'ปตท.สผ.'เมินการเมืองเมียนมา ลุยลงทุนโรงไฟฟ้าฯ 600 MW

'ปตท.สผ.'เมินการเมืองเมียนมา ลุยลงทุนโรงไฟฟ้าฯ 600 MW

การลงทุนต้องมีแผนที่ชัดเจนเพื่อสร้างความแน่นอน แต่ไม่ว่าแผนที่ตั้งไว้จะรัดกุม ชัดเจนมากแค่ไหนแต่ปัจจัยแวดล้อมต่างๆยอมเกิดขึ้นได้ทั้งแบบที่แผนได้กำหนดหรือมองเห็นไว้อยู่แล้วว่าจะเกิดขึ้น และปัจจัยอื่นที่ไม่ได้คาดคิดไว้ ซึ่งรวมถึง“การเมืองในเมียนมาด้วย

“การลงทุนอาจล่าช้าไปจากแผนเล็กน้อย จากโควิด-19 และเหตุการณ์รัฐประหารในเมียนมา แต่เชื่อมั่นว่าโครงการยังเดินหน้าได้”

พงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ "ปตท.สผ." เปิดเผยว่า บริษัท ตั้งเป้าหมายจะมีกำไรจากธุรกิจใหม่ มีสัดส่วน 20% ในช่วง 10 ปี หรือ ภายในปี 2573 โดยจะมาจากการขยายการเติบโตใน 2 ธุรกิจใหม่ คือ ธุรกิจเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด (เออาร์วี) หลังจัดตั้งบริษัทมาได้ประมาณ 2 ปี เริ่มเห็นทิศทางที่ชัดเจนมากขึ้น ประกอบกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปีที่ผ่านมาเป็นส่วนสนับสนุนให้ขยายธุรกิจได้เร็วขึ้น จากเดิมมีพนักงานแค่ 20 คน ปัจจุบันเพิ่มเป็น 100 คน และได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดบ้างแล้ว

ธุรกิจการพัฒนานวัตกรรมอากาศยานไร้คนขับ หรือ โดรน เพื่อใช้สำหรับอุตสาหกรรมตรวจสอบเสาไฟฟ้า เสาเทเลคอม รวมถึงการจับมือกับบริษัท ไทย แอดวานซ์ อินโนเวชั่น จำกัด (ไทย เอไอ) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ ไทยคม พัฒนาโดรนเพื่อใช้ในงานเกษตรกรรม ให้เกิดเป็นแพลตฟอร์มบริการครบวงจร เข้ามาช่วยทำการเกษตรในรูปแบบของสมาร์ท ฟาร์มมิ่ง อีกทั้งจะรุกเข้าสู่สาธารณะสุข เพื่อพัฒนาอุปกรณ์ทางการแพทย์ 

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีอีกธุรกิจใหม่คือ โครงการ Gas to Power ในเมียนมา หลังจากเมื่อวันที่ 30 ธ.ค.2563 บริษัทได้ลงนามในหนังสืออนุญาตให้เริ่มดำเนินงาน (Notice to Proceed) ของโครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติในเมียนมา (Integrated Domestic Gas to Power) เพื่อนำก๊าซธรรมชาติจากโครงการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวเมาะตะมะ โดยเริ่มแรกจะนำก๊าซฯ จากโครงการซอติก้า และโครงการเมียนมา เอ็ม3 มาใช้ในการผลิตไฟฟ้าในโครงการ ด้วยมูลค่าการลงทุนประมาณ 2,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อดำเนินการพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติ การก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม ขนาดกำลังการผลิต 600 เมกะวัตต์ ในเขตไจลัท ภูมิภาคอิรวดี การก่อสร้างระบบท่อขนส่งก๊าซฯ ทั้งในทะเลและบนบก จากเมืองกันบก-เมืองดอร์เนียน-เมืองไจลัท รวมระยะทางประมาณ 370 กิโลเมตร และการวางระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูงจากเขตไจลัทไปยังเขตลานทายาในภูมิภาคย่างกุ้ง มีระยะเวลาสัญญา 20 ปี และสามารถต่ออายุสัญญาได้ 5 ปี นับจากวันเริ่มขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์  161598044099

 

“ขณะนี้ อยู่ระหว่างหาผู้ร่วมทุนในโครงการซึ่งจะเป็นพันธมิตรท้องถิ่นว่าจะมาร่วมสร้างประโยชน์ในโครงการอย่างไร คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้ และคาดว่าจะสามารถเจรจาค่าไฟพร้อมลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA)ได้ในช่วงต้นปี2565 ซึ่งยอมรับว่า การตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (Final Investment Decision) อาจล่าช้าไปจากแผนเล็กน้อย จากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 และเหตุการณ์รัฐประหารในเมียนมา แต่เชื่อมั่นว่าโครงการยังเดินหน้าได้”

อย่างไรก็ตาม โครงการ Gas to Power ในเมียนมา จะเป็นการร่วมทุนระหว่าง 3 ฝ่าย คือ ปตท.สผ. กับบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC และพันธมิตรท้องถิ่น โดยปตท.สผ.จะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ขณะที่จีพีเอสซี จะเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้า ซึ่งในอนาคตโรงไฟฟ้ายังสามารถเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าไปได้ถึง 1,000 เมกะวัตต์

สำหรับแผนการลงทุนในปี2564 ปตท.สผ. ยังดำเนินการตามแผนกลยุทธ์ “Execute & Expand” มุ่งความสำคัญบริหารจัดการช่วงเปลี่ยนผ่านการบริหารแหล่งก๊าซในประเทศ คือ แหล่งเอราวัณและแหล่งบงกช ที่จะสิ้นสุดสัมปทานเดิมในเดือนเม.ย.2565 และให้ความสำคัญกับการลงทุนขุดเจาะสำรวจฯเพิ่ม 11 หลุมในปีนี้ ประกอบด้วย โครงการในมาเลเซีย 6 แปลง โครงการเม็กซิโก 3 แปลง โครงการในโอมาน 1 แปลง และโครงการสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์(UAE) 1 แปลง

161598047741

รวมถึงการเพิ่มโอกาสลงทุนในแหล่งใหม่ๆ เช่น ต้นปีนี้ บริษัทได้เข้าไปลงทุนถือหุ้น 20% ในแปลง Oman Block 61 ที่ประเทศโอมาน ซึ่งแหล่งนี้เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ ปตท.สผ. ลดต้นทุนต่อหน่วยลงเหลือ 25 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ภายในปี 2573 จากปัจจุบัน อยู่ที่ 30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล อีกทั้งการถือหุ้นใน Oman Block 61 ยังจะช่วยเพิ่มโอกาสต่อรองขอเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในโครงการโอมาน แอลเอ็นจี (Oman LNG หรือ OLNG) ที่ปัจจุบัน บริษัทถืออยู่ประมาณ 2% โดยคาดหวังจะได้สัดส่วนเพิ่มเป็น 5-10% ในอนาคต

นอกจากนี้ ในส่วนของโครงการโมซัมบิก แอเรีย 1 ภายใต้สัญญาเงินกู้ในรูปแบบ Project Finance วงเงิน 1.49 หมื่นล้านดอลลาร์ ขณะนี้ได้เงินกู้ก้อนแรกแล้ว เพื่อนำมารองรับค่าใช้จ่ายในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของโครงการฯได้ ก่อนผลิตเชิงพาณิชย์ในปี 2567 สำหรับงบลงทุนในปีนี้ ตั้งไว้อยู่ที่ระดับ 4,000 ล้านดอลลาร์ คาดว่าปริมาณการขายทั้งปี อยู่ที่ 398,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน