เปิดหม้อ 'MK' นอกจาก 'สุกี้' เครือนี้ มีอะไรอีกบ้าง?

เปิดหม้อ 'MK' นอกจาก 'สุกี้' เครือนี้ มีอะไรอีกบ้าง?

เปิดหม้อ "MK" ส่องอาณาจักร "เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป" ที่มีมากกว่า "สุกี้" และ "ยาโยอิ" พร้อมกลยุทธ์การตลาดที่ทำให้ธุรกิจยังแข็งแกร่ง

กินอะไร กินอะไร กินอะไร ไปกิน MK.. ยากที่จะอ่านประโยคนี้แบบไม่ใส่ทำนอง เมื่อนี่กลายเป็นเพลงติดหูที่ทำให้คนรักสุกี้ทั้งหลายต้องนึกถึง "เอ็มเคสุกี้" เป็นหนึ่งในตัวเลือกเมื่ออยากกินอะไรขึ้นมาเสมอ

กระแส #แบนMKและยาโยอิ จากประเด็นทางการเมือง กลายเป็นเรื่องถูกหยิบมาถกเถียงกันในโซเชียลมีเดียในหลากหลายมิติ ทว่า เมื่อมองในมุมธุรกิจ "MK" เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่มีอาณาจักรกลุ่มธุรกิจอาหารที่ใหญ่ไม่น้อย และมีกลยุทธ์ต่างๆ ออกมากระตุ้นความหิวอยู่เสมอ
 

  •  "เอ็มเค" เครือธุรกิจที่ยังทำกำไรในช่วงวิกฤติ 

ท่ามกลางสถานการณ์ "โควิด-19" หลายธุรกิจต้องเผชิญกับสภาวะรายได้หด ไม่พ้นแม้แต่เอ็มเคที่มีลดลงอย่างเห็นได้ชัด แต่ขณะเดียวกันก็ยังคงสร้างรายได้และกำไรหลักหลายร้อยล้าน

โดยรายได้รวมและกำไรสุทธิของ บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ยังรักษาสถานะเป็นบวกได้

ในปี 2563 รายได้รวม 13,361 ล้านบาท กำไรสุทธิ 907 ล้านบาท

ในปี 2562 รายได้รวม 17,739 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2,604 ล้านบาท

ในปี 2561 รายได้รวม 17,234 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2,574 ล้านบาท

ตัวเลขนี้ น่าสนใจว่าในมิติของการทำธุรกิจและการตลาด อะไรทำให้เอ็มเค สามารถรักษาผลกำไรได้มาถึงตอนนี้ "กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" ถอดโมเดลธุรกิจของเครือเอ็มเค ที่ธุรกิจร้านอาหารขนาดเล็กสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ 

  

  •  "MK" ที่ไม่ได้มีแค่ "สุกี้" 

ผลกำไรของ MK ไม่ได้มาจากแค่เมนูยอดฮิตอย่างสุกี้ที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยเท่านั้น เพราะเอ็มเคมีอาณาจักรอาหารอยู่เบื้องหลังในนาม "เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป" อีกมากมาย

เครือเอ็มเค มีร้านอาหารในเครือ 11 ร้าน ทั้งร้านสุกี้ที่แตกไลน์เจาะกลุ่มลูกค้าที่หลากหลาย ร้านอาหารไทย ร้านอาหารญี่ปุ่น รวมถึงร้านเครื่องดื่มและเบเกอรี่

161648123148

ร้านสุกี้ 

- ร้านเอ็มเค สุกี้: ร้านสุกี้ บะหมี่ เป็ดย่าง ฯลฯ ทีเด็ดที่น้ำจิ้ม จับกลุ่มลูกค้าครอบครัว สมาชิกทุกคนในครอบครัว (451 สาขาทั่วประเทศ)
- ร้านเอ็มเค โกลด์: ยกระดับความอร่อยของเมนูสุกี้ด้วยการบริการและคุณภาพอาหารที่คัดสรรมาในระดับพรีเมียมโดยเฉพาะ (6 สาขา ตั้งอยู่ในย่านธุรกิจที่สำคัญ) 
- ร้านเอ็มเค ไลฟ์: ร้านต้นแบบคอนเซ็ปต์ของร้านเอ็มเค สุกี้ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากจุดเด่นต่างๆ ของเเบรนด์เอ็มเคและไลฟ์สไตล์ของกลุ่มลูกค้า Gen Y ที่ต้องการลูกเล่นที่มากขึ้น (ทั้งหมด 6 สาขา)

ร้านอาหารญี่ปุ่น

- ร้านยาโยอิ: ร้านอาหารสไตล์ญี่ปุ่น เน้นความสะดวกราคาจับต้องได้ (168 สาขา)
- ร้านมิยาซากิ: เทปปันยากิเป็นร้านอาหารกระทะร้อนสไตล์ญี่ปุ่นปรุงต่อหน้าท่าน อาทิ เนื้อวัวนิวซีแลนด์ เนื้อหมูคุโรบุตะ หรือเมนูซีฟู้ดต่างๆ 
- ร้านฮากาตะ ราเมน: ราเมนนํ้าซุปกระดูกหมู ที่เคลมว่าเป็นแหล่งกำเนิดเมืองฮากาตะ เสิร์ฟพร้อมเส้นราเมนที่เหนียวนุ่มได้ที่และหมูชาชู พร้อมทั้งเมนูราเมนต่างๆ

