'เจนนิเฟอร์ เหลืองสอาด' กับการสำรวจ‘ราแมลง’ ที่คนไม่รู้ว่าสรรพคุณมากหลาย

'เจนนิเฟอร์ เหลืองสอาด' กับการสำรวจ‘ราแมลง’ ที่คนไม่รู้ว่าสรรพคุณมากหลาย

หลายคนอาจไม่รู้ว่า 'ถั่งเช่า'ก็คือ'ราแมลง' ชนิดหนึ่ง เป็นราที่ก่อโรคในแมลงและแมง ในเมืองไทยไม่พบราแมลงที่เรียกว่า ถั่งเช่า ที่ขึ้นบนหนอนผีเสื้อ เหมือนในจีนและภูฏาน แต่พบชนิดอื่น สกุลเดียวกันกับถั่งเช่าทิเบต และในอนาคตคงจะมีการศึกษาสรรพคุณทางยา

แม้จะยังเป็นที่ถกเถียงถึงสรรพคุณของ‘ถั่งเช่า’สมุนไพรราคาสูงลิ่วที่ถูกนำมาใช้เป็นยาในตำราแพทย์ของจีน แต่รู้หรือไม่ว่าในประเทศไทยก็มีสิ่งมีชีวิตที่ถูกจัดว่าเป็น ‘ราแมลง’ เช่นเดียวกับถั่งเช่ามากกว่า 400 สายพันธุ์ ซึ่งหลายชนิดมีสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย

ล่าสุด ดร.เจนนิเฟอร์ เหลืองสอาด นักวิจัยด้านราแมลง ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับทีมวิจัยปฏิสัมพันธ์ของจุลินทรีย์ทางการเกษตร(APMT)กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพพืชและการจัดการแบบบูรณาการค้นพบ ‘ราแมลงสายพันธุ์ใหม่ของโลกในประเทศไทยมากถึง 47 ชนิด’ถือเป็นการค้นพบราแมลงชนิดใหม่จำนวนมากของโลก

ดร.เจนนิเฟอร์ เป็นชาวฟิลิปปินส์โดยกำเนิด จบการศึกษาระดับปริญญาโทด้านเทคโนโลยีชีวภาพ(Biotechnology) จากประเทศเยอรมนี จากนั้นได้แต่งงานกับคนไทยและย้ายมาอยู่ประเทศไทย โดยได้เริ่มทำงานในฐานะผู้ช่วยนักวิจัยของไบโอเทค สวทช. ตั้งแต่ปี 2539 เริ่มศึกษาวิจัยเกี่ยวกับข้าวหอมมะลิ ก่อนจะหันมาศึกษาวิจัยเรื่องราที่ก่อโรคใบไหม้ในข้าว 

ซึ่งในช่วงเวลานั้นได้พบกับ ดร.ไนเจล ไฮเวล โจนส์ (Dr. Nigel Hywel-Jones)หัวหน้าห้องวิจัยราวิทยา สวทช. และเป็นนักกีฏวิทยาที่บุกเบิกการศึกษาราแมลงในประเทศไทย ผู้ที่จุดประกายให้เธอตัดสินใจเรียนต่อระดับปริญญาเอกด้านราแมลง ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก่อนจะก้าวเข้าสู่การเป็นนักวิจัยศึกษาความหลากหลายของราแมลงในประเทศไทยอย่างเต็มตัวในปี 2543 กระทั่งปัจจุบันเธอและทีมวิจัยของไบโอเทค สวทช. ค้นพบราแมลงสายพันธุ์ใหม่มากกว่า 100 ชนิด

161570190973

ดร.เจนนิเฟอร์ เหลืองสอาด

ทำไมถึงสนใจศึกษาวิจัย‘ราแมลง’

เดิมทีศึกษากลุ่มราที่ก่อโรคในข้าวทั่วไป ก็จะเห็นราที่มีลักษณะเป็นเส้นใยสีขาวๆ และสีน้ำตาลตามต้นข้าว ไม่น่าตื่นเต้นเท่าไร พอดี ดร.ไนเจล ไฮเวล โจนส์ กำลังศึกษาความหลากหลายของราแมลงในประเทศไทยในเวลานั้น และมีห้องปฏิบัติการอยู่ข้างๆ กัน 

เวลาที่ ดร.ไนเจล เข้าป่าเก็บตัวอย่างราแมลงกลับมา เราก็จะได้เห็นราแมลงชนิดต่างๆ ซึ่งน่าตื่นเต้นมาก เป็นราที่เจริญเติบโตบนแมลงหลากหลายชนิด ซึ่งแต่ละชนิด ก็จะมีรูปร่างลักษณะแตกต่างกันออกไป น่าอัศจรรย์มากบางตัวอย่างก็มีสีสันที่สดใส รู้สึกว่าสวยมาก เป็นความประทับใจ และเป็นแรงบันดาลใจให้เราตัดสินใจอยากศึกษาต่อด้านราแมลง

