'ศาลฎีกา' ให้พิจารณาใหม่ 'แทน เทือกสุบรรณ' รุกป่าเขาเเพง หลังยกฟ้อง

'ศาลฎีกา' ให้พิจารณาใหม่ 'แทน เทือกสุบรรณ' รุกป่าเขาเเพง หลังยกฟ้อง

'ศาลฎีกา' ยกคำพิพากษา 'ศาลอุทธรณ์' หลังยกฟ้อง ‘แทน เทือกสุบรรณ 'รุกป่าเขาเเพง ให้ย้อนสำนวนไปพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี.

18 มี.ค.2564 ที่ห้องพิจารณา 811 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา คดีรุกป่าเขาแพง หมายเลขดำ อ.3534/56  ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ฟ้องนายพรชัย ฟ้าทวีพร อายุ 58  ปี ผจก.ห้างหุ้นส่วนเรืองปัญญาคอนสตรัคชั่น , นายสามารถ หรือ โกเข็ก เรืองศรี อายุ 66 ปี หุ้นส่วน หจก.เรืองปัญญาคอนสตรัคชั่น และนายหน้าขายที่ดิน นายแทน เทือกสุบรรณ อายุ 42  ปี บุตรชายของนายสุเทพ  เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำ กปปส. และนายบรรเจิด เหล่าปิยะสกุล อายุ 63 ปี อดีตเลขานุการส่วนตัวของนายสุเทพ เป็นจำเลยที่ 1- 4  ในความผิดฐานร่วมกันก่อสร้าง แผ้วถางป่า หรือเผาป่า หรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการทำลายป่า หรือเข้ายึดถือครอบครองป่าเพื่อตนเองและผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต และฐานเข้าไปยึดถือ ครอบครอง ก่อสร้าง หรือเผาป่าในที่ดินของรัฐโดยมิได้มีสิทธิครอบครองหรือไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 , 108 ทวิ และ พ.ร.บ.ป่าไม้ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2518 มาตรา 22

โจทก์ฟ้องความผิดสรุปว่า เมื่อระหว่างวันที่ 27 ก.ย.43 – 5 ต.ค.44 ต่อเนื่องกัน จำเลยที่ 1-2 ร่วมกันบุกรุกเข้าไปยึดถือ ครอบครอง ทำลาย แผ่วถางป่าเขาแพง อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เนื้อที่31 ไร่ 2 งาน 97 ตร.วา 

ส่วนจำเลยที่ 3-4 ร่วมกันบุกรุกเข้าไปยึดถือ ครอบครอง ทำลาย แผ่วถางป่าเขาแพง อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เนื้อที่ 14 ไร่ ด้วยการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำโดยไม่ได้รับอนุญาต 
จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ

คดีนี้ศาลอาญาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า พวกจำเลยกระทำผิดจริง พิพากษา จำคุกจำเลยที่ 1-2 คนละ  5 ปี ส่วนจำเลยที่ 3-4 จำคุกคนละ 3 ปี  โดยไม่รอลงอาญา เนื่องจากเป็นเรื่องร้ายแรง พวกจำเลยอุทธรณ์ ต่อมาวันที่2 ต.ค.61 ศาลอุทธรณ์ พิพากษาแก้ ยกฟ้องพวกจำเลยทั้งหมด อัยการโจทก์ยื่นฎีกา  ขอให้ลงโทษพวกจำเลย

ศาลฎีกาเเผนกคดีสิ่งเเวดล้อมตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือเเล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 1-2ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่   เห็นว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1,2 ตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 9,108ทวิกับพ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2464มาตรา 54,55,72ตรีโดยโจทก์ระบุถึงฐานความผิดที่ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสี่อย่างชัดแจ้งและบรรยายฟ้องมีสาระสำคัญว่า จำเลยที่ 1, 2ได้บังอาจร่วมกันบุกรุกอันเป็นการทำลายเข้าไปยึดถือครอบครองพื้นที่ป่าที่เกิดเหตุซึ่งเป็นที่ดินของรัฐ และเป็นที่ดินที่ยังมิได้มีบุคคลใดได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายที่ดินโดยจำเลยที่1-2ไม่มีสิทธิครอบครองหรือได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นความผิดตามบทกฎหมายที่โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องดังกล่าวอันเป็นการบรรยายฟ้องที่ได้ระบุการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยที่1,2ได้กระทำผิดข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งเกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยที่ 1,2เข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว

ส่วนการกระทำของจำเลยที่1,2จะเป็นความผิดหรือไม่อย่างไรยึดถือครอบครองพื้นที่ป่าที่เกิดเหตุอย่างไรบ้างเป็นรายละเอียดที่จะนำสืบในชั้นพิจารณาและเป็นเรื่องที่ศาลจะวินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนต่อไปทั้งจำเลยที่1,2 ก็เข้าใจข้อหาได้ดีโดยให้การปฏิเสธต่อสู้คดีมาตลอดตั้งแต่ชั้นพนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษโดยอ้างว่าจำเลยที่ 1,2มีสิทธิครอบครองที่ดินที่เกิดเหตุตามกฎหมายและเป็นการซื้อขายต่อมาจากเจ้าของที่ดินรายเดิมการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3ก.) ทั้ง3แปลงปฏิบัติโดยถูกต้องตามกฎหมายดังนี้ฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่1,2 จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158(5)แล้วที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย เนื่องจากศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยที่ 1,2ที่โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าจำเลยที่1,2มิได้กระทำความผิด แต่กลับข้ามไปพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3,4ซึ่งมีความเกี่ยวพันต่อเนื่องเชื่อมโยงกับการกระทำของจำเลยที่1,2

ทั้งที่มูลเหตุของการดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสี่ก็สืบเนื่องมาจากที่ดิน ส.ค. 1 ทั้งสามแปลงที่จำเลยที่ 1,2นำมาดำเนินการขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3ก.) ทั้งสามแปลงที่เกิดเหตุ

ทั้งนี้การที่ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1,2ต่อไปนั้นอาจเป็นผลให้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เปลี่ยงแปลงไปเพื่อให้การวินิจฉัยคดีไม่เป็นการลักลั่นและการกำหนดโทษจำเลยทั้งสี่เป็นไปตามลำดับศาลเพราะผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์อาจนำไปสู่การจำกัด สิทธิฎีกาของคู่ความได้ศาลฎีกาเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา204(2)ประกอบมาตรา 225
ศาลฎีกาจึงพิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี.

ผู้สื่อข่าวรายงานงาน  หลังจากนี้ศาลอาญาจะดำเนินการส่งคืนคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณาและมีคำพิพากษาใหม่ ตามความเห็นของศาลฎีกาต่อไป.