เปิดวิชั่น 'ศิษฎิวัชร' vs 'มิ่งขวัญ' ชิงนายกสมาคมท่องเที่ยว 'ATTA'

เปิดวิชั่น 'ศิษฎิวัชร' vs 'มิ่งขวัญ'  ชิงนายกสมาคมท่องเที่ยว 'ATTA'

เปิดวิสัยทัศน์ 2 ผู้สมัครชิงเก้าอี้นายกสมาคมท่องเที่ยว "แอตต้า" 25 มี.ค.นี้! “ศิษฎิวัชร” ชงตั้งกองทุนยามวิกฤติแห่งชาติสำหรับผู้ประกอบการท่องเที่ยว ด้าน “มิ่งขวัญ” ชี้การทำตลาดท่องเที่ยวยุคใหม่ต้องสร้างแพลตฟอร์มเชื่อมโยงสร้างรายได้แก่บริษัททัวร์

ในวันที่ 25 มี.ค.2564 จะมีการเลือกตั้งนายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) ซึ่งเป็นสมาคมใหญ่ที่นำนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวในประเทศ (อินบาวด์) มีสมาชิกรวมกว่า 1,200 ราย ส่วนใหญ่เป็นบริษัททัวร์ หลังจากนายวิชิต ประกอบโกศล นายกแอตต้าคนปัจจุบันจะหมดวาระลง

สำหรับการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นมีการแข่งขันระหว่าง 2 ทีม ทีมแรกนำโดยนายศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร ประธานควอลิตี้ เอ็กซ์เพรส กรุ๊ป ซึ่งเป็น 1 ใน 3 รายใหญ่ของผู้ประกอบการบริษัททัวร์ที่ทำตลาดจีนในประเทศไทย และในอดีตยังเคยเป็นนายกสมาคมแอตต้าเมื่อปี 2554-2557

ส่วนทีมที่ 2 นำโดยนางมิ่งขวัญ เมธเมาลี กรรมการผู้จัดการบริษัท อิมเมจ เอเชีย จำกัด เชี่ยวชาญการทำตลาดนักท่องเที่ยวยุโรปและฝรั่งเศส ปัจจุบันยังดำรงตำแหน่งประธานสมาคมท่องเที่ยวภูมิภาคอาเซียน (ASEANTA) อีกด้วย

นายศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร กล่าวว่า การแพร่ระบาดของวิกฤติโควิด-19 ส่งผลกระทบทำให้บริษัททัวร์จำนวนมากต้องปิดกิจการลง เฉพาะสมาชิกแอตต้า มียอดปิดตัวไปกว่า 200-300 บริษัท จากทั้งหมด 1,200 บริษัท ทั้งยังเป็นวิกฤติที่รุนแรงกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา และอาจยาวนานถึง 2 ปี จึงต้องการผลักดันให้รัฐบาลจัดตั้ง “กองทุนยามวิกฤติแห่งชาติ” สำหรับผู้ประกอบการท่องเที่ยวโดยเฉพาะ ด้วยการให้รัฐเป็นฝ่ายประเดิมลงเงินทุน เมื่อมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาปกติ ค่อยคิดหาวิธีนำเงินเข้าใส่กองทุน โดยบริษัททัวร์ต้องร่วมลงเงินด้วย และคืนเงินประเดิมกลับคืนให้รัฐบาล เบื้องต้นมองว่าควรมีวงเงินกองทุนระดับพันล้านบาท

“ตอนเกิดสึนามิเมื่อปี 2547 เคยมีการคุยกันเรื่องจัดตั้งกองทุน แต่ก็ยังไม่ได้ตั้ง จนกระทั่งเกิดวิกฤติโควิด-19 ไม่มีใครยื่นมือมาช่วยเหลือธุรกิจท่องเที่ยว จึงคิดว่าถึงเวลาที่ต้องผลักดันเรื่องการจัดตั้งกองทุนกันใหม่ เวลาเกิดวิกฤติจะได้นำเงินมาปล่อยกู้ช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวกันได้ เพราะตอนนี้ภาคธุรกิจท่องเที่ยวเหมือนพระเอกที่ถูกลืม ทั้งที่เมื่อปี 2562 ภาคท่องเที่ยวสร้างรายได้คิดเป็น 18% ของจีดีพีประเทศไทย”

