“รัฐธรรมนูญ 60"แก้ได้ ปลายทางต่อไป “ประชามติ”

“รัฐธรรมนูญ 60"แก้ได้ ปลายทางต่อไป “ประชามติ”

คำวินิจฉัย "ศาลรัฐธรรมนูญ" ในคำร้องว่าด้วย "อำนาจ" รัฐสภา ต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ วันนี้ หลายคนจับตาผล ซึ่งหลายฝ่ายวิเคราะห์ ว่า มีแค่2 ทาง แต่สิ่งที่คาดการณ์ได้ก่อนคำวินิจฉัยออกมา คือ ทางที่ "ไปต่อ"

       ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน เตรียมพิจารณาและลงมติในคำร้องของรัฐสภาที่ขอให้วินิจฉัย “อำนาจรัฐสภา” ต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่ยกอำนาจไปให้องค์กรอื่น คือ “สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)” ทำได้หรือไม่ ในช่วงบ่ายวันนี้

       หลายความเห็นทางการเมืองคาดการณ์ว่า คำวินิจฉัยมีได้แค่ 2 ทาง คือ “ทำได้" กับ "ทำไม่ได้"

       และสิ่งที่ “ฝ่ายค้าน” เดาไว้คือ จะออกมาในแนวที่ว่า “ทำไม่ได้” เพราะด้วยมุมทางการเมืองที่มองผ่านเจตนาของ “รัฐบาลชุดปัจจุบัน” ซึ่งไม่ยินยอมถูกลดอำนาจ

       ดังนั้นร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 และเพิ่มหมวดจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ส่อถูก “ตีตก” จึงเห็นกระบวนเตรียมการ “เสนอญัตติแก้ไขเป็นรายมาตรา” ไว้รอ

       อย่างไรก็ดี ในความเห็นของบางฝั่งที่มองตามตัวบทกฎหมาย เช่น โภคิน พลกุล แกนนำกลุ่มสร้างไทย คำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. รวมถึง ฝ่ายกฎหมายของ "รัฐสภา” มองว่า อาจไม่เป็นเช่นนั้น

       เนื่องจากเคยมีแนวคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 18-22/2555 ยุคที่ “วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์” เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ วางแนวทางว่าด้วยหลักการแห่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือ 1.ยอมรับในอำนาจของรัฐสภาต่อการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ “ทำได้” พร้อมแนะนำให้รัฐสภาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา เพราะเหมาะสมแก่อำนาจ

       2. หลักการว่าด้วย “อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ” โดย “ประชาชน” ฐานะผู้ออกเสียงประชามติเห็นชอบรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ที่ควรได้ลงประชามติก่อนว่าสมควรมีรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่

       ในมุมของฝ่ายที่มองว่า “ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ยังไปต่อได้ เพราะเชื่อในหลักการที่ว่า “ศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบัน” ที่มี “วรวิทย์ กังศศิเทียม” ผู้ที่ได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ จะไม่วินิจฉัยหักล้างคำวินิจฉัยที่เคยมีไว้เมื่อปี 2555

       คงหลักการ “อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ” เป็นของ “ประชาชน” โดยไม่ใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ที่มี "องค์ตุลาการ 9 คน” ลิดรอนสิทธิของประชาชนที่จะสถาปนารัฐธรรมนูญผ่านการออกเสียงประชามติ

       เพียงแต่จะเลือกช่วงเวลาใดให้ “ประชาชน” ได้แสดงอำนาจนั้น

       เพราะในคำวินิจฉัย 18-22/2555 ไม่เคยมีการปฏิบัติหลังจากสิ้นคำวินิจฉัย ทำให้กลายเป็นประเด็นว่า ประชามติควรเกิดขึ้น "ก่อนรัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญ” หรือ “หลังจากที่เห็นเนื้อหาการแก้ไขแล้ว”

       แต่ในปัญหานั้น กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มี “มีชัย ฤชุพันธุ์” เป็นประธาน ได้นำเอาสาระคำวินิจฉัย 18-22/2555 ว่าด้วยการทำประชามติบัญญัติไว้ในมาตรา 256(8) แปลความได้ว่า หากมีเนื้อหาเข้าเงื่อนไขที่ต้องนำไปออกเสียงประชามติ หรือ หมายถึงทำประชามติหลังจากที่มีเนื้อหาฉบับแก้ไข

       ซึ่งในปัจจุบันมีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รอทำประชามติ แม้จะรอขั้นตอนลงมติวาระสามจากรัฐสภา ว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบทั้งฉบับ

       ประเด็นแท้จริงที่หลายฝ่ายกำลังจับตาจากการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญวันที่ 11 มีนาคมนี้ นอกจากการชี้ขาดเรื่องอำนาจของรัฐสภาต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว ยังมีประเด็นที่นอกเหนืออำนาจ “รัฐสภา” และ “ศาลรัฐธรรมนูญ” คือกลไกที่จะนำมาสนับสนุน “เตะถ่วง” การแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกหรือไม่

       เพราะในทางการเมือง หากตีกรอบ “วิกฤตรัฐธรรมนูญ” ไว้แค่ในสภาฯ และหาทางประวิงเวลาให้ รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ในวาระไปจนครบอายุ 8 ปี ตามที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันออกแบบกลไกไว้ให้

       น่าจะเหมาะสมที่สุดกับสถานการณ์บ้านเมืองยามนี้ ที่ไม่ว่ามองมุมไหน “ผู้มีอำนาจ” ยังเป็นต่อในทุกอณู.