หุ้น OR ราคาพุ่ง โบรกฯ ต่างชาติมองเป้า 36 บาท

หุ้น OR ราคาพุ่ง โบรกฯ ต่างชาติมองเป้า 36 บาท

“โออาร์” ราคาพุ่งกว่า 10% วอลุ่มแน่น “กสิกรไทย” ชี้โบรกฯ ต่างชาติออกบทวิเคราะห์ให้ราคาเหมาะสม 36 บาท คาดมีดีลซื้อกิจการต่อเนื่อง เก็งเข้าคำนวณดัชนีฟุตซี่ ด้าน “กิมเอ็ง” เชื่อสัปดาห์นี้ยังไม่ติดแคชบาลานซ์ “ซีจีเอส- ซีไอเอ็มบี” ลุ้นวีไอ-กองทุนเข้าซื้อ

ความเคลื่อนไหวราคาหุ้น ของ บมจ. ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR) ปรับตัวเพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงเช้า โดยกลับมาปิดตลาดที่ราคาสูงสุดของวันที่ 33 บาท เพิ่มขึ้น 3.25 บาท หรือ 10.92% มูลค่าซื้อขาย 12,056.29 ล้านบาท สูงสุดในตลาดหุ้นไทย

นายจักรพงศ์ เชวงศรี ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ราคาหุ้น OR ปรับตัวขึ้น 10% เนื่องจาก โบรกเกอร์ต่างประเทศได้ออกบทวิเคราะห์ โดยประเมินกรณีดีที่สุด (Best Case) ที่ราคาเหมาะสมของ 36.00 บาทต่อหุ้น ส่งผลให้นักลงทุนรายย่อยและกองทุนรวมต่างประเทศที่เห็นด้วยเข้าซื้อหุ้นเพิ่มเติม อีกทั้งนักลงทุนยังเข้ามาเก็งกำไรจากความคาดหวังบริษัทเติบโต จากการขยายกิจการในอนาคต

ทั้งนี้ เนื่องจาก OR มีเงินระดมทุนที่ได้จากการขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะสามารถนำไปต่อยอดได้อีกมากผ่านรูปแบบการควบรวมและซื้อกิจการ (M&A) นอกจากนี้ คาดหวังจะเข้าคำนวณในดัชนีฟุตซี่ (FTSE) ส่งผลให้กองทุนรวมต่างประเทศที่ลงทุนตามดัชนีดังกล่าวต้องปรับน้ำหนักการลงทุนตามดัชนีที่อ้างอิง

สำหรับกลยุทธ์การลงทุน ฝ่ายวิจัยแนะนำ “ถือ” เพื่อรอรับโอกาสการประกาศดีลการซื้อกิจการหรือโอกาสการขยายธุรกิจเพิ่มเติม โดยเฉพาะธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจน้ำมัน (Non-oil) ที่ใช้งบลงทุนไม่มาก แต่เป็นธุรกิจที่มีมูลค่ามหาศาล เช่น ดีลการซื้อร้านอาหาร “โอ้กะจู๋” ที่ใช้งบลงทุนประมาณ 400 ล้านบาท เมื่อเทียบกับหุ้นอาหารในตลาดหุ้น ได้แก่ บมจ.อาฟเตอร์ ยู (AU) และ บมจ.เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป (M) มีมูลค่าทางบัญชีต่อหุ้น (P/BV) ค่อนข้างสูงประมาณ 10 เท่า มากกว่าบริษัทแม่ คือ บมจ.ปตท. (PTT) มี P/BV เพียง 4 เท่า

“เราเชื่อว่า OR จะไม่กองเงิน 5 หมื่นล้านบาท ที่ได้เอาไว้เฉยๆ จะต้องนำไปขยายธุรกิจ หากนักลงทุนที่ถือหุ้นอยู่หากขายออกไปอาจไม่มีสิทธิซื้อกลับได้ในราคานี้แล้ว หากนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ ก็สามารถลงทุนได้ เพราะเทียบกับโอกาสเติบโตในอนาคตจากเงิน IPO ก็ถือเป็นหุ้นที่ราคาไม่สูงมาก”

ทั้งนี้ บริษัทอาจพิจารณาปรับราคาเหมาะสมขึ้น หาก OR มีการเปิดเผยข้อมูลการลงทุนในอนาคตที่ชัดเจน ซึ่งปัจจุบันให้ราคาเหมาะสมที่ 27.60 บาทต่อหุ้น

นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่เห็นปัจจัยบวกใหม่ที่มีความชัดเจนเข้ามาหนุนราคาหุ้น OR แต่มีความเป็นไปได้ว่าหุ้น OR จะมีปัจจัยบวกใหม่เข้ามาสนับสนุน โดยคาดว่าการปรับขึ้นครั้งนี้จะเป็นขาขึ้นของหุ้น OR และประเมินกรอบแนวต้านไว้ที่จุดสูงสุดเดิม 36.50 บาทต่อหุ้น นอกจากนี้ การขยับขึ้นของราคาหุ้นจะส่งผลให้นักลงทุนสถาบันต้องปรับเพิ่มน้ำหนักการลงทุน เนื่องจากหุ้น OR เป็นหุ้นใหญ่ 20 อันดับแรกในดัชนี SET50 ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

เมื่อสอบถามถึงความเสี่ยงที่หุ้น OR จะติดเกณฑ์ซื้อขายด้วยบัญชีเงินสด (Cash Balance) นายวิจิตร กล่าวว่า การติด Cash Balance รอบนี้ยังเป็นไปได้ยาก เนื่องจากจะต้องมีการซื้อขายใน 1 สัปดาห์เกิน 3.6 หมื่นล้านบาท โดยเริ่มนับตามเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 12 มี.ค. ถึงวันที่ 17 มี.ค. มีมูลค่าซื้อขายรวมประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้หุ้น OR ยังสามารถซื้อขายได้อีกเท่าตัวในวันที่ 18 มี.ค. ซึ่งจะเป็นวันสุดท้ายของการคำนวณเกณฑ์ Cash Balance รอบล่าสุด

นายกิติชาญ ศิริสุขอาชา ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัย บล. ซีจีเอส- ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า ราคาหุ้น OR ขึ้นแรง หลังจากโบรกต่างประเทศออกบทวิเคราะห์แนะนำซื้อและปรับราคาเหมาะสมขึ้น ทำให้มีแรงซื้อจากนักลงทุน VI รายใหญ่ในประเทศเข้าซื้อ และด้วยราคาหุ้นที่ปรับขึ้นแรง ทำให้คาดว่ากองทุนประเภท Active เข้ามาซื้อเพิ่ม