ครม. ไฟเขียวเสนอ 'ต้มยำกุ้ง' ขึ้นทะเบียน 'ยูเนสโก' เป็นมรดกวัฒนธรรม

ครม. ไฟเขียวเสนอ 'ต้มยำกุ้ง' ขึ้นทะเบียน 'ยูเนสโก' เป็นมรดกวัฒนธรรม

คนไทยเฮ! ครม. เห็นชอบให้กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ "ต้มยำกุ้ง" ขึ้นทะเบียนกับ "ยูเนสโก" เป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ

วันนี้ (23มี.ค.64) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เห็นชอบให้กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ "ต้มยำกุ้ง" (TomyumKung) ยื่นขึ้นทะเบียนกับ "ยูเนสโก" ให้เป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ

โดยที่ผ่านมาประเทศไทยมีมรดกภูมิปัญญาฯ ได้รับการขึ้นทะเบียนของ "ยูเนสโก" แล้ว 2 รายการ คือ "โขน" และ "นวดไทย" ไปเมื่อปี พ.ศ. 2561 และ พ.ศ. 2562 โดยมีรายการ "โนรา" และ "สงกรานต์ในประเทศไทย" ที่เสนอไปแล้ว และอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาของยูเนสโก 

ล่าสุด.. สำหรับปี 2564 นี้ ประเทศไทยจะได้เสนอรายการ "ต้มยำกุ้ง" เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อยูเนสโกเป็นลำดับต่อไป

นายอิทธิพล เปิดเผยว่า วธ.โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เห็นความสำคัญของต้มยำกุ้งอาหารประจำชาติที่ขึ้นชื่อและเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก ด้วยเป็นอาหารที่มีคุณค่าสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตที่เรียบง่ายของชุมชนเกษตรกรรมริมแม่น้ำลำคลองในภาคกลางของไทย ที่มีวัฒนธรรมการบริโภคอาหารอย่างเรียบง่ายพึ่งพิงธรรมชาติและมีประโยชน์ต่อสุขภาพ

อีกทั้ง คนไทยมีการสืบทอดการทำต้มยำกุ้งในครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง มีผู้ประกอบวิชาชีพด้านอาหาร ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศบุคคล หน่วยงานต่างๆ ที่เป็นเจ้าขององค์ความรู้ ซึ่งภูมิปัญญาการทำต้มยำกุ้งนอกจากจะมีการสืบทอดอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังแพร่กระจายไปยังภูมิภาคอื่น ๆ อย่างกว้างขวาง ก่อให้เกิดการสร้างสรรค์สูตรต้มยำกุ้งที่แปลกใหม่มากมาย ที่ตอบสนองต่อสภาพทางภูมิศาสตร์ วิถีชีวิตและรสนิยมทางอาหารที่แตกต่างกันไปของคนกลุ่มต่างๆ

การเสนอต้มยำกุ้ง เพื่อขึ้นทะเบียนมรดกวัฒนธรรมฯของมนุษยชาติกับยูเนสโก นอกจากจะสร้างความภาคภูมิใจให้กับคนไทยแล้ว ยังกระตุ้นให้ตระหนักถึงความสำคัญและเห็นคุณค่าในมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของตน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการเรียนรู้ในความหลากหลายของอาหารไทย สร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่ออาหารของไทยในระดับนานาชาติ

ทั้งยังสร้างโอกาสทางการตลาดให้ธุรกิจอาหารไทย เกิดการสร้างงานและรายได้ให้แก่ผู้ผลิตวัตถุดิบ อันได้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง เกษตรกรผู้ปลูกสมุนไพรผู้ส่งออก และผู้ประกอบการร้านอาหารไทย ทั้งในและต่างประเทศอีกด้วย

รมว.วธ. กล่าวต่อว่า สิ่งที่ประเทศไทยต้องดำเนินการหากต้มยำกุ้งได้รับการขึ้นทะเบียนคือการจัดทำรายงานสถานะปัจจุบันของมรดกวัฒนธรรมฯ ที่แสดงถึงผลสำเร็จ ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการสงวนรักษา และดำเนินการตามมาตรการการสงวนรักษาต้มยำกุ้งอย่างเคร่งครัด

เพื่อส่งเสริมความยั่งยืนและความมั่นคงด้านอาหารและส่งเสริมการศึกษาวิจัยการพัฒนานวัตกรรมอันเกี่ยวกับภูมิปัญญา ด้านอาหารทั้งการศึกษาในระบบและนอกระบบ เช่น เทคโนโลยีและนวัตกรรมเกี่ยวกับการถนอมอาหารคุณภาพของวัตถุดิบและการรักษาความสดใหม่และคุณค่าทางโภชนาการ

รวมถึงการส่งเสริมการตลาดเพื่อเพิ่มความต้องการการบริโภคอาหารไทยให้ได้รับความนิยมทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างกว้างขวาง อันจะส่งผลดีอุตสาหกรรมอาหาร ธุรกิจการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของประเทศไทย