‘ภาษีบริการดิจิทัล’ บทเรียนจากต่างแดน

‘ภาษีบริการดิจิทัล’ บทเรียนจากต่างแดน

ในการทำธุรกิจบนโลกดิจิทัล สิ่งหนึ่งที่พึงตระหนักคือภาษีดิจิทัลทั่วโลกเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาและส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ แนวโน้มที่กำลังมาแรงคือรัฐบาลต้องการเก็บภาษีจากประเทศที่ตั้งของผู้ซื้อสินค้า

เว็บไซต์ bloombergtax.com รายงานอ้างข้อมูลจากธนาคารโลก ระบุเศรษฐกิจดิจิทััลคิดเป็น 15.5% ของจีดีพีโลก และกำลังเติบโตเร็วกว่าจีดีพีโลก 2.5 เท่าตลอดช่วง 15 ปีที่ผ่านมา การขยายตัวอย่างรวดเร็วกระตุ้นให้เกิดการอภิปรายกันเรื่องกฎหมายและกฎระเบียบที่ใช้ในแง่ของภาษีระหว่างประเทศ กฎระเบียบที่มีอยู่เหมาะสมกับเศรษฐกิจโลกยุคใหม่หรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงการจัดสรรรายได้และกำไรระหว่างประเทศในแง่วัตถุประสงค์ของภาษีที่ต้องเก็บ

ส่งผลให้ในปี 2561คณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) เสนอพิจารณาการจัดเก็บภาษีธุรกิจบริการดิจิทัล (ดีเอสที) ในอัตรา 3% ของรายได้ที่มาจากการให้บริการโฆษณาออนไลน์ รายรับหรือรายได้ที่มาจากกิจกรรมการเป็นตัวกลางทางดิจิทัล และยอดขายข้อมูลผู้ใช้ที่เก็บรวบรวมไว้

ธุรกิจที่มีรายได้ทั่วโลกปีละเกิน 915 ล้านดอลาร์ และมีรายได้ที่ต้องเสียภาษีในสหภาพยุโรป (อียู) เกิน 61 ล้านดอลลาร์จะต้องถูกเก็บภาษี แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จในการผลักดันมาตรการใหม่นี้ในระดับอียู เนื่องจากไอร์แลนด์ ฟินแลนด์ และสวีเดนลงมติไม่เห็นด้วย ในขณะเดียวกัน ฝรั่งเศส สเปน อิตาลี และออสเตรีย ได้ออกกฎหมายภายในจัดเก็บภาษีดิจิทัลแล้ว ทั้งนี้ อียูมีกำหนดเสนอแผนการจัดเก็บภาษีดิจิทัลในไตรมาสที่ 2 ของปี 2564

161637031296

ที่มาที่ไปของดีเอสทีต้องย้อนไปจนถึงปี 2556 องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี) และกลุ่มประเทศจี-20 เริ่มโครงการป้องกันการถูกกัดกร่อนฐานภาษีและการโอนกำไรไปต่างประเทศ (บีอีพีเอส) มีวัตถุประสงค์สร้างระเบียบการเก็บภาษีระหว่างประเทศที่เห็นชอบร่วมกัน แก้ไขปัญหาด้านภาษีในโลกยุคดิจิทัล

เว็บไซต์ bloombergtax ระบุว่า ภาษีดีเอสทีมีพฤติกรรมบิดเบือนตลาด เลือกปฏิบัติกับบรรษัทข้ามชาติรายใหญ่ของสหรัฐ สร้างข้อได้เปรียบให้กับธุรกิจประเทศที่มีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ อีกข้อวิจารณ์ใหญ่คือภาษีจะถูกผลักไปให้ผู้บริโภค แม้บางประเทศ เช่น ฝรั่งเศสระบุว่าจะไม่ผลักภาระภาษีให้ผู้บริโภคก็ตาม

สิ่งที่เห็นตอนนีี้คือหลายบริษัทประกาศขึ้นราคาเพราะดีเอสทีไปแล้ว ยิ่งไปกว่านั้นการยื่นภาษีที่ไม่สอดประสานกันอาจทำให้เก็บภาษีซ้ำซ้อน หลายประเทศอาจมองว่ารายได้บางตัวเกิดจากประเทศตนเหมือนกัน

ตัวอย่างผลกระทบหนึ่งเช่น กูเกิลแจ้งลูกค้าเมื่อวันที่ 6 มี.ค.ว่า จะขึ้นอัตราโฆษณาบนแพลตฟอร์มฝรั่งเศสและสเปนอีก 2% ตั้งแต่เดือน พ.ค.เป็นต้นไป เพื่อชดเชยกับกำไรเจอผลกระทบจากภาษีดิจิทัล

ทั้งนี้ ฝรั่งเศสเก็บภาษีดีเอสทีตั้งแต่ปี 2562 ส่วนสเปนเพิ่งเก็บภายในปีนี้ หลังจากถูกผู้มีสิทธิเลือกตั้งกดดันให้บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่จากสหรัฐจ่ายภาษีให้มากขึ้นในประเทศที่เข้าไปปฏิบัติการ

ฌ็อง ลุค เชอตรีต์ ประธานยูนิองเดอมารค์ส พันธมิตรของแบรนด์ใหญ่กล่าวว่า การตัดสินใจของกูเกิลจะบั่นทอนขีดความสามารถในการลงทุนของแบรนด์ ในช่วงเวลาที่ทุกบริษัทกำลังเผชิญวิกฤติที่ไม่เคยเจอมาก่อน

กูเกิลไม่ได้ตอบข้อซักถามของสำนักข่าวเอเอฟพี แต่เมื่อเดือน ก.พ.การัณ บาเทีย รองประธานกูเกิลฝ่ายกิจการรัฐบาลทั่วโลก กล่าวว่า การเก็บภาษีบริการดิจิทัลทำให้ความพยายามบรรลุข้อตกลงที่สมดุลสำหรับทุกประเทศต้องพบกับความยุ่งยาก

“เราเรียกร้องให้รัฐบาลเหล่านี้พิจารณาใหม่ว่าอะไรคือภาษีที่จำเป็น หรืออย่างน้อยระงับไปก่อนระหว่างที่การเจรจายังไม่จบ”

กูเกิล แอ๊ปเปิ้ล เฟซบุ๊ค และอเมซอน กลุ่มบริษัทที่ถูกเรียกว่า “จีเอเอฟเอ” กำลังตกเป็นเป้าของรัฐบาลยุโรปที่กล่าวหาว่า ทั้ง 4 บริษัทฉวยประโยชน์จากระเบียบการตลาดร่วมของกลุ่ม ด้วยการประกาศผลกำไรทั้งหมดที่ได้จากอียู ในประเทศที่เสียภาษีต่ำอย่างไอร์แลนด์และลักเซมเบิร์ก

นักวิจารณ์กล่าวว่า จีเอเอฟเอกำลังฉกฉวยเงินภาษีหลายล้านยูโรไปจากสำนักงานสรรพากร ทั้งๆ ที่กำไรพุ่งขึ้นมากจากกิจกรรมออนไลน์ในช่วงที่คนเวิร์กฟรอมโฮมและต้องเว้นระยะท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ขณะที่ทั้ง 4 บริษัทอเมริกันตอบโต้ว่า พวกตนตกเป็นเป้าการเก็บภาษีที่เลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม