'นกแอร์' กางแผนครึ่งปีหลัง ลุยเส้นทางต่างประเทศ จีน - ญี่ปุ่น - อินเดีย

'นกแอร์' กางแผนครึ่งปีหลัง ลุยเส้นทางต่างประเทศ จีน - ญี่ปุ่น - อินเดีย

“นกแอร์” กางแผนครึ่งปีหลัง รุก 7 เส้นทางบินระหว่างประเทศ ประเดิมไตรมาส 3 นี้ เปิดบิน จีน-ญี่ปุ่น-อินเดีย พร้อมลุยทำแพ็คเกจ รองรับนโยบาย “วิลล่า ควอรันทีน” ขณะนี้ตลาดในประเทศหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 คาดโหลดแฟกเตอร์พุ่ง 80%

นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลาย มีการฉีดวัคซีนในหลายประเทศ นกแอร์คาดการณ์ว่าไตรมาส 3 ปีนี้ จะเริ่มกลับมาทยอยเปิดบินเส้นทางระหว่างประเทศ นำร่องจำนวน 5 เส้นทาง ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย เมียนมา และเวียดนาม ส่วนจะเป็นจุดบินในเมืองใดบ้างนั้น ยังอยู่ระหว่างการประเมินปริมาณความต้องการของผู้โดยสาร

ขณะที่ไตรมาส 4 ปีนี้ เนื่องจากเป็นฤดูการท่องเที่ยว นกแอร์จึงแผนเปิดบินเส้นทางระหว่างประเทศ เพิ่มเติมอีก 2 เส้นทาง คือ ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ซึ่งขณะนี้กำลังพิจารณาการตลาด เปรียบเทียบการแข่งขันระหว่างสายการบินต้นทุนต่ำรายอื่น ว่ามีแผนจะเปิดทำการบินไปยังประเทศใดบ้าง ทั้งนี้มั่นใจว่านกแอร์มีแนวโน้มจะได้เปรียบ และมีโอกาสทางการทำการตลาดเพิ่มมากขึ้น เพราะปัจจุบันสายการบินคู่แข่งหลายบางราย โดนยึดเครื่องบินจากปัญหาการขาดสภาพคล่อง

“หลังจากที่ไทยเริ่มนำเข้า และทยอยฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับคนบางกลุ่ม คาดว่าในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ อัตราบรรทุกผู้โดยสาร (โหลดแฟกเตอร์) เส้นทางภายในประเทศจะกลับขึ้นมาอยู่ที่ 80% โดยเฉพาะเส้นทางท่องเที่ยวยอดนิยมอย่าง เชียงใหม่ และกระบี่”

นายวุฒิภูมิ ยังกล่าวอีกว่า แนวโน้มเส้นทางต่างประเทศ ขณะนี้คงต้องรอดูว่ารัฐบาลไทยและแต่ละประเทศจะมีการผ่อนปรนมากน้อยแค่ไหน กลุ่มนักท่องเที่ยวจะเดินทางเข้ามายังเมืองไทยหรือไม่ โดยเฉพาะการทำการบินแบบเช่าเหมาลำ (ชาร์เตอร์ไฟล์ต) ที่มีสัดส่วนรายได้ 10% ของรายได้ทั้งหมดของสายการบิน แต่เบื้องต้นนกแอร์ได้เตรียมพร้อมให้การสนับสนุนนโยบาย “วิลล่า ควอรันทีน” จัดแพ็กเกจท่องเที่ยวกระตุ้นการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทั้งโปรโมชั่นบัตรโดยสารการท่องเที่ยวเพื่อธุรกิจ การท่องเที่ยว ครัวเรือน และการท่องเที่ยวแบบคู่รัก

สำหรับภาพรวมตลาดของนกแอร์ในปัจจุบัน พบว่าเริ่มฟื้นตัวมากขึ้น ขณะนี้นกแอร์มีปริมาณผู้โดยสารกลับมาอยู่ที่ 7,000 คนต่อวัน แต่ยังน้อยกว่าช่วงปกติที่เฉลี่ยวันละ 3.7 หมื่นคนต่อวัน โดยมีภาพรวมอัตราบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ย 70% เนื่องจากมีการใช้เครื่องบินใบพัด ซึ่งเป็นเครื่องบินขนาดกลาง ซึ่งนกแอร์ได้กลับมาเปิดให้บริการเส้นทางการบินในประเทศ ครบทุกเส้นทางแล้ว ยกเว้นเส้นทางข้ามภาค เช่น เส้นทางเชียงใหม่-อุดรธานี, เชียงใหม่-อุบลธานี เนื่องจากความต้องการเดินทางยังน้อย

อย่างไรก็ตาม ช่วงเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา นกแอร์ได้ออกโปรโมชั่นใหม่ ด้วยการประกาศใช้นโยบายไม่ยกเลิกเที่ยวบิน แม้ว่าจะมีผู้โดยสารน้อย โดยยอมขาดทุนในบางเที่ยวบิน เพื่อดึงดูดลูกค้าเข้ามาใช้บริการมากขึ้นในช่วงที่การทำการบินยังไม่ปกติ ถือว่ามีกระแสการตอบรับที่ดี โดยเฉพาะนักธุรกิจให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก