ธปท.หนุนเอกชนไทยออก‘สกุลเงินดิจิทัล’จ่อคลอดเกณฑ์กำกับปีนี้

ธปท.หนุนเอกชนไทยออก‘สกุลเงินดิจิทัล’จ่อคลอดเกณฑ์กำกับปีนี้

ธปท.ไฟเขียวเอกชน ออก คริปโทเคอร์เรนซี่ แต่ต้องเป็น Stablecoin ที่มีสินทรัพย์หนุนหลัง และมีกลไกรักษามูลค่า คาดออกแบบสำรวจความคิดเห็นประชาชน เอกชนกลางปีนี้ และภายในปีนี้จะออกเกณฑ์กำกับคริปโทเคอร์เรนซี่ หวังช่วยต่อยอดพัฒนาระบบการเงิน

      นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ปัจจุบันทั่วโลก มีการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัล รวมถึงคริปโทเคอร์เรนซี่ ออกมาแพร่หลายมากขึ้น เพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน หรือการลงทุนในโลกของสินทรัพย์ดิจิทัล
โดยเฉพาะ 'คริปโทเคอร์เรนซี่' ที่เป็น Stablecoin หรือมีสินทรัพย์หนุนหลัง และมีกลไกในการรักษามูลค่า เพื่อให้มูลค่าผันผวนน้อย

.      ซึ่ง ธปท.มองว่า มีประโยชน์ต่อระบบ และสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ช่วยลดต้นทุนในระบบการเงิน และสามารถช่วยต่อยอดนวัตกรรมทางการเงินต่างๆเพิ่มขึ้นในอนาคตได้ ดังนั้นหากเป็น คริปโทเคอร์เรนซี่ ที่เป็น Stablecoin ธปท.ก็มีการสนับสนุน หากเอกชนไทยต้องการที่จะออกในอนาคต
      ปัจจุบันเริ่มมีภาคเอกชน เข้ามาหารือกับธปท.แล้วหลายราย เพื่อออก คริปโทเคอร์เรนซี่ ที่เป็น Stablecoin

      ดังนั้นระยะข้างหน้า ธปท.เตรียมจะมีการ Consultation paper หรือการเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อการกำกับดูแล คริปโทเคอร์เรนซี่ และ Stablecoin โดยคาดว่าจะสามารถออกได้ภายในกลางปีนี้ ก่อนที่จะมีการออกเป็นกฏเกณฑ์กำกับ คริปโทเคอร์เรนซี่และ Stablecoin ภายใต้ปี 2564 นี้ต่อไป

   “ปัจจุบัน คริปโทเคอร์เรนซี่ มีการใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้นทั่วโลก ดังนั้นธปท.ก็ต้องมาศึกษา ถึงข้อดีข้อเสีย ในการนำมาใช้ในอนาคตด้วย ซึ่งปัจจุบัน คริปโทเคอร์เรนซี่ก็มีหลายประเภท แต่ประเภทที่ธปท.สนับสนุน จะต้องเป็น Stablecoin ที่มีสินทรัพย์หนุนหลัง ไม่ว่าเงินบาท หรือสินทรัพย์อื่นๆ ที่ราคาไม่ผันผวน และรักษามูลค่าสินทรัพย์ไว้ ดังนั้นอนาคตหากมีการใช้ คริปโทเคอร์เรนซี่ ที่เงินบาทหนุนหลัง การใช้ก็จะแบ่งเป็นการใช้เงินบาทในรูปดิจิทัล และใช้หมุนเวียนในระบบปกติ”