‘ราแมลง’ กับ‘ถั่งเช่า’ เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

ถั่งเช่าคือ ราแมลงชนิดหนึ่งเป็นราที่ก่อโรคในแมลงและแมง โดยราจะเข้าไปอาศัยในตัวแมลง เพื่อใช้เป็นแหล่งอาหาร ราจะค่อยๆ เจริญเติบโตจนแมลงเจ้าบ้านตายในที่สุด และจะพัฒนาโครงสร้างที่ใช้ในการสืบพันธุ์ที่เต็มไปด้วยสปอร์งอกบนซากของแมลงสปอร์ราที่มีการพัฒนาสมบูรณ์แล้ว ก็พร้อมเข้าทำลายแมลงเจ้าบ้านตัวใหม่ต่อไป 

ซึ่งถั่งเช่าคือราแมลงสายพันธุ์ โอฟิโอคอร์ไดเซพ ซินเอนซิส (Ophiocordyceps sinensis)ที่ขึ้นบนหนอนผีเสื้อชนิดหนึ่ง เชื้อราจะฝังสปอร์บนตัวหนอนในช่วงฤดูหนาวของแถบภูเขาประเทศจีนและภูฏานที่ปกคลุมด้วยหิมะ และใช้สารอาหารบนตัวหนอนเพื่อเจริญเติบโต และสร้างเส้นใยอัดแน่นและงอกทะลุออกมาเป็นก้านยาวในช่วงหน้าร้อน

ประเทศไทยยังไม่เคยพบถั่งเช่าชนิดเดียวกันนี้ เพราะเป็นราแมลงที่พบได้ในแถบทุ่งหญ้าบนภูเขา ซึ่งมีระดับความสูง 10,000-12,000 ฟุต จากระดับน้ำทะเลเท่านั้น แต่มีชนิดอื่นในสกุลเดียวกันกับถั่งเช่าทิเบตที่พบได้ในเขตร้อนชื้นแบบบ้านเรา 

พูดง่ายๆ ก็เปรียบเสมือนว่า เราพบราแมลงชนิดที่เป็นเครือญาติกับถั่งเช่าทิเบต อยู่ในตระกูลเดียวกัน แต่ยังไม่ได้มีการศึกษาถึงสารออกฤทธิ์ว่ามีสรรพคุณทางยาเช่นเดียวกันหรือไม่

นอกจากนั้นเรายังสามารถพบราแมลงชนิดที่จัดอยู่ในสกุลเดียวกับถั่งเช่าสีทองคอร์ไดเซพมิลิทารีส (Cordyceps militaris)ที่พบทั่วไปในญี่ปุ่น และ เกาหลี ซึ่งมีรูปร่างคล้ายกัน สร้างก้านราสีส้ม สวยมาก แต่ไม่ใช่ชนิดเดียวกัน

ครั้งแรกที่ได้ลงพื้นที่สำรวจราแมลงเป็นอย่างไร

พื้นที่แรกที่ลงไปสำรวจราแมลงคือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา จ.นราธิวาส จำได้ว่าสนุกและลำบากมาก เพราะเมื่อก่อนการลงพื้นที่ไม่ได้นั่งเครื่องบินสะดวกเหมือนปัจจุบัน แต่ต้องนั่งรถกระบะ เพราะต้องขนเครื่องมือและอุปกรณ์ในการเก็บตัวอย่างไปด้วย

ในการเดินทางจากกรุงเทพฯ ต้องใช้เวลาเดินทางมากกว่า 1 วัน การลงพื้นที่ก็ยากมาก เพราะเราเองไม่เคยเข้าพื้นที่ป่าลึกๆ มาก่อน ประสบการณ์แรกที่ได้เจอเลยคือ ทากที่ดูดเลือดมีทั้งตัวใหญ่และตัวเล็ก เราต้องคอยระวัง ทำให้เก็บตัวอย่างในครั้งนั้นไม่ได้เลย(หัวเราะ) เวลาเดินและนั่งหวาดระแวงไปหมด 

