กสม.ออกแถลงการณ์ วอนทุกฝ่ายเคารพหลักสิทธิมนุษยชนในการชุมนุม หลังเหตุปะทะ ม็อบ 20 มี.ค.

กสม.ออกแถลงการณ์ วอนทุกฝ่ายเคารพหลักสิทธิมนุษยชนในการชุมนุม หลังเหตุปะทะ ม็อบ 20 มี.ค.

ตามที่ประชาชนกลุ่ม REDEM และเครือข่าย ชุมนุมในหลายบริเวณรอบเขตพระนคร กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 20-21 มีนาคม 2564 กสม.ได้ติดตามสถานการณ์ สังเกตการณ์การชุมนุมอย่างต่อเนื่อง และมีความห่วงกังวลต่อการชุมนุมที่มีแนวโน้มการใช้ความรุนแรง

ตามที่ประชาชนกลุ่ม REDEM และเครือข่ายได้ชุมนุมเพื่อแสดงออกทางการเมืองในหลายบริเวณรอบเขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 20-21 มีนาคม 2564 โดยมีรายงานสถานการณ์การกระทำผิดกฎหมาย ความรุนแรง และการปะทะกันระหว่างผู้เข้าร่วมชุมนุมและเจ้าหน้าที่รัฐ ตลอดจนมีการใช้อาวุธสิ่งเทียมอาวุธและยุทธวิธีต่างๆ มีผู้ชุมนุมบางกลุ่มที่ก่อเหตุความไม่สงบ รวมถึงกลุ่มบุคคลไม่ทราบฝ่าย และฝ่ายเจ้าหน้าที่ได้ใช้มาตรการและอุปกรณ์ต่างๆ เช่น กระบอง น้ำผสมแก๊สน้ำตา กระสุนยาง มีการจับกุมผู้กระทำความผิดซึ่งรวมทั้งเด็กและเยาวชน และมีผู้เข้าร่วมการชุมนุม ประชาชน ผู้สื่อข่าว ตลอดจนเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บจำนวนมากนั้น ทาง กสม. ได้ติดตามสถานการณ์โดยส่งเจ้าหน้าที่เข้าร่วมสังเกตการณ์การชุมนุมอย่างต่อเนื่อง และมีความห่วงกังวลต่อการชุมนุมที่มีแนวโน้มการใช้ความรุนแรงมากขึ้น 

วันที่ 23 มีนาคม 2564 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ออกแถลงการณ์ ขอให้ทุกฝ่ายเคารพหลักสิทธิมนุษยชนในการชุมนุม ให้ใช้อุปกรณ์อันตรายเท่าที่จำเป็น รวมถึงการประกันสิทธิเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม โดยมีรายละเอียดระบุว่า ตามที่ประชาชนกลุ่ม REDEM และเครือข่ายได้ชุมนุมเพื่อแสดงออกทางการเมืองในหลายบริเวณรอบเขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 20-21 มีนาคม 2564 โดยมีรายงานสถานการณ์การกระทำผิดกฎหมาย ความรุนแรง และการปะทะกันระหว่างผู้เข้าร่วมชุมนุมและเจ้าหน้าที่รัฐ ตลอดจนมีการใช้อาวุธสิ่งเทียมอาวุธและยุทธวิธีต่างๆ มีผู้ชุมนุมบางกลุ่มที่ก่อเหตุความไม่สงบ รวมถึงกลุ่มบุคคลไม่ทราบฝ่าย และฝ่ายเจ้าหน้าที่ได้ใช้มาตรการและอุปกรณ์ต่างๆ เช่น กระบอง น้ำผสมแก๊สน้ำตา กระสุนยาง มีการจับกุมผู้กระทำความผิดซึ่งรวมทั้งเด็กและเยาวชน และมีผู้เข้าร่วมการชุมนุม ประชาชน ผู้สื่อข่าว ตลอดจนเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บจำนวนมากนั้น 