     อย่างไรก็ตาม คาดว่ากลุ่มที่จะออก คริปโทเคอร์เรนซี่ได้ก่อน คือกลุ่มที่ มี THB-Backed ที่มีสกุลเงินบาทหนุนหลัง เนื่องจากเกณฑ์กำกับกลุ่มนี้ จะมีความคล้ายคลึงกับเกณฑ์กำกับเงินอิเล็กทรอนิสก์ หรืออีมันนี่ ที่ผู้ให้บริการกลุ่มนี้อาจมีการนำคริปโทเคอร์เรนซี่ไปใช้ในกรอบจำกัด
      ต่างกับกลุ่ม คริปโทเคอร์เรนซี่ ที่เป็น Stablecoin ,Asset-Backde หรือ Fx- Backet ที่มีสกุลเงินอื่นๆหนุนหลัง ที่อาจออกได้ช้ากว่า เนื่องจาก เกณฑ์กำกับกลุ่มนี้อาจต่างจากกลุ่มแรก เพราะการนำ คริปโทเคอร์รี่ซี่ไปใช้กลุ่มนี้อาจมีความหลากหลายมากกว่า และสามารถนำไปใช้พัฒนาหรือต่อยอดการให้บริการทางการเงินอื่นๆได้มากกว่า ดังนั้นเกณฑ์กำกับการดูแลกลุ่มนี้อาจมีความซับซ้อนมากกว่า
     “กฏเกณฑ์กำกับดูแลผู้ออกคริปโทเคอร์เรนซี่ แม้จะคล้ายคลึงกับผู้ให้บริการอีมันนี่ แต่กฏเกณฑ์กำกับจะต้องเป็นคนละชุดที่มากำกับ เพราะคริปโทเคอร์เรนซี่มีเกณฑ์กำกับที่เพิ่มขึ้น หลากหลาย”
      ขณะเดียวกัน สำหรับการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัล ที่พัฒนาโดยธนาคารกลาง หรือที่เรียกว่า โครงการอินทนนท์ นั้น ปัจจุบันธปท.อยู่ระหว่างการยกระดับการให้บริการภาคการเงินไปสู่ระดับประชาชน เพื่อนำไปต่อยอดเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการให้บริการ เพื่อการเข้าถึงทางการเงินมากขึ้น ซึ่งคาดว่าภายในต้นเม.ย.นี้ ธปท.จะมีการออก Direction Paper
      อีกทั้งในปี 2564-2565 ธปท.จะมีการศึกษานโยบายและการดำเนินการพัฒนาระบบควบคู่กันไป โดยจะติดตามการศึกษาของประเทศจีนที่มีการออกมาใช้ก่อนหน้านี้ด้วย

     อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ มีกระแสข่าวว่า ผู้ใช้บริการเอกชน จะมีการคริปโทเคอร์เรนซี่ ที่อยู่ในแพลตฟอร์ม Terra Platform หรือ THT ที่อยู่ในต่างประเทศ โดยระบุ 1 หน่วย เท่ากับ 1 บาทนั้น ประเภทนี้คือ คริปโทเคอร์เรนซี่ ประเภท Algorithmic ที่มีการประยุกต์ใช้กลไก Smart contract รักษามูลค่า
     ซึ่งการอ้างอิงมูลค่า เป็นเงินบาทนั้น ถือว่า มาตรา 9 พรบ.เงินตราธปท. เพราะมีการอ้างว่าสามารถนำมาใช้ทดแทนเงินบาท ซึ่งอาจทำให้เกิด เงินสองสกุลขึ้น ดังนั้นหากมีการใช้กันแพร่หลาย

      สุดท้ายอาจส่งผลกระทบต่อระบบการเงินได้ เพราะเงินบาทที่ใช้ได้ต้องถูกกฎหมาย ที่มีธปท.กำกับดูแล มูลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ แต่เหรียญที่ออกโดยเอกชน อาจมีความผันผวน หากมีคนใช้จำนวนมาก สุดท้ายอาจส่งผลกระทบต่อผู้ถือเงินบาทและกระทบต่อระบบการเงินในอนาคตได้
     ดังนั้นการออกประกาศดังกล่าว ก็เพื่อป้องปราบและเตือนประชาชน ว่าคริปโทเคอร์เรนซี่ดังกล่าว ผิดตามพรบ.เงินตราธปท. หากเกิดความเสียหายผู้ที่เกี่ยวข้องต้องรับความเสี่ยงเอง