แล้วช่วงแรกๆ ที่เข้าป่าเก็บตัวอย่างมาผิดไปหมด ไม่ใช่ราแมลงเลย เป็นราชนิดอื่นๆซึ่งเดิมเราคิดว่าราแมลงน่าจะหาเจอไม่ได้ยาก แต่ไม่ใช่เลย เป็นความท้าทาย ต้องอาศัยทักษะและความเชี่ยวชาญเป็นอย่างมากโชคดีว่า ดร.ไนเจล และทีมวิจัยในตอนนั้นได้ช่วยสอนและแนะนำว่าต้องสังเกตยังไง ต้องพลิกใบไม้บ้าง นั่งยองๆ ดูตามเศษซากใบไม้บนพื้นดิน ขอนไม้ผุบ้าง

จริงๆ แล้วพื้นฐาน คือ ต้องรู้จักลักษณะของแมลง เช่น เพลี้ยหอยชอบอยู่ตามใต้ใบไม้ เราก็ต้องคอยพลิกใบไม้ดู หรืออย่างหนอนด้วง และหนอนผีเสื้ออยู่ตามผิวดิน ก็ต้องค่อยๆ ดูตามพื้นดิน หรือตามขอนไม้ ค่อยๆ เรียนรู้ ซึ่งใช้เวลาเป็นปี กว่าจะเก็บตัวอย่างราแมลงได้สำเร็จ พอหาตัวอย่างเจอ หาเป็นก็จะสนุกมาก

เจอ ‘ราแมลง’ ครั้งแรกรู้สึกอย่างไร

ตอนนั้นได้มีโอกาสร่วมกับทีมวิจัยสำรวจราแมลง ที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ได้เก็บตัวอย่างมาช่วงเริ่มแรก ก็ยังไม่ค่อยจะมั่นใจว่า ตัวอย่างที่เราเก็บมา จะใช่ราแมลงหรือไม่ ก็ให้ ดร. ไนเจล ช่วยตรวจสอบและแนะนำ ดร.ไนเจลได้บอกตอนนั้นว่าตัวอย่างที่เราเก็บมาได้ นั่นคือราที่ก่อโรคบนแมงมุมและน่าจะเป็นราชนิดใหม่ (New Species)

โอ้โห ตอนนั้นดีใจมากเลย เราสำรวจเจอราแมลงชนิดใหม่แล้วเหรอ ซึ่งหลังจากนั้นก็นำมาศึกษาจำแนกชนิด แต่ต้องใช้เวลานานมาก เพราะฐานข้อมูลในตอนนั้น มีไม่เพียงพอ กว่าจะจำแนกและระบุชัดได้ว่าเป็นราแมลงชนิดใหม่โดยได้ถูกนำไปตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติได้สำเร็จ ก็ในปี2561 แม้ว่าจะใช้เวลาค่อนข้างนาน แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีมาก

161570205492

ล่าสุดมีการค้นพบราแมลงชนิดใหม่ในประเทศไทยมากถึง 47 ชนิด

ไบโอเทค สวทช. ดำเนินการเก็บตัวอย่างราแมลงมากว่า 25 ปีแล้ว ปัจจุบันทีมวิจัยได้มีความร่วมมือกับนักวิจัยจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และมหาวิทยาลัยต่างๆของไทยได้ทำการสำรวจความหลากหลายของราแมลงในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง 

ในปี 2563 คณะวิจัยได้ค้นพบราแมลงชนิดใหม่รวม 47 ชนิดในปีเดียวเป็นสกุลใหม่รวม 8 สกุล สำหรับตัวอย่างความโดดเด่นของราแมลงชนิดใหม่ที่พบ เช่น ราในสกุลเมตาไรเซียม(พบมากถึง 21 ชนิด) และราสกุลบิวเวอเรีย (ชนิดใหม่ที่พบคือ Beauveria mimosiformis: บิวเวอเรีย มิโมสิฟอร์มิส) ซึ่งราสกุลนี้สามารถนำมาพัฒนาเป็นสารชีวภัณฑ์ควบคุมแมลงศัตรูพืชได้

ตัวอย่างการนำไปใช้ เช่น ราแมลงสายพันธุ์ บิวเวอเรีย บาสเซียน่า (Beauveria bassiana) มีการนำไปพัฒนาเป็นสารชีวภัณฑ์ที่ใช้ในการควบคุมแมลงศัตรูพืชหลายชนิด โดยเฉพาะกับเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง

ปัจจุบันไบโอเทคได้ขยายผลถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตหัวเชื้อราบิวเวอเรียให้แก่เกษตรกรในหลายจังหวัด เพื่อควบคุมเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในนาข้าวทดแทนสารเคมี

