'ศักดิ์สยาม' สั่งตรวจสอบตารางบินรับเปิดน่านฟ้าหลังโควิด

'ศักดิ์สยาม' สั่งตรวจสอบตารางบินรับเปิดน่านฟ้าหลังโควิด

“ศักดิ์สยาม” สั่งตรวจสอบตารางบิน รับเปิดน่านฟ้าไตรมาส 4/64 จี้ กพท.ทบทวนหลักคิดค่าโดยสารสายการบิน หลังพบราคาต่างแบบช่วงเวลา ผิดจากมาตรฐานสากล ลั่นต้องแล้วเสร็จภายใน เม.ย.นี้

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) วานนี้ (11 มี.ค.) โดยระบุว่า ที่ประชุมได้สั่งการให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ประสานสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อจัดให้มีการฉีดวัคซีนโควิด-19 แก่บุคลากรทางการบิน ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานที่ต้องสัมผัสและใกล้ชิดกับนักท่องเที่ยวที่เดินทางทางอากาศ เป็นการเตรียมพร้อมเพื่อเปิดทำการบินระหว่างประเทศ และเพื่อให้ประเทศไทยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางเศรษฐกิจผ่านระบบขนส่งทางอากาศ

อีกทั้ง ยังมอบให้ กพท. ไปศึกษาหลักเกณฑ์การคิดค่าโดยสารเครื่องบินในไทย และทั่วโลก นำมาเปรียบเทีบบว่าใช้หลักการใดในการคำนวณ เพราะเบื้องต้นเท่าที่ทราบหลักสากลที่ดำเนินการ คือ ใช้ระยะทาง และน้ำหนัก เป็นตัวกำหนดอัตราค่าโดยสาร แต่สิ่งที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้กลับพบว่า สายการบินนำเรื่องเวลาการซื้อตั๋วโดยสารเข้ามาเป็นตัวกำหนดค่าโดยสารด้วย เช่น ใครซื้อตั๋วล่วงหน้าก่อนการเดินทาง 1 เดือน จะได้ราคาถูก ส่วนใครที่ซื้อตั๋วก่อนเดินทาง 1 วันจะมีราคาแพง ซึ่งตนมองว่าการกำหนดราคาในลักษณะนี้ไม่ใช่หลักสากล ไม่เป็นเหตุเป็นผล และไม่ตอบโจทย์สำหรับผู้ใช้บริการ

"กพท. เป็นหน่วยงานกำกับสายการบินที่ต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย แต่ในเมื่อหลักสากลมีการปฏิบัติกันอยู่แล้ว ก็ควรให้เป็นสากล"

ทั้งนี้ ตนได้มอบให้ กพท. นำผลศึกษามารายงานที่ประชุม กบร. ในเดือน เม.ย.นี้ ซึ่งตนยืนยันว่าเข้าใจผู้ประกอบการสายการบินดีที่อาจจะใช้เวลาเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการคิดราคา แต่คงต้องมาดูเหตุผลด้วยว่าจะยอมรับกันได้หรือไม่ นอกจากนี้ ยังมอบให้ กพท. บริหารตารางเวลาการบิน (Slot) ทั้งในประเทศ และระหว่างประเทศด้วย หากสายการบินได้สล็อตไปแล้วใช้ไม่เต็มที่ ต้องเอาสล็อตมาคืนและจัดสรรให้กับสายการบินอื่น โดยเรื่องนี้ต้องเร่งทำ เพราะไตรมาสที่ 4 (ต.ค.-ธ.ค.2564) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุว่าเรื่องการเดินทางทางอากาศจะกลับมาแล้ว

ทั้งนี้ ที่ประชุม กบร.ยังมอบหมายให้ กพท. จัดทำตัวแบบ(Model) ในการตรวจสอบสถานะของบริษัทผู้ประกอบการสายการบิน เพื่อตรวจสอบว่ายังมีความพร้อมในการให้บริการ ธุรกิจยังเปิดอยู่ ไม่ได้ล้มหายไป โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน มิ.ย.นี้ หลังจากนั้นจะนำมาประชุมร่วมกับสายการบินต่างๆ เพื่อแจ้งให้ทราบว่าจะเปลี่ยนรูปแบบการติดตามสถานะของแต่ละบริษัท ซึ่งจะเป็นสร้างความแข็งแรงให้กับทั้ง กพท. และสายการบิน เนื่องจากทุกวันนี้ กพท. ดูสถานะเพียงแค่งบดุลเป็นรายปีเท่านั้น แต่ขณะที่บางประเทศต้องรายงานสถานะของบริษัท ทุก 15 วัน และแบ่งเป็นกลุ่มเขียว เหลือง และแดง เช่น หากเหลือง กพท.ต้องเริ่มเข้ามาดูแล และหากเป็นแดง กพท.ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เป็นต้น