'ปริญญ์' ดึงเทคโนโลยีแก้ปัญหาขนส่งสาธารณะ 'ระบบราง-เรือ-รถเมล์'

'ปริญญ์' ดึงเทคโนโลยีแก้ปัญหาขนส่งสาธารณะ 'ระบบราง-เรือ-รถเมล์'

หัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย ปชป. เปิดพื้นที่ชวนรัฐ-เอกชน ถกปัญหา “จราจร กทม.” ต้องแก้ทั้งจิตสำนึกคน และนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ ส่งเสริมขนส่งสาธารณะล้อ-ราง-เรือ

นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย พรรคประชาธิปัตย์ จัดงาน “เปิดอกถกทุกประเด็น” แก้ปัญหาจราจร เชิญ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และอดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สุรพงษ์ เมี้ยนมิตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม

ดร.พงศ์ธร ธาราไชย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โปรเจค แพลนนิ่ง เซอร์วิส จำกัด และ พ.ต.ต.พุฒิพัฒน์ โกยมวงษ์เจริญ สารวัตรจราจร สถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ ร่วมพูดคุยทางออกให้การจราจรในกรุงเทพมหานคร ในหัวข้อ “กรุงเทพต้องดีขึ้น แก้ปัญหาวิกฤติจราจร” ณ ร้านกาแฟ Blue cloud พรรคประชาธิปัตย์ และแอปพลิเคชันคลับเฮาส์

นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ กล่าวว่า ปัญหาการจราจรใน กทม. เป็นปัญหาใหญ่ที่สะสมมาอย่างยาวนาน แม้การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมาจะทำให้ปัญหานี้ลดน้อยลงไป แต่ก็เป็นเพียงการช่วยบรรเทาความเจ็บปวดในระยะสั้นเท่านั้น เมื่อสถานการณ์เริ่มกลับสู่สภาวะปกติ ต้องกลับมามองการแก้ไขปัญหาในระยาวมากขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการบูรณาการความร่วมมือของหลายฝ่าย ไม่สามารถทำคนเดียวได้

รวมถึงต้องมีการนำเทคโนโลยียุคใหม่มาใช้ด้วย ดังที่ทีมเศรษฐกิจทันสมัย ปชป. ได้ผลักดันมาอย่างต่อเนื่อง โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่างานในครั้งนี้จะทำให้ทุกฝ่ายเห็นภาพที่ตรงกัน และเกิดการบูรณาการความร่วมมือกันมากขึ้นได้ในอนาคต เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาให้ประชาชนอย่างยั่งยืน

161531054020

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาการจราจรในกทม. ทั้งรถติด น้ำท่วม และมลพิษ PM 2.5 เป็นสิ่งที่เราพูดกันมานานแล้ว ซึ่งสาเหตุสำคัญเกิดจากการที่เดิมทีมีแผนการสร้างรถไฟฟ้ามาก่อนทางด่วน แต่บางรัฐบาลเลือกที่จะสร้างทางด่วนก่อน ทำให้คนหันไปใช้รถส่วนตัวกันมากขึ้น จึงเกิดปัญหารถติดตามมา

แต่เวลานี้คิดว่ารัฐบาลเดินมาถูกทางแล้วที่เดินหน้าขยายเส้นทางรถไฟฟ้า เพื่อส่งเสริมให้คนใช้ขนส่งมวลชนมากขึ้น แต่ที่คนยังใช้บริการไม่มากเป็นเพราะค่าโดยสารแพง โครงข่ายยังไม่ครอบคลุม และระบบเชื่อมต่อขน (Feeder) ยังไม่ดี ซึ่งการจะทำให้ค่าโดยสารถูกกว่านี้คือรัฐบาลต้องลงทุนเองทั้งหมด เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก

ดังนั้นรัฐบาลและกทม.ต้องเร่งแก้ปัญหานี้ด้วยการทำ “ตั๋วร่วมโดยสาร” เพื่อลดค่าแรกเข้าของทุกระบบขนส่ง ในขณะเดียวกันก็ไม่ควรมองข้ามการพัฒนารถโดยสารธารณะพื้นฐานอย่างรถเมล์ ที่ต้องพยายามหารถใหม่มาทดแทนและเพิ่มเส้นทางการเดินรถ โดย กทม.อาจต้องเข้าไปเป็นหนึ่งผู้ให้บริการด้วย เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้ประชาชน

รวมถึงควรวางท่อใต้คลองเพื่อระบายน้ำท่วม และทำให้เรือสัญจรได้ตลอดเวลา คนจะได้หันไปใช้เรือโดยสารกันมากขึ้น รวมทั้งควรปลูกฝังเรื่องวินัยจราจรไปพร้อมกัน เพราะตำรวจจราจรมีน้อยกว่าผู้ใช้รถ การจะจับผู้กระทำผิดทุกกรณีคงเป็นไปได้ยาก

161531058760

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีหลายประเด็นที่น่าสนใจ อาทิ กระทรวงคมนาคมและ กทม.กำลังส่งเสริมขนส่งสาธารณะล้อ-ราง-เรือ โดยเร่งรัดการก่อสร้างรถไฟฟ้าเป็นระบบขนส่งหลักและเร่งทำตั๋วร่วมโดยสาร มีข้อเสนอแนะให้ตำรวจจราจรไปอยู่ภายใต้การดูแลของ กทม. เพื่อการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

รวมทั้งสนับสนุนการนำเทคโนโลยีมาใช้คำนวณปริมาณรถและสัญญาณไฟจราจร และนำ Big data กลับมาใช้พัฒนาระบบจราจรกทม. ส่งเสริมเศรษฐกิจแบ่งปัน (Sharing Economy) คืนพื้นผิวจราจร กทม. สนับสนุนให้คนใช้รถยนต์ส่วนบุคคลร่วมกัน และลดค่าขนส่งมวลชนให้เหลือเพียงร้อยละ 15 ของค่าแรงขั้นต่ำ เสนอการแปลงข้อมูลเป็นเหรียญ (Tokenization) เพื่อกระตุ้นให้คนมีวินัยจราจร

และเสนอการใช้วิดีโอ สตรีมมิ่ง บอกสภาพการจราจรแบบเรียลไทม์แทนระบบจีพีเอส เพื่อให้คนสามารถตัดสินใจเลือกใช้รถได้เหมาะสม ประชาสัมพันธ์ให้คนเห็นมูลค่าความสูญเสียบนท้องถนนทุกวัน ให้เอกชนเข้ามาดูแลเรื่องระบบจราจรแทนภาครัฐ ทำที่จอดรถสาธารณะรอบจุดเชื่อมต่อขนส่งมวลชน และเสนอการแก้ปัญหาที่เริ่มจากผู้ขับขี่ โดยต้องกล้ายอมรับว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาก่อนที่จะไปแก้เรื่องอื่น เป็นต้น

ทั้งนี้ “งานเปิดอกถกทุกประเด็น จัดขึ้นเป็นประจำทุกวันอังคาร เวลา 17.30 น. เป็นต้นไป เพื่อระดมแนวคิดและแนวทางการแก้ไขปัญหาจากทุกภาคส่วนเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน โดยสัปดาห์หน้าจะเป็นการจัดงานนอกสถานที่ครั้งแรก ผู้สนใจเข้าร่วมงานสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เฟซบุ๊คเพจ ปริญญ์ พานิชภักดิ์ - Prinn Panitchpakdi และไลน์ไอดี @prinnp หรือรับชมเรื่องราวเจาะลึกทุกปัญหาปากท้องของคนกรุง ได้ที่ช่องยูทูป PRINN Check in”