161647602675

ทาง กสม. ได้ติดตามสถานการณ์โดยส่งเจ้าหน้าที่เข้าร่วมสังเกตการณ์การชุมนุมอย่างต่อเนื่อง และมีความห่วงกังวลต่อการชุมนุมที่มีแนวโน้มการใช้ความรุนแรงมากขึ้น จึงขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายพิจารณา ดังนี้ 

  • 1. เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่พึงกระทำได้ในสังคมประชาธิปไตย โดยรัฐมีหน้าที่ต้องเคารพและคุ้มครองให้ประชาชนสามารถใช้เสรีภาพดังกล่าวได้อย่างเสรีภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย ขณะที่ผู้ชุมนุมไม่ว่ากลุ่มใดจะต้องหลีกเลี่ยงการกระทำผิดกฎหมาย หรือยั่วยุ หรือชักชวนผู้อื่นให้กระทำผิดกฎหมาย อันอาจเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่รัฐต้องใช้มาตรการบังคับใช้กฎหมายจำกัดการใช้เสรีภาพของผู้ชุมนุมโดยรวม  
  • 2. ในการควบคุมสถานการณ์การชุมนุมและมีการใช้อุปกรณ์ที่เป็นอันตราย มีผลกระทบต่อความปลอดภัยและชีวิต เช่น กระสุนยาง เจ้าหน้าที่รัฐต้องยึดแนวปฏิบัติขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการใช้อาวุธที่เป็นอันตรายที่ไม่ถึงแก่ชีวิตเพื่อการบังคับใช้กฎหมาย (United Nations Human Rights Guidance on the Use of Less-Lethal Weapons in Law Enforcement) ที่กำหนดให้การใช้อาวุธหรืออุปกรณ์ประเภทดังกล่าวจำเป็นต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง และใช้เพื่อระงับอันตรายที่ชัดเจนต่อผู้อื่นหรือเจ้าหน้าที่เท่านั้น รัฐจึงควรทบทวนการใช้กระสุนยางเท่าที่จำเป็นอย่างยิ่งและไม่สามารถใช้วิธีการอื่นได้ โดยต้องใช้กับกรณีเฉพาะ ห้ามใช้มุ่งเป้าหมายโดยไม่เลือก (Indiscriminate) เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายให้น้อยที่สุด ทั้งนี้ รัฐควรเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นกับบุคคลที่ได้รับผลกระทบอย่างเหมาะสมและพอเพียง 
  • 3. กรณีการจับกุมเด็กและเยาวชนที่เป็นผู้กระทำความผิด รัฐควรคำนึงถึงสิทธิเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม โดยให้เป็นไปตามหลักการของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก รวมถึงกฎอันเป็นมาตรฐานขั้นต่ำของสหประชาชาติว่าด้วยการบริหารงานยุติธรรมเกี่ยวกับคดีเด็กและเยาวชน หรือ ‘กฎแห่งกรุงปักกิ่ง’ และพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 ตลอดจนกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็ก สวัสดิภาพของเด็กและเยาวชนเป็นสำคัญ รวมถึงการแก้ไขเพื่อคืนผู้กระทำผิดสู่สังคม  
  • 4. ในการดำเนินคดีอาญาต่อบุคคลอันมีเหตุจากสถานการณ์การชุมนุมหรือการแสดงออกทางการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องอ่อนไหวและมีผลกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนและความปรองดองภายในชาติ รัฐอาจพิจารณานำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice) มาเป็นอีกทางออกหนึ่งในการแก้ไขปัญหา ซึ่งมุ่งเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ผู้เสียหายและสังคม และการกลับคืนสู่สังคม (Reintegration) โดยเปิดให้มีการพูดคุยเจรจา สร้างความเข้าใจต่อกัน เพื่อหาทางแก้ไขความแตกต่างด้วยสันติวิธี 

กสม. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกฝ่ายจะใช้ความอดทนอดกลั้น และดำเนินการใดๆ โดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนสากลและขอบเขตของกฎหมายเป็นสำคัญ เพื่อให้สังคมก้าวผ่านวิกฤตการณ์ทางการเมืองไปได้พร้อมกันอย่างสันติ

161647605780