BTS ลุ้นศาลอาญารับฟ้องปมเลิกประมูลสายสีส้ม5พ.ค.นี้

BTS ลุ้นศาลอาญารับฟ้องปมเลิกประมูลสายสีส้ม5พ.ค.นี้

“บีทีเอส” ลุ้นต่อศาลอาญารับคำฟ้อง ทุจริตและประพฤติมิชอบ ปมยกเลิกประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม หลังศาลสั่ง รฟม.แจงข้อมูลเพิ่มภายใน 30 วัน นัดฟังคำสั่ง 5 พ.ค.นี้ ส่วนกรณีฟ้องศาลปกครองปมเปลื่ยนเงื่อนไขประมูลสามารถอุทธรณ์ได้ใน30วัน หลังศาลฯให้จำหน่ายคดี

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยระบุว่า จากที่บีทีเอสได้ไปยื่นคำฟ้องต่อศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เกี่ยวกับการยกเลิกประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เมื่อวันที่ 15 มี.ค.ที่ผ่านมา ขณะนี้ศาลได้ขอให้ รฟม.ส่งเอกสารและหลักฐานประกอบการพิจารณาเพิ่มเติมภายใน 30 วัน โดยนัดฟังคำสั่งอีกครั้งในวันที่ 5 พ.ค.นี้

“วันนี้ศาลอาญายังไม่รับคำฟ้องที่เรายื่นไป เพราะต้องการพิจารณาข้อมูลจากทาง รฟม. จึงได้มีคำสั่งให้ รฟม.ส่งเอกสารเพิ่มเติม และจะพิจารณา นัดฟังคำสั่งอีกครั้ง”

ทั้งนี้ ศาลอาญาได้มีคำสั่งขอข้อมูลจากทาง รฟม.เพิ่มเติมใน 4 ส่วน คือ 1.เอกสารยื่นข้อเสนอโครงการ (RFP) ที่ รฟม.ได้เปิดประกาศออกไปและยกเลิก 2.รายละเอียดของการยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงเอกสาร RFP 3.คำสั่งหรือประกาศยกเลิกการเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุน และ 4.รายงานการประชุมที่มีการเปลี่ยนแปลง และรายงานการประชุมที่เกี่ยวข้องกับการยกเลิกประกาศเชิญชวน รวมไปถึงหนังสือยืนยันการคัดค้านของผู้แทนสำนักงบประมาณ

สำหรับความคืบหน้าของการยื่นอุทธรณ์ในกระบวนการศาลปกครอง ภายหลังจากที่ศาลปกครองสูงสุดตัดสิน และมีการจำหน่ายคดีกรณีปรับเกณฑ์การประมูลในครั้งที่ 1 ขณะนี้บีทีเอสอยู่ระหว่างพิจารณาข้อมูลในการตัดสินยื่นอุทธรณ์ตามกระบวนการทางกฎหมาย ซึ่งสามารถยื่นได้ภายใน 30 วัน นับจากวันที่ศาลปกครองกลาง ตัดสินจำหน่ายคดี เมื่อวันที่ 5 มี.ค.ที่ผ่านมา

161581279130

รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 15 มี.ค. ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางถ.นครไชยศรี ศาลได้นัดฟังคำสั่งในชั้นตรวจคำฟ้อง คดีระหว่าง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า BTS เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. กับพวกรวม 7 คน เป็นจำเลย กรณียกเลิกการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)  วงเงิน 128,128 ล้านบาท ในข้อหา ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157,165 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172

คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 22 ก.พ.2564 ที่ผ่านมา สืบเนื่องจาก กรณีการคัดเลือกเอกชนร่วมโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ที่ รฟม. และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ได้เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การคัดเลือก หลังเอกชนยื่นซองข้อเสนอแล้ว โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งก่อนยื่นฟ้องคดีนี้ BTSC ได้ยื่นฟ้อง รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ 2280/2563 และศาลได้วินิจฉัยว่า การกระทำดังกล่าว น่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับความไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ รฟม.ระงับการใช้หลักเกณฑ์การคัดเลือกที่แก้ไขไว้ จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น แต่ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 3 ก.พ.64 รฟม.กลับทำการยกเลิกการประมูล ทำให้ BTSC ผู้ยื่นซองข้อเสนอได้รับความเสียหาย

บีทีเอสขอแก้ไขรายละเอียดคำฟ้อง

โดยวานนี้(15 มี.ค.)ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ และทนายโจทก์มาศาล โดยศาลอาญาทุจริตฯ ได้ตรวจคำฟ้องโจทก์แล้วเห็นว่าโจทก์ขอแก้ไขฟ้องในส่วนของรายละเอียดเกี่ยวกับสถานะหรือตำแหน่งหน้าที่ของจำเลยทั้งเจ็ด และขอเพิ่มเติมฐานความผิด ซึ่งไม่ได้ทำให้จำเลยทั้งเจ็ดเสียเปรียบในการต่อสู้คดีหรือทำให้จำเลยหลงต่อสู้ จึงเห็นควรอนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมฟ้องและคำขอท้ายฟ้องได้

อย่างไรก็ตามเพื่อประโยชน์ในการพิจารณาคำฟ้องและมีคำสั่งเกี่ยวกับคดี เห็นควรมีหนังสือถึง การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เพื่อให้จัดส่งหนังชี้แจงข้อมูล ต่างๆเพิ่มเติมภายใน 30 วัน นับแต่ได้รับหนังสือแจ้ง โดยศาลได้นัดฟังคำสั่งอีกครั้งในวันที่ 5 พ.ค. 64 เวลา 09.00 น.

161581286683

รายงานข่าวแจ้งว่าก่อนหน้านี้ นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 8 มี.ค.2564 ขอให้ตรวจสอบการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) โดยขอให้นายกรัฐมนตรีตรวจสอบการกระทำของรฟม. คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน และผู้เกี่ยวข้อง เนื่องจากรฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้แก้ไขเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนเล่มที่ 1 ทำให้บีทีเอสยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 17 ก.ย.2563 เป็นคดีปกครอง คดีหมายเลขดำที่ 2280/2563 เพื่อให้ศาลปกครองกลางมีคำสั่งหรือคำพิพากษาเพิกถอนการกระทำทางปกครอง ซึ่งศาลไต่สวนแล้วมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามหลักเกณฑ์การร่วมลงทุนของ รฟม.ที่แก้ไขไว้เป็นการชั่วคราว 

ต่อมา รฟม.ยังคงกำหนดการยื่นข้อเสนอการร่วมลงทุนในวันที่ 9 พ.ย.2563 และกำหนดเปิดซองที่ 1 ในวันที่ 23 พ.ย.2563 ทำให้บริษัทฯ และชิโนไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชัน จำกัด (มหาชน) ยื่นข้อเสนอการร่วมลงทุนในนามกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์แต่รฟม.มีการประกาศในเว็บไซต์ในวันที่ 3 ก.พ.2564 เพื่อยกเลิกการประมูลดังกล่าว รวมทั้ง รฟม.ได้ขอถอนอุทธรณ์คำสั่งทุเลาและศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งอนุญาตให้ถอนอุทธรณ์ เท่ากับว่าคำสั่งที่ศาลปกครองกลางวินิจฉัยไว้ รฟม.ไม่ขอโต้แย้ง อย่างไรก็ตามเมื่อ 5 มี.ค.ที่ผ่านมา ศาลปกครองสูงสุดตัดสินจำหน่ายคดีกรณีปรับเกณฑ์การประมูลในครั้งที่ 1ออกไปแต่บีทีเอสยังสามารถอุทธรณ์ต่อศาลปกครองกลางได้ภายใน30 วัน 

รฟม.ชี้ข้อสงสัยเงื่อนไขใหม่ยุติ

สำหรับการเริ่มกระบวนการคัดเลือกเอกชนด้วยการประกาศรับฟังความเห็นของภาคเอกชนใหม่ โดยให้กรอกความเห็นในเอกสาร ซึ่งเอกสารมีสาระสำคัญ คือ การพิจารณาซองที่ 2 และซองที่ 3 โดยมีคะแนนเต็ม 100 คำแนน แบ่งเป็นคะแนนข้อเสนอซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิค 30 คะแนน และคะแนนข้อเสนอซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน 70 คะแนน และนำคะแนนซองที่ 2-3 มารวมกัน และผู้ยื่นข้อเสนอที่ได้คะแนนรวมสูงสุดจะเป็นผู้ผ่านการประเมินสูงสุด

รายงานข่าวยังระบุอีกว่า ก่อนหน้านี้นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม.กล่าวว่า หลังศาลปกครองกลางมีคำสั่งจำหน่ายคดีในข้อหาที่ฟ้องขอให้เพิกถอนหลักเกณฑ์การร่วมทุนที่แก้ไขเพิ่มเติม และเป็นผลทำให้คำสั่งทุเลาการบังคับตามหลักเกณฑ์ที่แก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 สิ้นผลบังคับไปด้วย ดังนั้นคดีฟ้องร้องที่ รฟม.และเอกชนมีร่วมกันเกี่ยวกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มจึงถือว่ายุติลง