‘เอ็มจี’ เร่งเดินเครื่องสถานีชาร์จ สร้างคอมมูนิตี้อีวี

‘เอ็มจี’ เร่งเดินเครื่องสถานีชาร์จ สร้างคอมมูนิตี้อีวี

โลกกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยี ทำให้อุตสาหกรรมต่างๆเปลี่ยนแปลงไป รวมถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่สร้างความท้าทายใหม่ให้กับยนตรกรรมของไทย เห็นได้จากความพยายามของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า หรือ อีวี

อย่างไรก็ตามโครงสร้างพื้นฐานเป็นสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะสถานีอัดประจุไฟฟ้า จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะดันแบรนด์รถยนต์ใหม่เข้ามาในตลาด ยิ่งในยุคที่อุตสาหกรรมแข่งขันกันอย่างหนักหน่วง ในช่วงที่ผ่านมาค่ายรถยนต์เบอร์ต้นๆอย่าง “เอ็มจี” ได้เปิดสนามการผลิตและสร้างแบรนด์ในประเทศไทย ถือเป็นม้าแรงที่เข้าสู่สนามแข่งได้ภายในระยะเวลาอันรวดเร็วและเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ด้วยจุดขายที่แตกต่างพร้อมกับทางเลือกใหม่ให้ผู้ขับขี่ได้สัมผัสเทคโนโลยีขั้นสูงในราคาที่จับต้องได้

161641607433

รวมถึงเปลี่ยนถ่ายจาก รถเครื่องยนต์สันดาป สู่ EV Car และถือเป็นผู้นำในตลาดยานยนต์ไฟฟ้าด้วยความสำเร็จด้านยอดขายหลังจากการเปิดตัว MG ZS EV และNEW MG EP ส่วนรถยนต์พลังงานทางเลือกอื่นๆ เช่น MG HS PHEV ที่เป็นปลั๊กอินไฮบริด ซึ่งทั้งหมดได้รับการตอบรับดีเกินคาดจากผู้บริโภค  

ผนึก สวทช.เร่งซูเปอร์ชาร์จ

พงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่เข้ามาทำตลาดในเมืองไทย นอกจากการพัฒนารถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่มีคุณภาพ ยังได้เดินหน้าผลักดันการขยายโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ผ่านการร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็น การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รวมไปถึงภาคเอกชนเพื่อร่วมกันส่งเสริมและเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับการติดตั้งเครื่องอัดประจุไฟฟ้าในประเทศไทย

ล่าสุดได้ร่วมมือกับ สวทช.ในการขับเคลื่อนอนาคตของประเทศ และยกระดับองค์ความรู้ สร้างมาตรฐาน และกำหนดบรรทัดฐานให้กับระบบการชาร์จ สถานีชาร์จรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจะมีความปลอดภัย และเป็นปัจจัยดึงดูดผู้บริโภคหันมาใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้น

ตั้งเป้าดันสถานีชาร์จสู่ 500 แห่ง

ด้วยการพัฒนาระบบการรับรองและมาตรฐานสำหรับ EV Charging Station ผ่านการทดสอบสถานีอัดประจุไฟฟ้าของเอ็มจี หรือ MG SUPER CHARGE เพื่อให้เป็นต้นแบบในการศึกษาวิจัยและใช้งานสถานีชาร์จอย่างเป็นรูปธรรม นำไปสู่การกำหนดมาตรฐานที่เป็นหนึ่งเดียวกันให้กับระบบการชาร์จไฟฟ้าของไทยในอนาคต รวมถึงการพัฒนาทักษะองค์ความรู้ของผู้ปฏิบัติงานทดสอบในประเทศ ผ่านการทดสอบของศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ หรือ PTEC

บริษัทฯได้ลงทุนพัฒนาและขยายสถานีอัดประจุไฟฟ้าภายใต้ชื่อ MG Supercharge กว่า 500 แห่ง ด้วยงบลงทุนกว่า 500 ล้านบาท โดยได้มีการยื่นขอการสนับสนุนจาก BOI สำหรับโครงการสถานีชาร์จที่พร้อมเดินหน้าสู่แผนระยะที่ 2 ปัจจุบันติดตั้งแล้ว 108 แห่ง ที่โชว์รูมและศูนย์บริการเอ็มจี โดยมีความพร้อมให้บริการ 67 สถานี กรุงเทพฯ เป็นจุดหลักที่จะให้ความสำคัญ เนื่องจากปริมาณลูกค้าที่ใช้รถยนต์ประเภทอีวีค่อนข้างสูง โดยมีการวางแผนไว้ที่ 50% หรือประมาณ 200-250 อยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่เหลือจะอยู่ตามต่างจังหวัดในระยะการเดินทางไม่ควรเกิน 150 กิโลเมตร 