อย่างเช่น ราในสกุลเมตาไรเซียม(Metarhizium) ซึ่งมีความสามารถก่อโรคบนแมลงได้หลายชนิด เช่น หนอนผีเสื้อ หนอนด้วง ด้วงตัวเต็มวัย ตัวอ่อนจักจั่น จักจั่นตัวเต็มวัย และเพลี้ยกระโดด 

ดังนั้นการค้นพบราเมตาไรเซียม และราบิวเวอเรียชนิดใหม่จำนวนมากในครั้งนี้ นับเป็นโอกาสที่ดีที่จะนำไปต่อยอดค้นหาสายพันธุ์ราแมลงที่มีประสิทธิภาพสูงสุดสำหรับการพัฒนาเป็นสารชีวภัณฑ์ที่ออกฤทธิ์ควบคุมแมลงได้ดีขึ้น ซึ่งจะสามารถนำไปทดแทน และช่วยลดการใช้สารเคมีในทางการเกษตร ทำให้ช่วยลดสารพิษตกค้างในผลผลิต และไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้และผู้บริโภค

มีราแมลงที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์บ้างหรือไม่

ทางทีมวิจัยได้พบว่า ราแมลงชนิดใหม่Gibellula pigmentosinum (จีเบลลูลา พิกเมนโตสินัม)เป็นราก่อโรคบนแมงมุมมีศักยภาพสร้างสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ ต้านการสร้างไบโอฟิล์มของแบคทีเรียได้ ข้อมูลนี้อาจนำไปวิจัยต่อยอดใช้เป็นประโยชน์ทางการแพทย์ต่อไปได้ เช่น นำไปใช้เป็นยาปฏิชีวนะเพื่อยับยั้งการสร้างไบโอฟิล์มของแบคทีเรีย สแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) ซึ่งเป็นเชื้อสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคต่างๆ ได้เช่น การติดเชื้อที่ผิวหนัง บาดแผล ระบบปัสสาวะ และกระแสเลือด

นอกจากนี้ ในปี 2562 ที่ผ่านมา นักวิจัยไบโอเทคยังประสบความสำเร็จในการนำราแมลงที่สามารถสร้าง “สารเบต้ากลูแคนชนิดใหม่” มาวิจัยต่อยอดเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเสริมและเครื่องสำอางจำหน่ายเชิงพาณิชย์แล้ว

161570210079

ราแมลงชนิดหนึ่ง

การค้นพบราแมลงจำนวนมากในประเทศไทยจะเป็นประโยชน์อย่างไร

การค้นพบราแมลงมากกว่า 400 สายพันธุ์ และคาดว่าจะยังมีการค้นพบชนิดใหม่จำนวนมากอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย สะท้อนให้เห็นว่า ประเทศไทยเป็นแหล่งที่มีความหลากหลายของราแมลงสูงมากแหล่งหนึ่งของโลก

จำนวนตัวอย่างของราแมลงที่ถูกค้นพบและเก็บรักษาไว้เปรียบดั่งขุมทรัพย์หรือธนาคารทรัพยากรชีวภาพ ที่จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อไปได้อีกมากมายในอนาคต

เพราะราแมลงหลายชนิดมีคุณสมบัติในการสร้างสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่สามารถนำมาขยายผลใช้ประโยชน์ได้ในทางเกษตรอุตสาหกรรมและการแพทย์

การศึกษาความหลากหลายของราแมลงนั้น จัดเป็นงานวิจัยต้นน้ำ เป็นการวิจัยพื้นฐาน (Basic Research) ซึ่งมีความสำคัญ เพราะเป็นองค์ความรู้ที่จะนำไปสู่การศึกษาและใช้ประโยชน์ต่อไปในอนาคต ทุกครั้งที่ตัวอย่างราแมลงที่ค้นพบสามารถนำไปต่อยอดสร้างประโยชน์ให้แก่เกษตรกร หรือภาคอุตสาหกรรมได้ ทีมวิจัยเราจะรู้สึกดีใจและภูมิใจมาก 

ทำให้พวกเรามีกำลังใจที่จะเข้าไปลุยป่าออกสำรวจค้นหาราแมลงต่อไป แม้จะทำงานตรงนี้มาเกือบ 20 ปีแล้ว แต่ก็ยังคงตื่นเต้นทุกครั้งที่ออกไปสำรวจค้นหา ซึ่งเชื่อว่าประเทศไทยยังมีราแมลงชนิดใหม่ๆ ที่รอการค้นพบอีกมาก ยิ่งเราค้นพบมากขึ้น เก็บรวบรวมเป็นฐานข้อมูลที่สมบูรณ์มากขึ้นเท่าไหร่ ก็จะเป็นประโยชน์และสร้างความได้เปรียบให้แก่ประเทศไทยต่อไปในอนาคต