“กองทุนหมู่บ้าน”เร่งแก้หนี้ 4หมื่นรายเสี่ยงเอ็นพีแอล

“กองทุนหมู่บ้าน”เร่งแก้หนี้  4หมื่นรายเสี่ยงเอ็นพีแอล

กองทุนหมู่บ้านผวา 2 แบงก์รัฐ ออมสิน-ธกส. จ่อฟ้องล้มละลายกองทุนหมู่บ้าน หลัง 10,000 กองทุนฯ สมาชิก 40,000 ราย ผิดนัดชำระหนี้ 2 - 3 เดือน เสี่ยงเป็น NPL เตรียมจัดเวทีหารือร่วมกับผู้แทนพ่วงจัดโครงการฝึกอาชีพแก้ปัญหาครบวงจร

นายนที ขลิบทอง รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านฯที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เป็นประธานวานนี้ (22 มี.ค.) ว่าที่ประชุมฯเห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ค้างที่เกิดจากการกู้ยืมเงินของธนาคารออมสิน

หลังจากได้รับแจ้งว่าปัจจุบันมีกองทุนและสมาชิกที่อยู่ในข่ายมีหนี้ค้างชำระรวม5,680กองทุน มีจำนวนสมาชิก40,733คน แยกเป็น หนี้ใกล้ถึงระยะเวลา90วันรวม663กองทุน จำนวนสมาชิก5,014ราย และมีหนี้ค้างชำระใกล้ถึงระยะเวลา 60 วัน อีก 5,017กองทุน จำนวนสมาชิก 35,719ราย ซึ่งในวันที่23มี.ค.นี้ สทบ.จะหารือกับธนาคารออมสิน และประธานเครือข่ายจังหวัด เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือต่อไป

ทั้งนี้ ในแนวทางการช่วยเหลือนั้น จะหารือถึงหลักการช่วยเหลือโดยให้กองทุนและสมาชิกที่มีปัญหาสมัครเข้าร่วมโครงการ โดยธนาคารออมสินจะนำเสนอรายละเอียด และแนวทาง เช่น การช่วยเหลือด้วยการพักชำระเงินต้นเป็นเวลา1-2 ปี ตามความเหมาะสมเป็นรายกองทุน หรือรายบุคคล คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการเสร็จสิ้นในเดือนมิ.ย.นี้ รวมทั้งการฝึกอบรมกองทุนและสมาชิกให้มีรายได้ต่อเนื่อง เพื่อให้มีเงินมาชำระหนี้ที่มีอยู่ได้ในอนาคต ขณะเดียวกันเมื่อแก้ไขปัญหาลูกหนี้ของออมสินแล้ว สทบ.ยังเตรียมหารือกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารกรุงไทย เพื่อแก้ปัญหาในลักษณะนี้เช่นกันโดยมีกองทุนที่อาจจะเข้าข่ายที่ผิดชำระหนี้รวมถึงกว่า 10,000 กองทุน 

“เหตุผลที่ต้องเร่งแก้เรื่องนี้ และได้นำเรื่องมาขอมติที่ประชุม คือมองว่าถ้าปล่อยไว้ไม่นานทางธนาคารออมสินอาจต้องฟ้องล้มละลายกองทุนที่มีหนี้ค้างชำระแน่นอน จึงต้องเร่งหาทางช่วยเหลือและแก้ปัญหาโดยเร่งด่วน ส่วนตัวเลขมูลหนี้นั้นตอนนี้ยังต้องรอทางออมสินรายงานมาก่อนว่ามีมากน้อยแค่ไหน ซึ่งในการหารือจะมีการพูดคุยกัน เพราะปัจจุบันนี้กองทุนหมู่บ้านส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าของออมสิน ที่เหลือเป็นลูกค้า ธ.ก.ส. และกรุงไทย โดยถ้ารวมตัวเลขเบื้องต้นพอประเมินได้ว่า จะมีกองทุนที่มีปัญหาหนี้ค้างชำระทุกธนาคารประมาณหมื่นกองทุน”

ทั้งนี้หากแก้ปัญหานี้สำเร็จ สทบ.จะเริ่มต้นทำโครงการอื่น ๆ เพิ่มเติมได้เร็วมากขึ้น โดยเฉพาะโครงการใช้เงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม หลังจากคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ตามพ.ร.ก.กู้เงิน1ล้านล้านบาท กันเงินเอาไว้ให้ สทบ.ทำโครงการแล้ว วงเงินประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท ล่าสุด สทบ.กำลังปรับปรุงรายละเอียดโครงการ คาดว่า เร็ว ๆ นี้จะได้ข้อสรุป ขณะที่การแก้ไขปัญหาฐานะทางการเงินของกองทุนหมู่บ้านฯ นั้น ในเดือนเม.ย.นี้ จะให้กองทุนทุกแห่งส่งรายงานงบการเงินมาให้พิจารณา เพื่อประเมินสถานะกองกองทุนอีกครั้งว่าเป็นอย่างไร

นายนที กล่าวต่อว่ากองทุนหมู่บ้านฯอยู่ระหว่างการสรุปข้อมูลงบการเงินทั้งหมดให้แล้วเสร็จภายในเดือน เม.ย.นี้ซึ่งข้อมูลล่าสุดที่มีอยู่กองทุนหมู่บ้านมีเงินสดหมุนเวียนอยู่ประมาณ 2.5 แสนล้านบาท ซึ่งจะต้องนำตัวเลขล่าสุดมาสรุปอีกครั้งว่าหลังจากผลกระทบจากโควิด -19 แล้วเงินหมุนเวียนภายในกองทุนหมู่บ้านฯจะมีสถานะเงินหมุนเวียนล่าสุดเป็นอย่างไร โดยการดำเนินงานของกองทุนในระยะต่อไปจะต้องให้ความสำคัญกับการตรวจสอบและติดตามงบการเงินของแต่ละกองทุนฯและให้รายงานกลับเข้ามาภายในระยะเวลาที่กำหนดซึ่งจะใช้เป็นการติดตามประเมินผล และจัดลำดับของกองทุนหมู่บ้านในเกรดเอ บี ซี และดี ซึ่งเป็นเกณฑ์เพิ่มเติมเพื่อสร้างความโปร่งใสของกองทุนหมู่บ้านเพิ่มขึ้น