“เอสโฮเทล-ไมเนอร์” ขายโรงแรมเสริมแกร่งการเงิน

“เอสโฮเทล-ไมเนอร์” ขายโรงแรมเสริมแกร่งการเงิน

ความเคลื่อนไหวของทุนโรงแรมไทยอย่าง “เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท” และ “ไมเนอร์ โฮเทลส์” ต่างอยู่ระหว่างเจรจาขายโรงแรมด้วยเหตุผลแตกต่างกันไป

ฝั่งเอสโฮเทลฯให้เหตุผลว่าต้องการสร้างรายได้และมูลค่าเพิ่มให้กับบริษัท ขณะที่ไมเนอร์ฯต้องการนำเงินที่ได้จากการขายโรงแรมไปลดหนี้ เพื่อเสริมแกร่งฐานะทางการเงิน!

เดิร์ก อังเดร ลีน่า คุยเบอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) ในเครือสิงห์เอสเตท กล่าวว่า เอส โฮเทลเตรียมขายโรงแรมที่ไม่ทำกำไรในประเทศอังกฤษ คาดขายได้ 5-6 แห่ง จากปัจจุบันมีอยู่ 29 แห่ง คิดเป็นจำนวนห้องพัก 3,115 ห้องพัก ขณะเดียวกันก็เตรียมลงทุนอัพเกรดและรีโนเวตโรงแรมในอังกฤษอีก 4-5 แห่งด้วยเช่นกัน

“เรายังคงเชื่อมั่นในศักยภาพของภาคท่องเที่ยวในประเทศอังกฤษซึ่งพึ่งพาตลาดนักเดินทางในประเทศ จึงได้กระจายยุทธศาสตร์ที่ตั้งของโรงแรมตั้งแต่เหนือจรดใต้ แม้ตอนนี้ภาพรวมจะยังไม่ค่อยดีเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 แต่โปรแกรมการกระจายฉีดวัคซีนแก่ประชากรในอังกฤษยังเป็นไปตามแผน จึงคาดว่าน่าจะเริ่มเห็นดีมานด์นักท่องเที่ยวทั่วไปและนักธุรกิจฟื้นตัวเร็วๆ นี้ช่วงปลายไตรมาสที่ 2 เข้าสู่ไตรมาสที่ 3 ของปีนี้”

ทั้งนี้มองว่ารายได้ของเอส โฮเทล จะกลับมาเป็นปกติตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ของปี 2565 เป็นตั้งไป และเห็นการฟื้นตัวดีต่อเนื่อง!

โดยรายงานจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ระบุว่า ปี 2562 เอส โฮเทลมีรายได้ส่วนของโรงแรม 3.81 พันล้านบาท ขาดทุน 466 ล้านบาท แต่ปี 2563 รายได้ส่วนของโรงแรมลดลงเหลือ 1.56 พันล้านบาท ขาดทุน 2.37 พันล้านบาท ด้วยผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19

ก่อนหน้านี้ ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาเชิงกลยุทธ์ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) รายงานต่อ ตลท. ว่า สำหรับแนวโน้มการบริหารจัดการกระแสเงินสดและฐานะการเงิน จากการประหยัดค่าใช้จ่ายอย่างเข้มงวดในทุกหน่วยธุรกิจและทั่วทุกภูมิภาค ส่งผลให้บริษัทมีค่าใช้จ่ายรวมลดลง 34% ในปี 2563 จากปีก่อน ซึ่งมากกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ก่อนหน้านี้ที่ 25% โดยมีการลดลงของค่าใช้จ่ายหลักทั้งสองหมวด ค่าใช้จ่ายในส่วนของบุคลากรเป็นส่วนที่ลดลงมากที่สุด 30% ตามด้วยค่าเช่าอยู่ที่ 18% โดยบริษัทจะยังคงมีมาตรการการลดค่าใช้จ่าย และการบริหารจัดการกระแสเงินสดอย่างเข้มงวดต่อไปในปี 2564 ทุกหน่วยธุรกิจจะยังคงมุ่งเจรจาต่อรองกับผู้ให้เช่าเพื่อขอลดค่าเช่าเพิ่มเติม

นอกจากนี้ “เอ็นเอช โฮเทล กรุ๊ป” อยู่ในระหว่างการวางแผนสำหรับการลดจำนวนพนักงานเป็นการถาวร หากมาตรการช่วยเหลือจากทางรัฐบาลสิ้นสุดลง อีกทั้งบริษัทจะมีการลดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดหาวัตถุดิบและเครือข่ายการขนส่ง

ในส่วนของสภาพคล่อง ณ สิ้นเดือน ม.ค.2564 บริษัทมีเงินสดในมือจำนวนประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท และวงเงินสินเชื่อจำนวน 2.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งเพียงพอต่อการดำเนินงานในอนาคตจากการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกที่ 2 อัตราการใช้เงิน (Cash Burn) ของบริษัทอยู่ที่ประมาณ 1.6 พันล้านบาทต่อเดือนในไตรมาสที่ 4 ปี 2563 ซึ่งอัตราการใช้เงินดังกล่าวคาดว่าจะลดลงเมื่อเริ่มกลับมามีการเดินทางได้อีกครั้ง

เนื่องจากสถานการณ์ในระยะสั้นยังคงมีความไม่แน่นอน บริษัทจึงได้มีการดำเนินมาตรการป้องกันเพื่อบริหารจัดการฐานะทางการเงิน โดยบริษัทได้ประสบความสำเร็จในการขยายระยะเวลาการยกเว้นการทดสอบการดำรงอัตราส่วนทางการเงินออกไปอีก 2 ปีจนถึงสิ้นปี 2565 นอกจากนี้ผู้ถือหุ้นกู้ของ MINT ได้อนุมัติการไม่นับรวมผลกระทบจากการด้อยค่าสินทรัพย์จากสถานการณ์โควิด-19 ในส่วนของผู้ถือหุ้นเพื่อการคำนวณอัตราส่วนทางการเงินดังกล่าวตามข้อกำหนดสิทธิไปจนถึงสิ้นปี 2567

อีกทั้งบริษัทอยู่ในระหว่างการดำเนินการตามแผนกลยุทธ์ “การหมุนเวียนสินทรัพย์” ในปี 2564 โดย “ไมเนอร์ โฮเทลส์” ได้พิจารณาขายโรงแรม 4-5 แห่ง และอยู่ระหว่างการเจรจาอย่างจริงจังกับนักลงทุนในอสังหาริมทรัพย์หลายรายในการขายสินทรัพย์ดังกล่าวและเช่ากลับ หรือรับจ้างบริหารต่อ โดยบริษัทจะใช้เงินสดที่ได้รับจากการขายสินทรัพย์ดังกล่าวเพื่อลดระดับหนี้สินของบริษัท เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของฐานะทางการเงิน!

ในขณะที่สภาพแวดล้อมทางธุรกิจมีแนวโน้มที่จะดีขึ้น ส่งผลให้การดำเนินธุรกิจของบริษัทเริ่มมีการฟื้นตัว อย่างไรก็ตามบริษัทได้ดำเนินกลยุทธ์เชิงรุกและเชิงป้องกัน เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับเหตุการณ์ท้าทายที่อาจจะเกิดขึ้นหรือสถานการณ์ที่อาจจะยืดเยื้อในปี 2564 และต่อไป