"วันชัย-คำนูณ" เชื่อมีคน ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ตีความมาตรา9ร่างพ.ร.บ.ประชามติ เหตุเกินกรอบรัฐธรรมนูญ

"วันชัย-คำนูณ" เชื่อมีคน ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ตีความมาตรา9ร่างพ.ร.บ.ประชามติ เหตุเกินกรอบรัฐธรรมนูญ

2ส.ว. "วันชัย - คำนูณ" ให้ความเห็นต่อร่างพ.ร.บ.ประชามติ มาตรา9 ที่เพิ่มสิทธิประชาชน-รัฐสภา เสนอครม.ทำประชามติ เชื่อเกินกรอบรัฐธรรมนูญ มีคนส่งยื่นตีความ

        นายวันชัย สอนศิริ ส.ว. ฐานะโฆษก คณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ รัฐสภา  ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการเจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์ ว่า มีความเป็นไปได้ว่า จะมีสมาชิกรัฐสภายื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตีความบทบัญญัติที่ถูกเพิ่มเติมเข้ามาในมาตรา 9 ของร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ที่มติรัฐสภาเสียงข้างมากให้แก้ไข โดยเพิ่มสิทธิ์ให้กับรัฐสภาและภาคประชาชนเข้าชื่อร้องขอให้จัดทำประชามติได้ โดยเฉพาะประเด็นสิทธิของภาคประชาชนที่อาจจะเกินกรอบของรัฐธรรมนูญและหลักการของร่างกฎหมายที่กำหนดไว้ได้

 
        นายวันชัย กล่าวด้วยว่าสำหรับแนวทางของการพิจารณาเนื้อหา หากรัฐสภาเห็นชอบให้บัญญัติเนื้อหาดังกล่าวจะมีผลกระทบ และอาจจะมีทางแก้ไขได้ อาทิ เมื่อร่างพ.ร.บ.ประชามติผ่านรัฐสภาอาจมีการเสนอให้แก้ไขเนื้อหา เป็นต้น แต่ในชั้นนี้ตนได้พิจารณารายละเอียดแล้ว เชื่อว่าจะมีผู้ที่ยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความมากกว่า
 

        ขณะที่นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คในเรื่องเดียวกัน พร้อมให้ความเห็นว่า กรณีที่รัฐสภาเสียงข้างมากให้แก้ไขมาตรา9 ของร่างพ.ร.บ.ประชามติ ที่มีผลให้รัฐสภาและประชาชนมีสิทธิเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ออกเสียงประชามติเรื่องที่เสนอ เชื่อว่าสมาชิกรัฐสภาบางส่วนและรัฐบาล เห็นว่ามีความขัดหลักการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจและขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 166 
 

        "แม้เนื้อความในมาตรา 166 ตอนท้ายจะเขียนว่าให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ แต่กฎหมายที่ออกมาควรทำหน้าที่เพียงขยายความ กำหนดขั้นตอนรายละเอียดในการปฏิบัติให้ชัดเจน แต่ไม่ควรบัญญัติหลักการเกินกรอบของรัฐธรรมนูญ ในกรณีนี้รัฐธรรมนูญกำหนดหลักการให้คณะรัฐมนตรีมีหน้าที่และอำนาจที่จะพิจารณาใช้ดุลพินิจตัดสินใจว่าการใดถือเป็นเหตุอันสมควรที่จะจัดให้มีการออกเสียงประชามติหรือไม่ เมื่อใด กฎหมายที่ออกตามมาหากไปบัญญัติให้รัฐสภาหรือประชาชนเข้าชื่อกันให้คณะรัฐมนตรีจัดการออกเสียงประชามติได้ อาจเป็นบทบัญญัติที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ” นายคำนูณ ระบุ

        นายคำนูณ ระบุด้วยว่า ขณะนี้สำนักงานกฤษฎีกาอยู่ระหว่างปรับแก้มาตราต่อเนื่องจากมาตรา9 ให้มีกรอบที่ไม่มัดมือครม. เกินไป และกรรมาธิการ จะนัดพิจารณาวันที่ 1-2 เมษายนนี้ เบื้องต้นเชื่อว่านอกจากจะพิจารณาเนื้อหาที่กฤษฎีกาเสนอแล้ว อาจมีข้อเสนอจากกรรมาธิการ อาทิ ให้ชะลอการบังคับใช้มาตรา 9 อย่างไรก็ดีส่วนตัวเชื่อว่าร่างพ.ร.บ.ประชามติจะผ่านวาระสามได้ยาก ซึ่งอาจเกิดกรณีถามหาความรับผิดชอบด้วการยุบสภาฯ ส่วนตัวเชื่อว่าส.ส.ไม่ต้องการ ดังนั้นรัฐบาลจึงมีทางออกหลายวิธี เช่น เสนอร่างกฎหมายเพื่อแก้ไขมาตรา 9 เป็นต้น.