'สะแกราช' พื้นที่ 'เขตสงวนชีวมณฑล' แหล่งเรียนรู้เพื่อคนยุคโลกร้อน 

'สะแกราช' พื้นที่ 'เขตสงวนชีวมณฑล' แหล่งเรียนรู้เพื่อคนยุคโลกร้อน 

"สะแกราช" เป็นป่าดิบแล้งที่สมบูรณ์ ที่ UNECSO ได้ขึ้นทะเบียนให้เป็น "เขตสงวนชีวมณฑล" (Biosphere Reserves) แห่งแรกของไทย

ทุกวันนี้ปฏิเสธไม่ได้วา ทุกประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญ "สภาวะโลกร้อน"  ภัยพิบัติน้ำแล้ง น้ำหลาก ตลิ่งพัง ดินถล่ม ไฟป่า ฝุ่นจิ๋ว น้ำทะเลหนุนสูง รวมทั้ง ฤดูกาลที่แปรปรวน โรคระบาด ฯลฯ พบเป็นข่าวบ่อยและรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ บั่นทอนความมั่นคงในการดำรงชีวิต ทรัพย์สิน และการดำเนินธุรกิจของทุกอาชีพ

  • "สะแกราช" แหล่งเรียนรู้ "เขตสงวนชีวมณฑล" แห่งแรกของไทย

ภัยเหล่านี้เป็นเพียงสิ่งที่ใกล้ตัวของมนุษย์ แต่ยังปรากฎการณ์หลาย ๆ อย่างที่กำลังเกิดขึ้นกับพืชและสัตว์ป่าในธรรมชาติ เพียงแค่ว่า เราอาจไม่ได้รับรู้ ไม่ทันสังเกต หรืออาจยังไม่เข้าใจ เพื่อถ่ายทอดปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นจาก"สภาวะโลกร้อน"

นายจิรวัฒน์ ตั้งกิจงามวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการบริษัท ดีสวัสดิ์ จำกัด และนายกสมาคมธุรกิจไม้ พร้อมครอบครัวเป็นตัวแทนไปถ่ายทอดเรื่องราว "สภาวะโลกร้อน" สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อม "สะแกราช" อ.วังน้ำเขียว จ. นครราชสีมา 

161648916837

นายจิรวัฒน์  เล่าว่า เพียง 4 ชั่วโมงจากกรุงเทพฯ ก็ถึงสถานีวิจัยฯ "สะแกราช" และมีความพร้อมที่จะเรียนรู้กับความรู้ต่างๆ และเรื่องราวของป่า "สะแกราช"ป่าดิบแล้งที่สมบูรณ์ ที่ UNECSO ได้ขึ้นทะเบียนให้เป็น “เขตสงวนชีวมณฑล" (Biosphere Reserves) แห่งแรกของไทย เมื่อ พ.ศ. 2519 และถัดมาประเทศเรามีเขตสงวนชีวมณฑลเพิ่มขึ้นอีก 3 แห่ง คือ ป่าต้นน้ำแม่สา-คอกม้า จ.เชียงใหม่ ป่าสักห้วยทาก จ.ลำปาง และป่าชายเลน จ.ระนอง รวมเป็น 4 แห่ง 

  • ค่ายวิทยาศาสตร์ "สะแกราช" ห้องเรียนลด "สภาวะโลกร้อน"

นายสุรชิต แวงโสธรณ์ ผู้อำนวยการสถานีวิจัยฯ สะแกราช บอกว่า สถานีฯ เป็น "แหล่งเรียนรู้"ค่ายวิทยาศาสตร์ แบบห้องปฏิบัติการด้านธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ โดยเรียนรู้และสัมผัสจริง (Learning by doing) และเป็นต้นแบบชีวิตประจำวันเพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เช่น การลดการใช้น้ำ-ไฟฟ้า-กระดาษ การตั้งอุณหภูมิแอร์ที่พอเหมาะ งดการเดินทางที่ไม่จำเป็น และการใช้วัสดุก่อสร้างที่เป็นชนวนความร้อน และเป็นพื้นที่ศึกษาของนักวิจัยชาวไทยและทั่วโลก ปัจจุบันมีผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์แล้วไม่ต่ำกว่า 500 เรื่อง 

นายจิรวัฒน์ กล่าวต่อว่าเชื่อว่าคนทั่วไปไม่รู้เลยว่า ป่า "สะแกราช" ต่างจากป่าใน "มรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่" อย่างไร พอมาจึงรู้ว่า ที่นี่ไม่มีป่าดิบชื้นเลย มีแต่ป่าดิบแล้งกว่า 60% นอกนั้นเป็น ป่าเต็งรัง ป่าปลูก ทุ่งหญ้า และป่าไผ่

ลักษณะของป่าเต็งรัง คือพื้นป่าโปร่งโล่ง มีต้นปรงขึ้นแซมกับกอหญ้าเพ็ก ในฤดูแล้งใบไม้ที่ล่วงหล่นและหญ้าที่แห้ง มีเกือบ 9,000 ตัน หากจะขนออกจากป่าต้องใช้รถบรรทุก 30 ตันถึง 300 คัน นักวิชาการจึงลดเชื้อเพลิงด้วย การชิงเผา (Prescribed burning) คือ จำกัดพื้นที่และกำหนดวันเวลา ควบคุมไม่ให้ไฟลุกลาม และให้มั่นใจว่า ความร้อนและควันที่เกิดขึ้นอยู่ในระดับที่ธรรมชาติดูดซับ (Absorb) ได้ เพื่อไม่ให้เกิดผลที่เป็นอันตรายกับมนุษย์เรา