161641611940

สถานีชาร์จดังกล่าวไม่ได้เป็นเพียงการติดตั้งอุปกรณ์ชาร์จเท่านั้น แต่ยังเป็นการพัฒนาซอฟต์แวร์ใหม่สำหรับการทำงานของเครื่องชาร์จ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปีนี้ นอกจากนี้มีประชากรรวมกันอยู่มากกว่า 2 พันคัน ส่วนระยะเวลาในการชาร์จขึ้นอยู่กับขนาดแบตเตอรี่ หาก 40-50 กิโลวัตต์ ต่อชั่วโมง ส่วนใหญ่จะชาร์จอยู่ที่ 80% ใช้เวลาประมาณ 30 นาที ดังนั้นจะทำให้ลูกค้าไม่รู้สึกกังวลในการเดินทางไปในแต่ละจุด และกระตุ้นการเร่งสร้างโครงสร้างพื้นฐานอย่างครอบคลุม ควบคู่ไปกับการสร้างการเติบโตและยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยทัดเทียมอุตสาหกรรมยานยนต์โลก

หวังปั้นอีโคซิสเต็มดันไทยสู่ ‘ฮับ’ 

ส่วนมุมมองในอุตสาหกรรมอีวีในประเทศไทย พงษ์ศักดิ์ บอกว่า ไม่ได้มองเรื่องของผู้ผลิตและจำหน่ายรถอีวีเท่านั้น แต่มองเรื่องของอีโคซิสเต็มคือ ความพร้อมในการให้บริการเรื่องสถานีอัดประจุไฟฟ้า ซึ่งถือได้ว่าเอ็มจีมีความพร้อมในเรื่องนี้ ส่วนราคาได้มีการพัฒนาลงมาต่ำจนเหลือเพียงไม่ถึงหลักล้าน ใกล้เคียงกับรถสันดาป แต่การใช้งานประหยัดต่อระยะกิโลเมตร รวมถึงการซ่อมบำรุงต่ำ ดังนั้นจุดนี้จะทำให้ผู้บริโภคหันมาใช้อีวีมากขึ้น และประกอบกับ DC Charge หากติดตั้งครบทั่วประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมอีวีอย่างสมบูรณ์แบบ 

161641613578

“ด้านโครงสร้างพื้นฐานในไทยปัจจุบันภาครัฐ มีนโยบายการส่งเสริม สำหรับบางประเทศที่มีเรื่องของภาษีนำเข้าเป็นศูนย์ ซึ่งรัฐบาลพยายามส่งเสริมเรื่องของการลงทุนให้ประกอบรถยนต์ประเภทอีวีในประเทศไทยมากขึ้น ส่วนการเปิดรับของประชาชน ปัจจุบันถือว่าผู้บริโภคซื้อรถอีวีมีในระดับหนึ่ง หากเทียบกับที่ผ่านมา หลังจากเปิดตัว 2 รุ่น เปลี่ยนทัศนะเรื่องของการใช้อีวีไปเยอะ คนเข้าใจว่าเป็นรถเทคโนโลยีสูง แต่ในความเป็นจริงเทคโนโลยีเป็นเพียงแค่สิ่งที่เข้ามาซัพพอร์ตให้การชีวิตง่ายขึ้น ทั้งนี้โรดแมพต่อไปในการขับเคลื่อน นอกจากรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ๆ เชื่อว่าหลายผู้ผลิตให้ความสนใจและลงแข่งขัน ทำให้ผู้บริโภคและตลาดตื่นตัวมากขึ้น"

ทั้งนี้ ความคาดหวังในการผลักดันร่วมกับ สวทช.เนื่องจากเป็นองค์กรที่มีองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ดังนั้น การที่ร่วมมือกันจะเกิดการแบ่งปันความรู้ทั้ง DC Charge รวมถึงมาตรฐานต่างๆ อีกทั้ง สวทช.ได้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางด้านคุณภาพ (NQI) ทั้งการทดสอบผลิตภัณฑ์ด้านยานยนต์ไฟฟ้า การวิเคราะห์การทดสอบความปลอดภัยทั้งในด้านอาหาร รวมถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ ตลอดจนได้ดำเนินการพัฒนากลไกทางธุรกิจหลายรูปแบบเพื่อส่งเสริมเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ 

161641621159

ครั้งนี้นับเป็นการวิเคราะห์ การทดสอบ สมรรถนะของสถานีชาร์จ และกระบวนต่างๆ ทั้งระดับประเทศไทย และระดับสากล เพื่อให้แน่ใจว่าสินค้าเหล่านี้เป็นสินค้าที่มีคุณภาพ โดยได้รับการทดสอบAC Normal Charge ,DC Quick Charge ให้เป็นไปตามมาตรฐาน IEC61851 ที่จะสามารถสร้างความเชื่อมมั่นและความปลอดภัยให้กับผู้บริโภค