"อดีตกรธ." แนะ "รัฐสภา" ชะลอลงมติวาระสาม เพื่อรอ "ผลประชามติแก้รัฐธรรมนูญ"

"อดีตกรธ." แนะ "รัฐสภา" ชะลอลงมติวาระสาม เพื่อรอ "ผลประชามติแก้รัฐธรรมนูญ"

อุดม รัฐอมฤต แนะ นำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านวาระสอง พ่วงถามประชามติ แก้รัฐธรรมนูญ เชื่อไม่เสียหาย คาดรัฐสภา ชะลอลงมติวาระสาม

      นายอุดม รัฐอมฤต อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)  ให้สัมภาษณ์ถึงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญต่อหน้าที่รัฐสภาที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับที่ต้องผ่านการทำประชามติถามประชาชนก่อน ว่า ในขั้นตอนที่รัฐสภารอการลงมติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ.... ในวาระสามส่วนตัวมองว่าควรชะลอออกไปก่อน เพราะในคำวินิจฉัยระบุว่าต้องถามความเห็นจากประชาชนว่าต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือไม่ อย่างไรก็ดีตนมองว่าในการถามประชามตินั้นสามารถนำประเด็น ที่รัฐสภาแก้ไขมาตรา 256 และการเพิ่มหมวดใหม่ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ถามไปในขั้นตอนและถามพร้อมกันได้ เพราะไม่เช่นนั้นอาจเกิดความไม่ชัดเจนว่า หากประชาชนให้แก้ไขแล้ว จะใช้วิธีใด และส่วนตัวมองว่าไม่ใช่เรื่องเสียหายที่จะถามไปในคราวเดียวกัน เช่นเดียวกับการเขียนกรอบแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่จะไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไป และหมวด2 พระมหากษัตริย์ เพื่อให้เกิดความสบายใจ 
      นายอุดม กล่าวด้วยว่า สำหรับการทำประชามตินั้น ส่วนตัวมองว่า มี 2 รอบเป็นอย่างต่ำ คือ ประชามติก่อนแก้ไข และ ประชามติหลังจากแก้ไขแล้ว เพราะตามมาตรา 256 กำหนดไว้  ส่วนหลังจากที่แก้ไขรัฐธรรมนูญจะมีการทำประชามติอีกหรือไม่ เป็นเงื่อนไขที่ผู้ยกร่างฉบับใหม่จะกำหนดไว้
      นายอุดม กล่าวด้วยว่าสำหรับความมุ่งหมายของหมวดว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 นั้น ในหลักการ อดีตกรธ. เชื่อว่าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดขึ้น เพราะมีทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบเนื้อหา อย่างไรก็ดีในมาตรา 256 นั้นได้นำแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 18 -22/2555 กำหนดไว้ด้วยคือ การทำประชามติ ทั้งนี้ ไม่คิดว่าการเขียนเนื้อหาไว้นั้น จะนำไปสู่การยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความได้ เพราะเข้าใจว่าการกำหนดให้ทำประชามตินั้น คือความยุติธรรม เพื่อให้คนที่สนับสนุน และคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ได้แสดงความเห็นเพื่อชี้ขาด.