ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เรื่อง เข็มพระราชทาน 'พิชญจุฬาภรณ์' พ.ศ. 2563

ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เรื่อง เข็มพระราชทาน 'พิชญจุฬาภรณ์' พ.ศ. 2563

ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เรื่อง เข็มพระราชทาน “พิชญจุฬาภรณ์” พ.ศ. 2563 ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป เปิดรูปแบบ - รายละเอียด 6 ชั้น

 เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เรื่อง เข็มพระราชทาน “พิชญจุฬาภรณ์” พ.ศ. 2563 ความว่า โดยที่เป็นการสมควรออกประกาศเกี่ยวกับการขอเข็มพระราชทาน “พิชญจุฬาภรณ์” สิทธิของผู้ได้รับพระราชทาน และการเรียกเข็มพระราชทานคืน ซึ่งเป็นเข็มพระราชทานที่สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น เพื่อพระราชทานเป็นบำเหน็จความชอบในการปฏิบัติงานของผู้ปฏิบัติงานในราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์และบุคคลทั่วไปที่ได้ให้การช่วยเหลือสนับสนุนกิจการของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ด้านต่างๆ อันเป็นไปตามพระประสงค์ ตลอดจนหลักเกณฑ์ที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์กำหนด

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 22 (2) และมาตรา 65 แห่งพระราชบัญญัติราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พ.ศ. 2559 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกอบมติที่ประชุมสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ในการประชุมครั้งที่ 6/2563 เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2563 จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เรื่อง เข็มพระราชทาน “พิชญจุฬาภรณ์” พ.ศ. 2563

ข้อ 2 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป

ข้อ 3 ให้ยกเลิกประกาศราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เรื่อง เข็มพระราชทาน “พิชญจุฬาภรณ์” พ.ศ. 2562

ข้อ 4 ในประกาศนี้

“ราชวิทยาลัย” หมายความว่า ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

“เลขาธิการ” หมายความว่า เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

“ผู้ปฏิบัติงานในราชวิทยาลัย” หมายความว่า ผู้ปฏิบัติงานในราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ตามพระราชบัญญัติราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พ.ศ. 2559 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

“เข็มพิชญจุฬาภรณ์” หมายความว่า เข็มพระราชทาน “พิชญจุฬาภรณ์” เพื่อพระราชทานให้แก่ผู้ปฏิบัติงานในราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และบุคคลทั่วไปที่ได้ให้การช่วยเหลือ สนับสนุนกิจการของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ด้านต่างๆ ตามพระประสงค์ ตลอดจนหลักเกณฑ์ที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์กำหนด

 

ข้อ 5 เข็มพิชญจุฬาภรณ์ ประกอบด้วย ตราประจำพระองค์ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ซึ่งมีอักษรพระนามย่อ “จภ” ภายใต้จุลมงกุฎ วางอยู่บนตราดอกกล้วยไม้ฟาแลนนอปซิสพริ้นเซสจุฬาภรณ์ (Phalaenopsis princess chulabhorn) บนรูปวงกลม ทำด้วยโลหะชนิดต่างๆ ตามลำดับชั้นที่กำหนด ซึ่งแบ่งออกเป็น 6 ชั้น คือ

ชั้นที่ 1 ตัวเรือนผลิตจากทองคำสีชมพู (ทองคำ 18 K Rose Gold) ประดับด้วยเพชรและบุษราคัม (Natural Yellow Sapphire) บนตราประจำพระองค์ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2.8 เซนติเมตร

ชั้นที่ 2 ตัวเรือนผลิตจากทองคำ (ทองคำ 18 K Yellow Gold) ประดับด้วยเพชรและบุษราคัม (Natural Yellow Sapphire) บนตราประจำพระองค์ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2.8 เซนติเมตร

ชั้นที่ 3 ตัวเรือนผลิตจากเงินชุบสีทองคำชมพู (Rose Gold) ประดับด้วยแก้วเจียรไน (Crystal) บนตราประจำพระองค์ 2 สี คือ สีส้มและสีเงิน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2.8 เซนติเมตร

 

ชั้นที่ 4 ตัวเรือนผลิตจากเงินชุบสีทองคำ (Yellow Gold) ประดับด้วยแก้วเจียรไน (Crystal) บนตราประจำพระองค์ 2 สี คือ สีส้มและสีเงิน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2.8 เซนติเมตร

