‘เงินบาท’วันนี้เปิด ‘แข็งค่า’ที่30.72บาทต่อดอลลาร์

‘เงินบาท’วันนี้เปิด ‘แข็งค่า’ที่30.72บาทต่อดอลลาร์

การฟื้นตัวเศรษฐกิจยังทำให้เงินบาทอ่อนค่ากว่าสกุลเงินอื่นในภูมิภาค แม้มีเงินทุนต่างชาติไหลเข้าก็ตามแนะจับตาทิศทางของนโยบายการเงินทั่วโลกก่อนในสัปดาห์นี้ คาดเฟดยังคงดอกเบี้ยและสหรัฐฉีดวัคซีนมาเพียบพอ หนุนเงินบาทในระยะยาวปรับตัวแข็งค่า

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้าทีมกลยุทธ์การลงทุน EASY INVEST บริษัทหลักทรัพย์(บล.) เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดวันนี้ที่ 30.72 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ 30.78 บาทต่อดอลลาร์ ประเมินกรอบเงินบาทระหว่างวันที่ 30.60-30.80 บาทต่อดอลลาร์ และกรอบเงินบาทรายสัปดาห์ที่ 30.40-30.90 บาทต่อดอลลาร์

สำหรับเงินบาทมีจุดอ่อนหลักคือเรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจึงทำให้อ่อนค่ากว่าสกุลเงินในภูมิภาคแม้ระยะสั้นเริ่มมีเงินทุนไหลเข้าจากต่างชาติบ้าง ช่วงนี้จึงต้องจับตาทิศทางของนโยบายการเงินทั่วโลกก่อน คาดว่าถ้านโยบายส่วนใหญ่ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมาก เงินบาทควรได้รับแรงหนุนจากภาพตลาดทุนที่เปิดรับความเสี่ยง (Risk On) ส่วนในระยะยาว มองว่าจะเห็นเงินทุนไหลเข้าในฝั่งเอเชียและประเทศไทยชัดเจนก็ต่อเมื่อฝั่งสหรัฐแจกจ่ายวัคซีนได้เพียงพอแล้ว

ในสัปดาห์นี้ต้องจับตาการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐและญี่ปุ่น

โดยในฝั่งสหรัฐ คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) จะไม่เปลี่ยนนโยบายการเงินทั้งหมดวันพุธนี้ แต่มองว่าคณะกรรมการเฟดจะปรับคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจปี 2021 ให้สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทั้งการเติบโตหรือเงินเฟ้อ(ล่าสุดอยู่ในระดับ 4.2% และ 1.8% ตามลำดับ) หลังจากที่มีแผนกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ของนายโจ ไบเดน ส่วนในฝั่งดอกเบี้ยนโยบายตลาดเชื่อว่าการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรก น่าจะเกิดขึ้นเร็วที่สุดภายในปี 2023

ส่วนฝั่งญี่ปุ่น สัปดาหนี้มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (BOJ) ในช่วงวันศุกร์ แม้จะไม่มีโอกาสที่ BOJ จะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่าง Deposit Facility Rate ที่ -0.10% แต่เชื่อว่าจะมีการหารือเกี่ยวกับนโยบายซื้อสินทรัพย์เสี่ยงเช่น ETF ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ขณะเดียวกันก็น่าจะมีการให้ความเห็นเรื่องเป้าหมายบอนด์ยีลด์ญี่ปุ่นอายุสิบปีปัจจุบันที่ 0.0% บนกรอบบวกลบ 0.20% หลังจากที่บอนด์ยีลด์ทั่วโลกปรับตัวขึ้นเร็วในช่วงนี้

ด้านตลาดเงิน เชื่อว่าเงินดอลลาร์จะยังไม่อ่อนค่าเร็วในสัปดาห์นี้เพราะนักลงทุนหวังว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะฟื้นตัวได้เร็วกว่าทั่วโลก ส่วนที่ต้องจับตาคือการประชุม FOMC แม้จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อาจตอกย้ำมุมมองของเราว่านโยบายการคลังส่งผลบวกมากกว่าลบกับค่าเงินดอลลาร์ ส่วนฝั่งยูโร (EUR) มองว่าต้องรอการแจกจ่ายวัคซีนให้ทั่วถึงถึงจะสามารถฟื้นตัวกลับเป็นขาขึ้นได้ ขณะที่เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) คาดว่าจะเคลื่อนไหวในกรอบกว้างก่อนการประชุม BOJ และถ้ามีการปรับกรอบเป้าหมายบอนด์ยีลด์ญี่ปุ่นอายุสิบปีให้กว้างขึ้น จะทำให้เกิดแรงขายบอนด์และโยกเงินไปลงทุนต่างประเทศหนุนให้เงินเยนอ่อนค่าได้อีก

กรอบดัชนีดอลลาร์ (Dollar Index) สัปดาห์นี้ 91.2-92.2จุด ระดับปัจจุบัน 91.7จุด

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า  สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า ทิศทางของยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ยังคงมีผลต่อการเคลื่อนไหวของเงินดอลลาร์ ซึ่ง เงินดอลลาร์อาจแข็งค่าขึ้น ถ้ายีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ยังปรับตัวขึ้นต่อ โดยภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดจะหนุนความต้องการถือเงินดอลลาร์เพื่อหลบความผันผวน ทำให้สกุลเงินในตลาดเกิดใหม่ (EM FXs) รวมถึง เงินบาท อ่อนค่าลง

ทั้งนี้ เงินบาทอาจอ่อนค่าได้ถึง 31.20-31.25 บาทต่อดอลลาร์ หากอ่อนค่าหลุดระดับ 31.00 บาทต่อดอลลาร์ นอกจากนี้ ยังคงต้องระวังแรงเทขายสินทรัพย์ โดยเฉพาะ หุ้นไทย หลัง ผู้เล่นในตลาดอาจเริ่มขาดความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจ หลังการฉีดวัคซีนเริ่มมีปัญหาล่าช้า และมีการระบาดใหม่ของคลัสเตอร์ย่านบางแค

แม้เงินบาทจะผันผวนในกรอบกว้างและอ่อนค่าลงได้ เรายังคงมองว่า ผู้ส่งออกควรทยอยปิดความเสี่ยงค่าเงิน ในช่วงที่เงินบาทกลับมาอ่อนค่า เนื่องจากในระยะยาว เราคงมองว่า เงินบาทยังมีแนวโน้มกลับไปแข็งค่าได้อยู่จากแนวโน้มเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง และฟันด์โฟลว์ต่างชาติที่จะไหลกลับเข้าตลาดทุนไทยมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

นอกจากนี้ ผู้ส่งออกอาจเริ่มพิจารณาใช้เครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยงมากขึ้น อาทิ Option (แต่อาจจะต้องรอให้ ความผันผวนตลาดลดลงก่อน) เนื่องจากทิศทางตลาดการเงินในช่วงนี้ สามารถพลิกกลับไป/มา ได้อย่างรวดเร็วและรุนแรง

มองกรอบเงินบาท สัปดาห์นี้ที่ระดับ 30.50-31.00 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 30.65-30.80 บาทต่อดอลลาร์