วัคซีนเปิดประเทศ ตัวแปรเศรษฐกิจ

วัคซีนเปิดประเทศ ตัวแปรเศรษฐกิจ

ภาพรวมการเติบโตเศรษฐกิจไทย หรือจีดีพีประเทศ ปี 2564 ต้องฝากความหวังไว้กับวัคซีนโควิด-19 หากวัคซีนที่เพียงพอและกระจายมากกว่า 70% เร็วเท่าไหร่ การคลายล็อคจะถึงปลดล็อคได้อย่างสมบูรณ์ แต่หากไม่เป็นไปตามแผนจะเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยเช่นกัน

องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี) ประกาศเพิ่มการคาดการณ์การขยายตัวเศรษฐกิจโลกปี 2021 โดยคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะเติบโตถึง 5.6% โออีซีดีให้น้ำหนักความคาดหวังการทยอยฉีดวัคซีนโควิด-19 ผนวกกับการออกมาตการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะสหรัฐ ที่มีโครงการมูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ สามารถผลักดันกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งภายในและต่างประเทศ โดยคาดว่าเศรษฐกิจภายในสหรัฐจะเติบโต 6.5%

มุมมองของโออีซีดีสอดคล้องกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ที่ประเมินว่าเศรษบกิจโลกปีนี้ มีแนวโน้มกลับมาขยายตัวที่ 5.5% จากปีก่อนที่หดตัว 3.5% เป็นผลจากการใช้มาตรการสนับสนุนทางการเงินการคลังอย่างต่อเนื่องและวัคซีนที่แพร่หลายมากขึ้น กลับมาที่เศรษฐกิจไทย ในปี 2564 คงปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพรวมการเติบโตหรือจีดีพีประเทศ ต้องฝากความหวังไว้กับวัคซีนโควิด-19 ซึ่งประเทศไทยเริ่มฉีดวัคซีนตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา จุดประกายความหวังในการทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัว

หากวัคซีนที่เพียงพอและกระจายมากกว่า 70% เร็วเท่าไหร่ การคลายล็อคจะถึงปลดล็อคก็จะดำเนินการได้อย่างสมบูรณ์ รัฐบาลคาดว่า ถ้าแผนการฉีดวัคซีนเป็นไปตามไทม์ไลน์ ก็สามารถเปิดประเทศเต็มรูปแบบภายในเดือน ต.ค.64 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยให้มุมมอง วัคซีนและนโยบายการเปิดรับนักท่องเที่ยวของไทยมีผลอย่างมากต่อทิศทางต่อตลาดการท่องเที่ยวไทยในปีนี้ นั่นหมายความว่าในเมื่อวัคซีนเป็นความหวังต่อเศรษฐกิจ แต่หากการฉีดวัคซีนไม่เป็นไปตามแผนหรือนักท่องเที่ยวต่างประเทศไม่มาตามคาด จะเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยเช่นกัน

สำหรับข้อเสนอแนะ รัฐบาลต้องเน้นกระจายการฉีดวัคซีนในพื้นที่ท่องเที่ยว โดยเฉพาะพนักงานที่อยู่ในระบบ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นปลอดภัยให้นักท่องเที่ยว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ภายใต้สมมุติฐานการเปิดรับนักท่องเที่ยวเป็นไปตามแผนและวัคซีนมีความชัดเจน การเดินทางระหว่างประเทศมีข้อจำกัดที่ลดลง ปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในประเทศไทยจำนวน 2 ล้านคน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประมาณการจีดีพีไว้ที่ 2.6% พร้อมยืนยันเศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว

เราเห็นว่า นอกจากรัฐบาลต้องดำเนินการเรื่องการฉีดวัคซีนให้ได้ตามเป้าหมายในเบื้องต้นแล้ว จำเป็นต้องมีแผนสำรองหากเกิดตัวแปรหรือปัจจัยอื่นแทรกซ้อน เช่น กรณีโควิด-19 กลายพันธุ์หรือประเทศอื่นๆ ไม่สามารถฉีดวัคซีนได้ตามแผน โดยเฉพาะของประเทศต้นทางที่เป็นตลาดหลัก ได้แก่ จีน ยุโรปตะวันตก สหรัฐ รัสเซียและเอเชีย อาจจะดำเนินการนโยบายเศรษฐกิจควบคู่กับการท่องเที่ยว ทั้งด้านการส่งเสริมภาคส่งออก หรือการออกมาตรการสนับสนุนการเงินการคลัง อัดฉีดเม็ดเงินและสินเชื่อให้กับครัวเรือนและเอสเอ็มอี เพื่อให้มีการสนับสนุน ให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวในที่สุด