ชั้นที่ 5 ตัวเรือนผลิตจากเงินชุบสีทองคำขาว (White Gold) ประดับด้วยแก้วเจียรไน (Crystal) บนตราประจำพระองค์ 2 สี คือ สีส้มและสีเงิน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2.8 เซนติเมตร

ชั้นที่ 6 ตัวเรือนผลิตจากโลหะชุบสีทองคำ (Yellow Gold) ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2.8 เซนติเมตร

ทั้งนี้ เข็มพิชญจุฬาภรณ์ให้มีลักษณะตามรูปแบบแนบท้ายประกาศนี้

ข้อ 6 การประดับเข็มพิชญจุฬาภรณ์ให้ดำเนินการ ดังนี้

6.1 เครื่องแบบปกติขาว ครึ่งยศ และเต็มยศ

สุภาพบุรุษ ให้ประดับเข็มพิชญจุฬาภรณ์ที่อกเสื้อเบื้องขวาเหนือปากกระเป๋าเสื้อ

สุภาพสตรี ให้ประดับเข็มพิชญจุฬาภรณ์ที่อกเสื้อเบื้องขวา โดยอยู่ในระดับเดียวกับสุภาพบุรุษ

6.2 ชุดสากลหรือเสื้อสูท

สุภาพบุรุษและสุภาพสตรี ให้ประดับเข็มพิชญจุฬาภรณ์ที่รังดุมคอพับของเสื้อส่วนล่างเบื้องซ้าย

6.3 เสื้อซาฟารีและเสื้อแบบพระราชทาน ให้ประดับเข็มพิชญจุฬาภรณ์ที่อกเสื้อเบื้องซ้ายบริเวณปากกระเป๋าเสื้อใกล้กับแนวรังดุม

 

ข้อ 7 การพระราชทานเข็มพิชญจุฬาภรณ์ ชั้นที่ 1 และ 2 อยู่ในพระวินิจฉัยให้เป็นไปตามพระประสงค์ และให้ราชวิทยาลัยจัดทำประกาศเกียรติคุณเพื่อมอบให้แก่ผู้ที่ได้รับ

การพิจารณารายชื่อผู้รับเข็มพิชญจุฬาภรณ์ ชั้นที่ 3 ถึง 6 ให้เป็นไปตามพระประสงค์หรือหลักเกณฑ์ ดังนี้

7.1 ตำแหน่งเลขาธิการ อุปนายกสภาราชวิทยาลัย กรรมการสภาราชวิทยาลัยและมีสิทธิรับพระราชทานและประดับเข็มพิชญจุฬาภรณ์ ชั้นที่ 3

7.2 ตำแหน่งรองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ อธิการบดี และกรรมการที่ปรึกษาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ มีสิทธิรับพระราชทานและประดับเข็มพิชญจุฬาภรณ์ ชั้นที่ 4

7.3 ตำแหน่งที่ต่ำกว่าข้อ 7.2 ลงมาจนถึงตำแหน่งหัวหน้างาน กรรมการประจำส่วนงานกรรมการมูลนิธิภัทรมหาราชานุสรณ์ฯ และคณะที่ปรึกษาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์หรือตำแหน่งอื่นที่เทียบได้ในระดับเดียวกัน มีสิทธิรับพระราชทานและประดับเข็มพิชญจุฬาภรณ์ ชั้นที่ 5

7.4 ผู้ปฏิบัติงานในราชวิทยาลัยตำแหน่งต่ำกว่าข้อ 7.3 ลงมา มีสิทธิรับพระราชทานและประดับเข็มพิชญจุฬาภรณ์ ชั้นที่ 6

 

ข้อ 8 ให้ฝ่ายพัฒนาทรัพยากรบุคคล ตรวจสอบรายชื่อผู้ที่มีคุณสมบัติมีสิทธิรับพระราชทานเข็มพิชญจุฬาภรณ์ในชั้นต่างๆ ตามข้อ 7.1 ถึง 7.4 และจัดเตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการขอพระราชทานเข็มพิชญจุฬาภรณ์ต่อเลขาธิการเพื่อพิจารณากราบทูลขอพระวินิจฉัยอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

เมื่อมีการพระราชทานเข็มพิชญจุฬาภรณ์แก่ผู้ใด ให้ราชวิทยาลัยดำเนินการประกาศรายชื่อผู้ได้รับพระราชทานเข็มพิชญจุฬาภรณ์ ในทุกลำดับชั้นด้วย

