเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการภาคเอกชน

นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเข้ามาดูแลในเรื่องความเสี่ยงของพี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายกับพี่น้องเกษตรกร โดยจะเข้ามาดูแลตั้งแต่เรื่องมาตรฐานของเมล็ดพันธุ์กัญชง ทั้งในส่วนของผู้นำเข้า ผู้จำหน่ายและผู้ปลูก การวิจัยสายพันธุ์ที่เหมาะสม รวมถึงการให้ความรู้ทางวิชาการเกี่ยวกับระบบการเพาะปลูกที่มีความเหมาะสม ในแต่ละสภาพพื้นที่ การดูแลรักษาในระหว่างการปลูก ตลอดจนการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการอนุญาตการปลูกกัญชา ซึ่งเราจะทำหน้าที่ประเมินความเหมาะสมในเบื้องต้นแล้วส่งต่อให้กับคณะกรรมการในระดับจังหวัดพิจารณา ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นเรื่องหลัก ๆ ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเข้ามาดูแล

161649178099