สศช.ห่วงวัยแรงงานแข่งสร้างหนี้

สศช.ห่วงวัยแรงงานแข่งสร้างหนี้

สศช.เปิดข้อมูล วัยแรงงานแข่งสร้างหนี้ ซ้ำเริ่มต้นการออมช้าตอน42ปี ส่วนเจนวายช้อปแหลกใช้เงินเดือนกว่า 69%เพื่อซื้อของฟุ่มเฟือยหวั่นกระทบการออมในอนาคต

นางสาว จินางค์กูร โรจนนันต์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ปัญหาขาดการออม การลงทุน และปัญหาหนี้สินของคนไทยนั้น จากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนในปี2562พบว่า ครัวเรือนไทยมีเงินออมต่ำเฉลี่ยเพียง133,256บาทต่อครัวเรือนและยังเริ่มออมช้า โดยการศึกษาของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่า โดยเฉลี่ยคนไทยเริ่มวางแผนการออมที่อายุ42ปี ขณะที่สหรัฐอเมริกาเริ่มวางแผนการออมตั้งแต่อายุ30ปี และเมื่อพิจารณาการลงทุนของครัวเรือนไทย ยังพบว่า ในปี2562ครัวเรือนที่ลงทุนคิดเป็นสัดส่วนเพียง2.2%ของครัวเรือนทั้งหมดอีกทั้งคนไทยยังมีการก่อหนี้ในระดับสูง

161631743769

โดยหนี้ครัวเรือน ณ ไตรมาส3ปี2563มีมูลค่า13.77ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง คิดเป็นสัดส่วน86.6%ต่อจีดีพีโดยมีหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคสูง ทั้งสินเชื่อส่วนบุคคล และบัตรเครดิต ทำให้ครัวเรือนต้องนำรายได้ส่วนหนึ่งมาจ่ายหนี้จนไม่มีเงินออม สวนทางกับการใช้จ่าย โดยเฉพาะคนเจนวาย (Gen Y ตามแนวคิดนักเศรษฐศาสตร์ คือกลุ่มคนที่เกิดในช่วงต้นของปี พ.ศ.2523- จนถึงปลาย พ.ศ.2542) ซึ่งพบว่ามีพฤติกรรมใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยโดยเฉลี่ยใช้เงินมากถึง69%ของเงินเดือน คิดเป็นมูลค่าเกือบปีละ1แสนบาท หรือเป็นมูลค่ารวมทั้งประเทศปีละ1.37ล้านล้านบาท คิดเป็น13%ต่อจีดีพี โดยการซื้อสินค้าเหล่านี้70%เป็นการใช้เงินจากการกู้ธนาคาร บัตรเครดิต และบัตรกดเงินสด สะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมใช้เงินก่อนออม ใช้จ่ายเกินตัวแบบไม่จำเป็นและมีความรู้ทางการเงินต่ำ

นางสาวจินางค์กูร กล่าวว่า สศช. ได้มีข้อเสนอทางด้านนโยบาย เพื่อเตรียมตัวรองรับสังคมสูงวัย ทั้งเร่งการพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต เน้นพัฒนาคนให้มีทักษะสูงให้ทันต่อเทคโนโลยี เสริมสร้างโอกาสทางการศึกษาตั้งแต่แรกเกิด รวมทั้งส่งเสริมการทำงานของทุกช่วงวัยจูงใจให้นักเรียนนักศึกษาเข้าสู่ตลาดแรงงานเร็วขึ้น ให้เด็กมีทักษะการทำงานและมีรายได้ ส่วนผู้สูงอายุก็อายส่งเสริมให้ขยายอายุการเกษียณจาก 60 ปี เป็น 63 ปีรองรับการขาดแคลนแรงงาน และต้องจัดสวัสดิการที่มีประสิทธิภาพไม่ให้เป็นภาระทางการคลังในระยะยาว