ข้อ 9 นอกจากหลักเกณฑ์ตามข้อ 7 ในการพิจารณาคุณสมบัติของผู้มีสิทธิขอพระราชทานเข็มพิชญจุฬาภรณ์ จะต้องพิจารณาให้แก่ผู้ที่มีความประพฤติดี อยู่ในระเบียบวินัยอันดี ปฏิบัติงานของราชวิทยาลัย งานราชการ หรืองานที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนด้วยความอุตสาหะวิริยะ ซื่อสัตย์ และเอาใจใส่ต่อหน้าที่อย่างดียิ่งและเป็นผู้ที่ไม่เคยกระทำความเสื่อมเสียแก่ราชวิทยาลัยและประเทศชาติ

 

ข้อ 10 เลขาธิการมีอำนาจหน้าที่พิจารณาและวินิจฉัยคุณสมบัติผู้มีสิทธิขอพระราชทานเข็มพิชญจุฬาภรณ์ตามหลักเกณฑ์ที่ราชวิทยาลัยกำหนด และมีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาคัดกรองคุณสมบัติของผู้มีสิทธิขอพระราชทานเข็มพิชญจุฬาภรณ์ให้เลขาธิการเป็นผู้กราบบังคมทูลเสนอรายชื่อผู้ที่จะขอพระราชทานเข็มพิชญจุฬาภรณ์

ข้อ 11 เข็มพิชญจุฬาภรณ์ที่ได้รับพระราชทานนั้น เมื่อผู้ได้รับพระราชทานวายชนม์ให้ทายาทโดยธรรมนำส่งคืนเข็มพระราชทานดังกล่าวแก่ราชวิทยาลัย ถ้าส่งคืนไม่ได้ด้วยประการใดๆ ภายในกำหนด 30 วัน ต้องใช้ราคาเข็มนั้น

ข้อ 12 ผู้ที่ได้รับพระราชทานเข็มพิชญจุฬาภรณ์จะต้องส่งมอบเข็มพระราชทานดังกล่าวคืนแก่ราชวิทยาลัยเมื่อได้รับพระราชทานเข็มพิชญจุฬาภรณ์ชั้นที่สูงขึ้น หากส่งคืนไม่ได้ด้วยประการใดๆ ภายในกำหนด 30 วัน ต้องใช้ราคาเข็มนั้น

ข้อ 13 เมื่อได้รับพระราชทานเข็มพิชญจุฬาภรณ์แล้ว ผู้ได้รับพระราชทานจะต้องดำรงตนเป็นผู้ปฏิบัติงานที่ดี มุ่งปฏิบัติหน้าที่และรักษาจรรยาบรรณในวิชาชีพอย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรี และจะต้องมีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ดำรงตนยึดมั่นอยู่ในความเที่ยงธรรมปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์สูงสุดของราชวิทยาลัยและประเทศชาติต่อไป

 

 

ถ้าผู้ได้รับพระราชทานเข็มพิชญจุฬาภรณ์ กระทำความผิดร้ายแรงหรือประพฤติตนไม่สมเกียรติ ราชวิทยาลัยสามารถเรียกคืนเข็มพระราชทานได้ หากส่งคืนไม่ได้ด้วยประการใดๆ ภายในกำหนด 30 วัน ต้องใช้ราคาเข็มนั้น

ข้อ 14 ให้เลขาธิการรักษาการตามประกาศนี้ และสามารถกราบบังคมทูลเสนอรายชื่อผู้ที่จะขอพระราชทานเข็มพิชญจุฬาภรณ์ ชั้นที่ 1 และ 2 ให้ทรงพระวินิจฉัยเป็นกรณีพิเศษได้ ทั้งนี้ กรณีที่มีปัญหาหรือข้อสงสัยเกี่ยวกับการปฏิบัติตามประกาศนี้ให้เลขาธิการเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยและให้ถือเป็นที่สุด แล้วต้องรายงานให้สภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เพื่อทราบ

ประกาศ ณ วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

ศาสตราจารย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

เข็มพระราชทาน, พิชญจุฬาภรณ์, ราชกิจจานุเบกษา

เข็มพระราชทาน, พิชญจุฬาภรณ์, ราชกิจจานุเบกษา