ร้านอาหารไทย

- ร้าน ณ สยาม: ร้านอาหารไทย ต้นตำรับอาหารไทย ที่เคลมว่ามีการสืบทอดมายาวนานกับหลากหลายเมนู อาทิ ข้าวผัดน้ำพริก ลงเรือ แกงเผ็ดเป็ดย่าง เมี่ยงคำ ฯลฯ
- เลอ สยาม: ยกระดับอาหารไทยด้วยการบริการและ บรรยากาศที่ถูกออกแบบมาสำหรับโอกาสพิเศษ

ร้านกาแฟ/เบเกอรี่ 

- เลอ เพอทิท: ร้านอาหาร สไตล์ตะวันตกที่มีหลากหลายเมนู เช่น พาสต้าแซนด์วิช หรือสลัด นอกจากนี้ เลอ เพอทิทยังมีจุดเด่นที่คุณภาพของเมล็ดกาแฟที่มีรสชาติเข้มข้นและหอมกรุ่น
- เอ็มเค ฮาร์เวสต์: ร้านข้าวกล่องที่ลูกค้าสามารถเลือกเมนูสดใหม่ทุกวันจากชั้นวางควบคุมอุณหภูมิร้อนหรือเย็นและนำไปจ่ายเงินที่แคชเชียร์
- บิซซี่ บ๊อกซ์: เป็นร้านขายขนมและเครื่องดื่มที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากวัตถุดิบธรรมชาติ มีเมนูขนมหวานที่หลากหลายให้ลูกค้าได้เลือกสรร

  •  "เอ็มเค" ทำยังไงให้ได้ไปต่อ ? 

ทำไมเอ็มเค ถึงทำให้คนยอมควักกระเป๋าจ่ายได้ แม้ในช่วงวิกฤติ?

หากมองในมุมธุรกิจอาหารของเอ็มเค ครอบคลุมคนทุกกลุ่ม และให้บริการอาหารหลากหลายสไตล์ สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับกลยุทธ์ในการบริหารกิจการให้เป็นที่รู้จัก และมีภาพลักษณ์เป็นที่จดจำมาเป็นเวลานาน

1. สื่อสารง่ายๆ สร้างการรับรู้ และนึกถึงอยู่ตลอด

"กินอะไร กินอะไร กินอะไร ไปกิน MK" และทำนองเพลงโฆษณาติดหูอีกหลายเพลง ที่มาพร้อมภาพบรรยากาศการรับอาหารร่วมกันของคนในครอบครัวอย่างมีความสุขในหนังโฆษณาในโทรทัศน์ และที่ปรากฏให้เห็นบ่อยๆ ในโซเชียลมีเดีย เป็นการสื่อสารที่สร้างการรับรู้ว่าเอ็มเค คือมื้ออาหารที่เหมาะสำหรับคนทุกวัย และเป็นช่วงเวลาสร้างความพิเศษให้คนในครอบครัว ที่มักจะมีเอ็มเคอยู่ในตัวเลือกของร้านที่ต้องการพบปะสังสรรค์ รวมญาติอยู่เสมอ และนั่นคือยอดขายที่จะตามเข้ามาด้วย

2. เจาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมายชัดเจน เน้นคุณภาพสินค้า ไม่เน้นแข็งขันด้านราคา

"เอ็มเค สุกี้" วางตำแหน่งทางการตลาดไว้ค่อนข้างชัดเจน โดยส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในศูนย์การค้าโมเดิร์นเทรด และคอมมูนิตี้มอลล์ ซึ่งเป็นแหล่งสรรพสินค้าของลูกค้าที่มีรายได้ระดับปานกลางถึงสูง ทำให้เอ็มเคชูเรื่องการใช้สินค้าที่มีคุณภาพสูงได้อย่างเต็มที่ และไม่แข่งขันด้านาราคา

แม้จะมีร้านใหม่ๆ ที่ลักษณะใกล้เคียงกัน ก็ยังทำให้มีลูกค้ากลุ่มที่มีความภักดีมาใช้บริการอยู่เสมอเพราะมั่นใจคุณภาพ และคิดว่าคุ้มค่ากับเงินที่เสียไป 

161649927056

3. ไม่หยุดนิ่ง

แม้จะเป็นร้านที่เปิดมานาน และมีลูกค้าประจำไม่น้อย แต่เอ็มเคก็มีการปรับตัวและปรับการตลาดให้สอดคล้องกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป และช่วงชิง เช่น ร้านสุกี้มีการแตกไลน์เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าที่แตกต่างกันเป็น "เอ็มเคไลฟ์" เจาะกลุ่มลูกค้ารุ่นใหม่ และ "เอ็มเคโกลด์" เจาะกลุ่มลูกค้าที่ต้องการยกระดับพรีเมียม ที่เริ่มนำกลยุทธ์การขายแบบ "บุฟเฟ่ต์" เข้ามาสร้างสีสัน แย่งชิงพื้นที่กระเพาะจากบุฟเฟ่ต์เจ้าอื่นๆ มากขึ้น 

หรือแม้แต่การร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ที่กำลังเป็นที่นิยมในกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการ เพื่อสร้างประสบการณ์แบบใหม่ให้ลูกค้าที่ชื่นชอบทั้ง 2 แบรนด์ ให้สะสมแต้มเพิ่มโอกาสการเข้าร้านที่บ่อยขึ้นตามไปด้วย เป็นต้น

161650134846

ที่มา: mkrestaurant