ทางเลือก ทางรอด การรักษา‘มะเร็งลำไส้ใหญ่’

ทางเลือก ทางรอด การรักษา‘มะเร็งลำไส้ใหญ่’

ถ้ามาถึงจุดที่ป่วยด้วย"มะเร็งลำไส้ใหญ่" การรักษามีหลายทางเลือก ขึ้นอยู่กับระยะของโรคและสมรรถภาพร่างกาย รวมถึงเหตุปัจจัยอื่นๆ ลองอ่านความเห็นของแพทย์กลุ่มนี้

ว่ากันว่า อัตราการป่วยด้วย มะเร็งลำไส้ใหญ่ ทั่วโลกมีจำนวนมากขึ้น ในเดือนมีนาคมนี้ ทางคณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จึงอยากรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักรู้และเข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น จึงได้จัดเสวนาหัวข้อ มะเร็งลำไส้ใหญ่  ใส่ใจ ป้องกันรักษาได้ 

เนื่องจากสถิติในเมืองไทย พบว่ามีผู้ป่วยรายใหม่ 34 รายต่อวัน หรือประมาณ 12,467 รายต่อปี มะเร็งชนิดนี้พบมากเป็นอันดับ 3 ของผู้ชายไทย และอันดับ 4 ผู้หญิงไทย มีสถิติการเสียชีวิตวันละ 15 ราย หรือปีละ 5,476 ราย 

ระยะการป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่มี 4 ระยะด้วยกัน คือ 

-ระยะ1-2 ก้อนมะเร็งยังอยู่ในผนังลำไส้ ไม่แพร่กระจาย อาการน้อยหรือไม่มีอาการอะไรเลย

-ระยะ 3 แพร่กระจายต่อมน้ำเหลืองและรอบๆ ลำไส้ การรักษาจะยากขึ้น

-ระยะ 4 แพร่กระจายไปยังตับ กระดูก ลำไส้และอวัยวะอื่นๆ 

ถ้าป่วยแล้ว มีทางเลือกการรักษาอย่างไร  

อ.นพ.ฐิติเทพ ลิ่มวรพิทักษ์ หน่วยศัลยศาสตร์สำไส้ใหญ่และทวารหนัก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เล่าถึงสัญญาณเตือนโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ว่า สามารถตรวจพบมะเร็งตั้งแต่ระยะต้นๆ ช่วงนั้นอาการยังน้อยมากหรือไม่มีอาการเลย

"อาการที่พบคือถ่ายเป็นเลือด แต่ไม่เฉพาะเจาะจง อาจเป็นเลือดสด มูกก้อน  แต่ไม่ใช่ว่า ถ่ายเป็นเลือดจะเป็นมะเร็งสำไส้ใหญ่ อาจเป็นริดสีดวงทวาร ต้องมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ด้วย อาทิ ขับถ่ายไม่ปกติ แต่ท้องผูกอาจไม่เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ต้องดูว่า ถ้าสามสี่วันถึงจะถ่าย และถ่ายลำบากต้องเบ่งใช้แรงหรือมากกว่านั้น ปวดถ่ายเป็นน้ำ ท้องเสียกระปริกระปรอย ทั้งๆ ที่ไม่ได้กินอาหารผิดปกติ ท้องผูกสลับท้องเสีย ที่สังเกตได้คือ มีอุจจาระลีบเล็ก จากที่เคยมีอุจจาระเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 เซนติเมตร"

อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะต้น คุณหมอ อธิบายว่า อาจไม่ได้ถ่ายเป็นเลือดสดให้เห็นชัดเจน จะมีอาการเหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย หรือบางคนความเข้มข้นของเลือดต่ำลง ก็ต้องสงสัยแล้ว มะเร็งลำไส้ใหญ่อาจทำให้เกิดเลือดออกทางเดินอาหารแบบหลบซ่อน ทำให้ดูซีด

"อาการอีกอย่างคือ ปวดท้องเรื้อรัง อืดแน่นท้อง บางคนก้อนมะเร็งโตมากก็อาจจะปวดอักเสบ หรือรุนแรงกว่านั้น มีภาวะอุดตันจนลำไส้ปริก สำไส้แตก คลำเจอก้อนหน้าท้อง ถ้ามีก้อนอยู่ในลำไส้ จะมีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด ไม่ค่อยอยากกิน ตัวซีด อาการแบบนี้ก็เป็นสัญญาณเตือน"

แนวทางการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่แต่ละคนจึงไม่เหมือนกัน อ.พญ.นุสรา ภาคย์วิศาล ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ โรคมะเร็งครบวงจร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เล่าว่า ก่อนอื่นต้องคำนึงถึงตัวโรคมะเร็ง ระยะที่เป็น สมรรถภาพความแข็งแรงของผู้ป่วย และโรคร่วม

