‘เงินบาท’วันนี้เปิด ‘ทรงตัว’ที่ 30.74บาทต่อดอลลาร์

‘เงินบาท’วันนี้เปิด ‘ทรงตัว’ที่ 30.74บาทต่อดอลลาร์

ตลาดการเงินเคลื่อนไหวกรอบแคบ หลัง AstraZeneca ท่ามกลางความกังวลกับผลข้างเคียง สร้างความล่าช้าให้กับแคมเปญการฉีดวัคซีน และรอผลการประชุมเฟดก่อนเช่นเดียวกันคาดในวันนี้ค่าเงินบาทยังแกว่งตัวไปกับสกุลเงินเพื่อนบ้าน

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้าทีมกลยุทธ์การลงทุน EASY INVEST บริษัทหลักทรัพย์(บล.) ไทยพาณิชย์ หรือ SCBS เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ 30.74 บาทต่อดอลลาร์ ไม่เปลี่ยนแปลงจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อน ประเมินกรอบเงินบาทระหว่างวัน 30.65-30.85 บาทต่อดอลลาร์

ตลาดการเงินเคลื่อนไหวในกรอบแคบช่วงคืนที่ผ่านมา ดัชนี S&P 500 ของสหรัฐปรับตัวขึ้น 0.65% ด้วยแรงหนุนของหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีที่ฟื้นตัว ส่วนดัชนี STOXX 600 ของยุโรปแทบไม่เปลี่ยนแปลง หลังนักลงทุนขายทำกำไรหุ้นเยอรมันสลับกับซื้อหุ้นในอิตาลี เนื่องจากประเทศใหญ่ในยุโรประงับการใช้วัคซีนโควิด-19 ของ AstraZeneca ท่ามกลางความกังวลกับผลข้างเคียง สร้างความล่าช้าให้กับแคมเปญการฉีดวัคซีน

ส่วนในฝั่งตลาดเงิน ดอลลาร์ฟื้นตัวขึ้น 0.1% จากมุมมองของนักค้าเงินว่าตลาดทุนในอเมริกาแข็งแกร่งกว่าทั่วโลก แต่บอนด์ยีลด์สหรัฐอายุสิบปีปรับตัวลง 2bps มาที่ระดับ 1.61% กลับชี้ว่านักลงทุนในฝั่งสหรัฐเองยังไม่มั่นใจว่าสินทรัพย์เสี่ยงจะกลับเป็นขาขึ้นหรือไม่ เช่นเดียวกับราคาทองคำที่ทรงตัวระดับ 1731ดอลลาร์ต่อออนซ์ ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดลดลงที่ 65 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และราคาบิทคอยน์ที่ปรับตัวลงมาที่ระดับ 56,000 ดอลลาร์ ทั้งหมดส่งสัญญาณว่าตลาดการเงินกำลังรอผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ก่อนที่จะมีการเคลื่อนไหวอย่างชัดเจน

ส่วนเงินบาทช่วงนี้กลับมาซื้อขายในกรอบแคบ โดยมีแรงเก็งกำไรว่าเงินบาทจะอ่อนค่าจากนักลงทุนต่างชาติเนื่องจากความเสี่ยงเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้นหลังการเปิดเมืองอาจต้องเลื่อนออกไป แต่ผู้ส่งออกกลับมาทยอยขายเงินดอลลาร์ โดยมองว่าเงินบาทอ่อนค่าเร็วไปแล้ว และสถานการณ์การค้าโลกน่าจะยังฟื้นตัวได้ในวันนี้มองว่าเงินบาทจะแกว่งตัวในกรอบแคบเช่นเดียวกับสกุลเงินเพื่อนบ้านเพื่อรอผลการประชุม FOMC เช่นกัน

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทยังคงเคลื่อนไหวตาม ภาวะเปิดและปิดรับความเสี่ยงของตลาด ที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางของเงินดอลลาร์ และ ธุรกรรมที่เกิดขึ้นจริงในตลาดจากทั้งฝั่งผู้นำเข้า

รวมถึง ผู้ส่งออก โดยความผันผวนของเงินบาทในระยะสั้นนี้ อาจจะยังสูงอยู่ เนื่องจาก เงินบาทพร้อมอ่อนค่าหรือแข็งค่า ตามเงินดอลลาร์ ซึ่ง หากเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ตามยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ซึ่งกดดันให้ตลาดปิดรับความเสี่ยงก็อาจทำให้เงินบาท อ่อนค่าลง

ทั้งนี้จากภาพความผันผวนดังกล่าว ทำให้ ผู้ส่งออกรอทยอยขายเงินดอลลาร์ หากเงินบาทอ่อนค่าใกล้ระดับ 30.80 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ ฝั่งผู้นำเข้า ก็รอซื้อเงินดอลลาร์ หากเงินบาทแข็งค่าใกล้ระดับ 30.60 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้เงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 30.60-30.80 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงก่อนการประชุม FOMC

ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 30.65-30.80 บาทต่อดอลลาร์