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าภาคท่องเที่ยวจะยังคงเป็นพระเอกในการหารายได้เข้าประเทศ แต่ระหว่างนี้ต้องการให้รัฐบาลเร่งดูแลผู้ประกอบการท่องเที่ยว มีการพักชำระหนี้ และให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) อย่างเร่งด่วนก่อน นอกจากนี้ขอเสนอให้ภาครัฐแก้ไขโครงสร้างภาษีธุรกิจท่องเที่ยวให้เป็นรูปแบบเศรษฐกิจพิเศษอัตราต่ำหรือยกเว้นด้วย

ทั้งนี้มองว่าการฉีดวัคซีนให้แก่คนในประเทศ จะเป็นจุดที่ทำให้ภาคท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัวได้เร็ว แต่ก็ขึ้นกับความพร้อมระหว่างประเทศทั้งสองฝั่ง ทั้งประเทศต้นทางและประเทศไทยที่จะรองรับนักท่องเที่ยว และขอให้บุคลากรการท่องเที่ยวได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ก่อน ขณะเดียวกันประเทศไทยจะต้องมีการจัดทำวัคซีนพาสปอร์ตให้แก่คนที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว

ด้านนางมิ่งขวัญ เมธเมาลี กล่าวว่า ภาคธุรกิจท่องเที่ยวถึงจุดที่ต้องเปลี่ยนโครงสร้างหลายอย่าง และต้องปรับไปใช้เทคโนโลยีมากขึ้น เพราะถ้าแอตต้าไม่เร่งเตรียมความพร้อมด้านนี้ให้แก่สมาชิกตั้งแต่ตอนนี้ เมื่อมีการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ธุรกิจท่องเที่ยวจะตกอยู่ในมือของบริษัทท่องเที่ยวออนไลน์ (Online Travel Agents : OTAs) ทางทีมจึงมองว่าควรจัดทำแพลตฟอร์มแบบมาร์เก็ต เพลส ขึ้นมา ภายใต้โครงการ “แอตต้า ทราเวล  เทค แอนด์ เทรด" (ATTT) เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์และกลยุทธ์การตลาดใหม่ๆ ให้เข้าถึงลูกค้าอย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะเดียวกันจะช่วยเหลือสมาชิกแอตต้าปรับโครงสร้างทางการเงินและระเบียบอื่นๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ผลักดันภาครัฐให้ช่วยคุ้มครองบริษัททัวร์ให้เป็นธุรกิจพิเศษ งดชำระภาษีทุกชนิด ต่ออายุโดยอัตโนมัติ พร้อมเข้ามาไกล่เกลี่ยคดีแรงงาน นอกจากนี้จะสร้างโครงการต่างๆ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ การทำธุรกิจท่องเที่ยวหลังโควิด-19 พร้อมพัฒนาขีดความสามารถสมาชิกผ่านโครงการเรียนรู้ทั้งในและต่างประเทศ

“สำหรับการจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือธุรกิจท่องเที่ยว ขอมองในแง่ความเป็นจริงว่าขนาดของกองทุนที่เป็นจริงได้ มุ่งเป้าช่วยเหลือเฉพาะสมาชิกแอตต้าที่มีอยู่ 1,200 ราย หรือวงเงิน 1,200 ล้านบาท”

สำหรับเรื่องวัคซีน พาสปอร์ต มองว่าถ้าได้รับเลือกเป็นนายกแอตต้า จะช่วยหนุนให้ตนยังคงอยู่ในตำแหน่งของประธานสมาคมท่องเที่ยวภูมิภาคอาเซียน (ASEANTA) ต่อไปได้ โดยจะสามารถเชื่อมโยงประเทศสมาชิกในอาเซียนให้ร่วมมือกันทำเรื่องนี้ ยิ่งถ้าประเทศอื่นๆ ในอาเซียนร่วมมือกัน และถ้าประเทศไทยไม่ตัดสินใจให้มีวัคซีน พาสปอร์ต ไทยก็จะเสียโอกาสอย่างมาก