กสทช.ประมูลดาวเทียมกลางปีนี้ ปรับเงื่อนไขจูงใจ-เงินเข้ารัฐ2พันล

กสทช.ประมูลดาวเทียมกลางปีนี้ ปรับเงื่อนไขจูงใจ-เงินเข้ารัฐ2พันล

กสทช.ประชาพิจารณ์เงื่อนไขประมูลดาวเทียมครั้งสุดท้าย ก่อนชงเข้าบอร์ด เม.ย.พร้อมประกาศแผนประมูล 4 แพ็คเกจ มิ.ย.นี้ คาดมีเงินเข้ารัฐไม่น้อยกว่า 2,000 ล้านบาท เชื่อมีผู้ประกอบการไทยเข้าร่วม 3 ราย

ชงบอร์ดเปิดประมูลกลางปีนี้

ทั้งนี้ หลังจากการรับฟังความคิดเห็นแล้ว สำนักงาน กสทช.จะนำความคิดเห็นที่ได้ รับมาปรับปรุงร่างฯ ประกาศ เพื่อให้มีความสมบูรณ์ และจะเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) กสทช.เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบในปลายเดือน เม.ย.นี้ และ หากกสทช.เห็นชอบจะสามารถนำไปประกาศลงในราชกิจจาฯ ได้ภายในเดือน พ.ค. 

จากนั้นจะเปิดให้ผู้สนใจมายื่นขอรับใบอนุญาต (ไลเซ่นส์) ได้ในเดือน มิ.ย. และหลังจากผ่านพิจารณาประกาศรายชื่อผู้ที่ผ่านเกณฑ์ประสบการณ์แล้ว คาดว่า จะสามารถเข้ามายื่นข้อเสนอด้านราคาหรือประมูลได้ภายในปลายเดือน มิ.ย.หรือ ต้นเดือน ก.ค.ซึ่งจะทำให้ไทยสามารถเปลี่ยนผ่านธุรกิจดาวเทียมจากระบบสัมปทาน มาสู่ระบบใบอนุญาตได้อย่างเป็นรูปธรรมได้ ก่อน บมจ.ไทยคมจะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในวันที่ 10 ก.ย. 2564 นี้

“การประมูลครั้งนี้บอร์ด กสทช. ต้องการเร่งให้ประมูลก่อนหมดสัญญาสัมปทาน เพราะหากไม่มีใครบริหารดาวเทียมวงโคจร อาจทำให้เรามีความผิด เพราะไม่รักษาสิทธิวงโคจรตามรัฐธรรมนูญที่ได้รับมาจากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู)" 

คาดทำเงินเข้ารัฐ2,000ล้านบาท

สำหรับการประมูลครั้งนี้ สำนักงาน กสทช.ได้ปรับลดราคาขั้นต่ำของการประมูลลงบางชุด ได้แก่ ชุดที่ 1 ซึ่งประกอบด้วยวงโคจร 50.5 องศาตะวันออก ประกอบด้วยข่ายงาน C1, N1 และ P1R) และวงโคจร 51 องศาตะวันออกข่ายงาน 51 องศาตะวันออก โดยปรับราคาขั้นต่ำจาก 728.20 ล้านบาท เป็น 676.92 ล้านบาท 

ชุดที่ 3 ที่ประกอบด้วยวงโคจร 119.5 องศาตะวันออก ประกอบด้วยข่ายงาน IP1, P3 และ LSX3R และวงโคจร 120 องศาตะวันออกข่ายงาน120 องศาตะวันออก จากปรับราคาขั้นต่ำจาก 745.57 ล้านบาทเป็น 392.95 ล้านบาท

สำหรับชุดที่ 2 และชุดที่ 4 ไม่มีการปรับราคาขั้นต่ำโดยชุดที่ 2 ประกอบด้วยวงโคจร 78.5 องศาตะวันออก ประกอบด้วยข่ายงาน A2B และ LSX2R ราคาขั้นต่ำอยู่ที่ 366.49 ล้านบาท และชุดที่ 4 ที่ประกอบด้วยวงโคจร 126 องศาตะวันออกข่ายงาน 126 องศาตะวันออก และวงโคจร 142 องศาตะวันออก ประกอบด้วยข่ายงาน G3K และ N5 ราคาขั้นต่ำอยู่ที่ 364.69 ล้านบาท

"การประมูลครั้งนี้ อย่ามองว่า เป็นการนำเงินเข้ารัฐ แต่ให้มองว่าเป็นการทำหน้าที่รักษาวงโคจรของประเทศไทย ในส่วนของค่าธรรมเนียมการอนุญาตให้ใช้สิทธิรายปีจำนวน 0.25% ของรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่าย รวมทั้งค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมไม่เกิน 1.5% และค่าธรรมเนียม USO จำนวน 2.5%นั้น ยังคงเป็นอัตราเดิมตามร่างประกาศ” พล.อ.ท.ธนพันธุ์ กล่าว