ในแง่ระยะของโรค หากพิจารณาจากชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยาและภาพเอ็กซเรย์ ต้องดูว่า 

ข้อ 1. ก้อนมะเร็งลงไปลึกถึงระดับชิ้นไหนเยื่อบุลำไส้

ข้อ 2. การกระจายไปต่อมน้ำเหลืองข้างเคียง

ข้อ 3, การกระจายไปยังตับ ปอด

การรักษาแตกต่างกันตามระยะ มีทั้งการผ่าตัดลำไส้หรือก้อนมะเร็ง,การให้เคมีบำบัด,ฉายรังสีเสริมก่อนผ่าตัด เมื่อแพร่กระจายเยอะจะมีการให้ยาเคมีบำบัด

"การผ่าตัดก้อนมะเร็ง อาจเพิ่มโอกาสในการหายขาด ระยะของโรคในอัตราการรอดชีพที่ 5 ปี ถ้าเจอผู้ป่วยระยะต้น อัตราการรอด 90.2 เปอร์เซ็นต์ ระยะลุกลามเฉพาะที่อัตรารอดชีวิต 71.8 และระยะแพร่กระจาย อัตราการรอดชีพลดลงที่ 14.3 เปอร์เซ็นต์”คุณหมอนุสรา เล่า

คำถามที่แพทย์ช่วยกันตอบ

หากใช้น้ำมันกัญชา ควบคู่ไปกับการรักษาแผนปัจจุบันจะได้ผลไหม 

กัญชายังใช้รักษาไม่ได้ แต่ใช้ควบคู่ได้ ทำให้นอนหลับ ลดความปวด ต้องใช้อย่างระมัดระวังในความดูแลของแพทย์ เราพบว่าสารในกัญชาอาจมีผลกับยาที่กิน อาจลดประสิทธิภาพ เรื่องนี้ต้องปรึกษาแพทย์

ยามุ่งเป้ารักษามะเร็ง ต่างจากยาเคมีบำบัดอย่างไร

ยาเคมีบำบัด ฆ่าเซลล์แบ่งตัว ทั้งเซลล์ดีและเซลล์ร้าย จะโดนผลกระทบทั้งหมด อาจทำให้ผมร่วง มีปัญหาทางเดินอาหาร แต่ยามุ่งเป้าจะใช้เฉพาะเจาะจง ผลต่อระดับโมเลกุลเฉพาะเซลล์มะเร็ง มีประโยชน์ใช้ควบไปกับเคมีบำบัด ทำให้ผลตอบสนองดีขึ้น ถ้าเข้าถึงยาได้ ก็จะทำให้คนไข้รอดชีวิตได้

ยามุ่งเป้าใช้อย่างไร

ถ้าเป็นมะเร็งลำไส้ ส่วนใหญ่ยามุ่งเป้าใช้ฉีดควบกับเคมีบำบัด อาจสองสามอาทิตย์ แล้วแต่สูตรของยาหรือหลังจากใช้เคมีบำบัดสูตรมาตรฐานแล้ว

การฉายรังสีช่วยรักษามะเร็งสำไส้ใหญ่อย่างไร

หลักๆ แล้วการรักษาใช้การผ่าตัด และเคมีบำบัด การผ่าตัดก็ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ ส่วนการฉายรังสีเป็นตัวช่วยการรักษาแบบประคับประคองในระยะแพร่กระจายไปแล้ว และมีอาการเฉพาะที่ ยกตัวอย่างโรคกระจายไปที่สมอง กระดูก การฉายรังสีลดความเจ็บปวด เพื่อให้ผู้ป่วยไปรับเคมีบำบัดและยามุ่งเป้าต่อไปได้

การฉายแสง จะมีผลข้างเคียงอย่างไร

รังสีที่ใช้รักษาแบบเดียวกับรังสีเอ็กซเรย์ ดังนั้นคนไข้จะไม่ร้อน แต่เป็นรังสีที่มีพลังงานที่สูงกว่า ผลข้างเคียงแล้วแต่บริเวณที่ใช้ในร่างกาย ถ้าอยู่ใกล้บริเวณลำไส้ อาจทำให้กินได้น้อยลง ส่วนใหญ่ผลข้างเคียงเป็นระยะสั้น 

 """""""""""""""""""""

ตามอ่านเรื่องมะเร็งลำไส้ใหญ่ ได้ที่ 

วิธีป้องกัน‘มะเร็งลำไส้ใหญ่’ มีทางเลือกดีๆ ที่ควรรู้