161648916815

ที่น่าทึ่งอีกอย่าง คือ งานวิจัยงูเห่าของชาวตะวันตก เขาเลือกสัตว์ที่คนไม่ชอบและเชื่อว่ามีอันตราย โดยติดสัญญานตามดูการใช้ชีวิตของงูเห่าและพบว่า ที่จริงงูเห่าใช้ชีวิตอยู่ใกล้ ๆ ชุมชน เพราะมีอาหาร มีน้ำ ขอเพียงคนและหมาไม่รบกวนไม่ทำร้ายเขา งูเห่าก็มีความสุข

ในตอนค่ำ ครอบครัว ตามนักวิจัยไปสำรวจจนได้พบ ตุ๊กแกป่าดงพญาเย็น ที่พบได้เฉพาะท้องที่นี่เท่านั้น และเราได้รู้ว่า ความแปรปรวนของอากาศทำให้จำนวนแมลงในป่าลดลง ซึ่งเป็นเรื่องน่าวิตกมาก เพราะถ้าแมลงลดลง กบ เขียด นก ค้างคาว จะมีอาหารน้อยลงด้วย คือ ห่วงโซ่อาหารของโลกจะไม่มั่นคงทันที

รุ่งเช้าของวันถัดมา ได้เห็น ต้นเคี่ยม อายุ 400 กว่าปี ยืนต้นยายเพราะภาวะแล้งที่ยาวนาน เราได้เห็น บ่อน้ำที่คนสร้างไว้ให้สัตว์ป่าได้มีน้ำกิน ปรากฏการณ์เหล่านี้แม้จะไม่เป็นข่าวพาดหัวใหญ่โต แต่ล้วนน่ากังวลมาก ๆ เพราะมันใกล้ตัวเรามาก ทุกอย่างเกี่ยวพันกันเหมือน เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว

ป่า "สะแกราช" นี้เป็นยิ่งกว่าป่าที่อยู่รอบนอกของป่า "มรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่" เพราะมีข้อมูลให้เรียนรู้ ที่สำคัญมันคือส่วนหนึ่งของแนวคิดเพื่อตอบปัญหาคนกับป่าที่ดีมาก เพราะภายในเขตสงวนชีวมณฑลสะแกราช ที่มีขนาดรวม 821 ตร.กม.

 ประกอบด้วย 3 โซน คือ โซนแกนกลาง (Core Zone) เป็นป่าธรรมชาติในสถานีวิจัยฯ อนุญาตใช้ได้เฉพาะการเรียนรู้และวิจัยเท่านั้น ถัดมาเป็นโซนกันชน (Buffer Zone) เป็นป่าธรรมชาติผสมกับป่าปลูกฟื้นฟูขึ้น อนุญาตให้ใช้ของป่าได้ภายใต้กติกา ถัดมาเป็นโซนรอบนอก (Transition Zone) คือ บริเวณชุมชน ตลาดร้านค้า ถนนหนทาง และพื้นที่เกษตรกรรมต่าง ๆ อันเป็นวิถีชีวิตของผู้คนในอำเภอวังน้ำเขียว ที่ควรเป็นไปอย่างเป็นมิตรกับระบบนิเวศและธรรมชาติ นั่นเอง  

"หลังจากที่ได้ไปป่าสะแกราชกับครอบครัว ผมเห็นภาพชัดขึ้นว่า มนุษย์เราจะอยู่บนโลกได้นั้น พวกเราต้องไม่เพียงแค่ช่วยกันอนุรักษ์ป่าธรรมชาติเท่านั้น แต่เราต้องมาปรับพฤติกรรมของเราให้เข้าสู่โหมดลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ เริ่มจากการลดการใช้น้ำ ลดการใช้พลังงานปิโตรเลียม ลดการใช้วัสดุไม่ย่อยสลาย ลดการใช้สิ่งของแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ลดการเดินทางที่ไม่จำเป็นนายจิรวัฒน์ กล่าว

161648916887

ที่สำคัญ คือ ต้องเพิ่มต้นไม้และพื้นที่ไม้เศรษฐกิจ เพื่อนำเนื้อไม้มาใช้เพราะไม้สะสมคาร์บอนไว้ ไม้งอกและเติบโตทดแทนตามธรรมชาติ ไม้ใช้ง่าย ทิ้งก็ผุคืนธรรมชาติ ไม้จึงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าวัสดุอื่น ๆ เฟอร์นิเจอร์ไม้ โต๊ะ ตู้ ตั่ง เตียง เสา ฝา ล้วนเก็บคาร์บอนไว้บนผิวโลก สังคมไทยต้องปรับความเชื่อว่าการใช้ไม้คือการทำลายป่า

ที่จริงแล้วเมื่อคนหันมาใช้ไม้ก็จะส่งเสริมให้คนปลูกไม้มากขึ้น ขอให้มาร่วมกันตรวจสอบว่า ไม้ในตลาดของไทยปลอดนำไม้จากป่าธรรมชาติมาสวม มีการรองรับความถูกต้องของไม้ตามกฎหมาย มีการตัดแล้วปลูกทดแทนอย่างต่อเนื่อง สมาคมธุรกิจไม้เห็นความสำคัญดังกล่าว จึงจัดตั้งบริษัทหว่านเมล็ดปลูกต้นไม้ จำกัดขึ้น เพื่อให้คำปรึกษาให้ผู้มีที่ดิน สามารถตัดสินใจลงทุนได้ดีและเหมาะสมมากขึ้น เพื่อให้การปลูกป่าสร้างเนื้อไม้ของไทยเกิดเป็นรูปธรรม จับต้องเป็นต้นไม้และตัวเงินได้จริงนั่นเอง