เปิดศักราชดาวเทียมยุคดิจิทัล

ทั้งนี้ ทั้ง 4 แพคเก็จที่จะมีการประมูลวงโคจร จะสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมดาวเทียมทั่วโลก ที่แม้ไม่ใช่ธุรกิจขาขึ้นแต่ก็ยังไม่ใช่ขาลง เพราะตำแหน่งวงโคจรดังกล่าวสามารถมาให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (บรอดแบนด์) ผ่านดาวเทียม และบริการระบบทีวีดาวเทียมได้ 

เนื่องจากเทคโนโลยีสามารถปรับเป็นดาวเทียมวงโคจรต่ำ Low Earth Orbit หรือ LEO ซึ่งเป็นดาวเทียมที่โคจรอยู่บนความสูงจากพื้นโลกระหว่าง 350 -2,000 กิโลเมตรจึงกลายเป็นดาวเทียมแห่งยุคดิจิทัล โดยขณะนี้ มีหลายบริษัทของโลกทั้ง สเปซ เอ็กซ์ และบริษัทดาวเทียมของจีนต่างเร่งแข่งกันปล่อยดาวเทียม LEO

ประมูล4แพคเก็จพร้อมกัน

ส่วนรูปแบบการประมูล ยังคงกำหนดวิธีการคัดเลือกเป็น 2 ขั้นตอน ขั้นตอนที่ 1.พิจารณาข้อเสนอด้านประสบการณ์ และความสามารถในการดำเนินการ ขั้นตอนที่ 2 พิจารณาข้อเสนอด้านราคาโดยมีการปรับจากเดิมที่กำหนดให้เป็นรูปแบบของการยื่นข้อเสนอด้านราคา ในรูปแบบผลประโยชน์ส่วนเพิ่มสูงสุดทีละรอบ ของแต่ละชุดข่ายงานดาวเทียม (Sealed Bid) เป็นการยื่นข้อเสนอการประมูลในชุดข่ายงานดาวเทียมพร้อมกันทั้ง 4 ชุด (Simultaneous Auction) เพื่อเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันได้ในทุกชุด และป้องกันการการสมยอมในการเสนอราคา

พล.อ.ท.ธนพันธุ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังปรับเงื่อนไขให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจได้สอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้น เช่น ยกเลิกการเปิดให้บริษัทสามารถหาพันธมิตรร่วมลงทุนมาประมูลได้ เนื่องจากต้องการบริษัทที่มีตัวตนไม่ใช่นอมินี และจดทะเบียนในประเทศไทยเท่านั้น ขณะที่ สถานีควบคุมดาวเทียมสามารถตั้งอยู่นอกประเทศไทยได้ จากเดิมกำหนดให้ตั้งในประเทศไทยเท่านั้น ซึ่งในสถานการณ์จริงพบว่า พื้นที่ให้บริการของดาวเทียมไม่ได้อยู่ในประเทศ ดังนั้น สถานีควบคุมไม่จำเป็นต้องอยู่ในประเทศไทย แต่ต้องสามารถควบคุมการทำงานจากประเทศไทยได้

นอกจากนั้น ยังมีการปรับระยะเวลาและเงื่อนไขในการอนุญาตให้ชัดเจน โดยเฉพาะในชุดที่2ข่ายงาน A2B ที่เป็นของดาวเทียมไทยคม 5 เดิมโดยที่ผู้ประกอบการรายใหม่ จะต้องไม่ส่งผลกระทบ หรือรอนสิทธิข่ายงานที่ดาวเทียมไทยคม 6 และ 8 ใช้อยู่เนื่องจากอยู่ในวงโคจร 78.5 องศาตะวันออกเดียวกัน และเงื่อนไขระยะเวลาที่จะได้รับสิทธิในชุดที่ 3 ข่ายงาน IP1 จะได้รับหลังจากอายุวิศวกรรมของดาวเทียมไทยคม 4 (ไอพี สตาร์) สิ้นสุดลงในปี 2566 เพื่อไม่ให้ผู้ชนะในการประมูลครั้งนี้ โดนรอนสิทธิหรือมีปัญหาสัญญาทางปกครอง เช่นเดียวกับทีวีดิจิทัลที่ผ่านมา โดยมุ่งหวังที่ให้สามารถมีผู้ได้รับการอนุญาตทั้ง 4 ชุดเพื่อที่จะได้รักษาไว้ซึ่งสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรของประเทศไทย