ถ้า "หัวลำโพง" ไม่ได้เป็นสถานีรถไฟอีกต่อไป ? 

ถ้า "หัวลำโพง" ไม่ได้เป็นสถานีรถไฟอีกต่อไป ? 

เมื่อสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ถูกลดบทบาทการใช้งาน ไม่ได้ทำหน้าที่เหมือนเดิม ถ้าอย่างนั้น สถานที่ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า100 ปี ควรปรับเปลี่ยนเป็นอะไร และควรทำหน้าที่อย่างไร 

"การย้ายสถานีรถไฟไปบางซื่อ เราต้องมาร่วมด้วยช่วยกันสนับสนุนการรถไฟรักษาหัวลำโพง สมบัติล้ำค่า 100 กว่าปี เป็นที่มาของการวิจัยรับฟังความคิดเห็นภาคประชาชน ผู้มีส่วนร่วมต่างๆ มองภาพในอนาคตว่า การบริหารจัดการสถานที่แห่งนี้ควรดำเนินการในลักษณะไหน อาจเป็นการร่วมทุนหรือทำเป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิต" 

ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ประธานคณะอนุกรรมการแผนงานกลุ่มการท่องเที่ยว และเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กล่าวในเวทีสาธารณะออนไลน์ มโนทัศน์หัวลำโพง จากคุณค่ากว่า 100 ปี สู่อนาคตของประเทศไทย ที่จัดขึ้นโดย The Active และองค์กรภาคี เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2564 ณ สถานีรถไฟหัวลำโพง

ทางด้าน ธิป ศรีสกุลไชยรัก นักวิจัยโครงการการศึกษาเพื่อวางกรอบในการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) กล่าวว่า

 "เราไม่อยากสื่อสารทางเดียว อยากรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนด้วย จะมีการประกวดแนวความคิด ทำยังไงจะบริหารจัดการให้หลายส่วนได้ประโยชน์ ส่วนไหนจะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยน จะต้องมีความรู้จากสาธารณะมาร่วมตัดสินใจด้วย ไม่เช่นนั้นจะเป็นการตัดสินใจของคนไม่กี่คน บนพื้นฐานของผลประโยชน์"

161525462313 ผู้ร่วมเสวนา มโนทัศน์หัวลำโพง จากคุณค่ากว่า 100 ปี สู่อนาคตของประเทศไทย

เพราะอยากให้หลายฝ่ายมาร่วมด้วยช่วยกันออกความเห็น ผศ.เฟื่องอรุณ ปรีดีดิลก ผู้อำนวยการ แผนงานวิจัยโครงการ การศึกษาเพื่อวางกรอบในการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) บอกว่า 

"หัวลำโพงมีคุณค่าเชิงอัตลักษณ์ 10 คุณค่า แสดงอยู่ในนิทรรศการ รัชกาลที่ 5 ทรงวางหมุด มีอนุสรณ์ปฐมฤกษ์ เป็นเรื่องสถาบันกับความเป็นชาติและความมั่นคงของชาติ มีคุณค่าเรื่องสถาปัตยกรรม กระจกสี การออกแบบโถงขนาดใหญ่ที่ไม่มีเสารองรับ องค์ความรู้ในมิติต่างๆ วิถีชีวิต เก้าอี้ อาหาร ข้าวผัดรถไฟ ยำเนื้อ มีเอกลักษณ์ ดูเรื่องกายภาพ ภายในอาคารควรมีการใช้งานแบบไหน ภายนอกอาคารต้องมีพื้นที่สีเขียว สีฟ้า สีเหลือง สีแดง สีส้ม โครงการที่สอง ดูเรื่องความเป็นไปได้ในการลงทุน ที่หัวลำโพงจะสามารถยืนด้วยตัวเองได้" 

161525467252

สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ในปัจจุบัน ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการเดินรถไฟของประเทศไทย

  • คุณค่าของหัวลำโพง

    ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า สถานีรถไฟหัวลำโพง กับ สถานีรถไฟกรุงเทพ ไม่ใช่ที่เดียวกัน

    สถานีรถไฟหัวลำโพงอยู่ฝั่งตรงข้าม ที่ถนนพระราม 4 เป็นรถไฟสายหัวลำโพงปากน้ำ ให้สัมปทานประเทศเดนมาร์ก ระยะทาง 21 กิโลเมตร จากทุ่งหัวลำโพงไปทางทิศตะวันออกผ่านศาลาแดง, คลองเตย, บางจาก, พระโขนง, โรงเรียนนายเรือ, ปากน้ำสมุทรปราการ เป็นเส้นทางรถไฟสายแรกของประเทศไทย เปิดใช้งาน 21 เมษายน พ.ศ. 2436 จากสีลมมาเยาวราชเดิมเป็นคลอง

     วันวิสข์ เนียมปาน ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติการรถไฟไทย (แฟนพันธุ์แท้รถไฟไทย) เล่าว่า เราจึงเห็นวัดหัวลำโพงตั้งอยู่ที่สถานีสามย่าน เศษซากมีให้เห็น เป็นคลองใต้ทางด่วนหลังมหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล้วยน้ำไท 

      "คลองโดนถมไปปีพ.ศ. 2503 กลายเป็นถนนพระราม 4 มีถนนทางรถไฟสายเก่า ออกไปทางสรรพวุธ และสุขุมวิทบางส่วน ในปีพ.ศ. 2443 มีการวางศิลาฤกษ์ที่ตึกบัญชาการ เส้นทางแรกกรุงเทพ-เชียงใหม่ สามารถล่องมาตามแม่น้้ำได้ จึงสร้างเส้นทางที่สองก่อนเพราะล่องแม่น้ำไม่ได้ 

161525617261 ภายในสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ในปัจจุบัน 

หลังเปิดเดินรถไฟสายปากน้ำไปได้ 3 ปี 26 มีนาคม 2439 ก็เปิดเส้นทางเดินรถไฟกรุงเทพ-นครราชสีมา รัชกาลที่ 5 กับสมเด็จพระบรมราชินีนาถสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี เสด็จมาที่สถานีกรุงเทพ

      และปีนี้ 2564 ครบ 124 ปี ต่อมามีการขยายเส้นทางรถไฟเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สถานีกรุงเทพมีพื้นที่ไม่เพียงพอต้องสร้างสถานีใหม่ให้ใหญ่กว่าเดิม สร้างเสร็จ 25 มิถุนายน 2459 รัชกาลที่ 6 เสด็จมาเปิด แล้วยุติสถานีเดิม ที่นี่จึงเป็นสถานีรถไฟกรุงเทพ"

    ระพีพัฒน์ เกษโกศล ผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ แสดงความคิดเห็นว่า ในสมัยรัชกาลที่ 5 สยามเกิดปัญหา ฝรั่งเข้ามาแบ่งแยกพื้นที่ โมเดลรถไฟจำลองย่อส่วน เครื่องราชบรรณาการที่สมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรียถวายแก่รัชกาลที่ 4 ทำให้รัชกาลที่ 5 ทรงดำริเรื่องการสร้างกิจการรถไฟและระบบรางเชื่อมโยงพื้นที่ต่างๆ เข้าด้วยกัน เป็นศูนย์กลางของการพัฒนาประเทศและยึดโยงให้เป็นหนึ่งเดียวกันได้จนถึงทุกวันนี้ แต่ ณ วันนี้ สถานีรถไฟก็ต้องปรับเปลี่ยนตามกาลเวลา 

       "เมื่อบทบาทเดิมถูกย้ายไปที่อื่น ที่ตรงนี้จะทำอย่างไร 1)เป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิต มีรถไฟขนาดจริง รถไฟขนาดเล็ก มาวิ่งรอบรับส่งผู้คนให้เห็นระบบราง การขนส่ง 2)เป็นศูนย์ข้อมูล คลังความรู้ คลังข้าวของต่างๆ ที่การรถไฟและผู้คนได้เก็บเอาไว้ ให้มาชมแล้วนำไปสร้างสรรค์ต่อยอดพัฒนาไปจุดอื่น"

  • มุมมองการจัดการ

      "ในต่างประเทศ รางรถไฟ สกายไลน์ ที่นิวยอร์ค ถูกเก็บมา 20 ปี แล้วปรับเป็นสวนสาธารณะ หัวลำโพงมีค่าสำหรับเมืองไทย ไม่ใช่แค่พิพิธภัณฑ์ ศูนย์เรียนรู้ พื้นที่ทางการค้า มันซับซ้อนกว่านั้น ในอนาคตมีอะไรที่เป็นโจทย์ของโลกใหม่ อะไรที่เป็นเครื่องหมายของศิวิไลเซชั่น นำมาเป็นฟังก์ชั่นของที่นี่ ตอนนี้คนสนใจเรื่องสุขภาพ พื้นที่สีเขียว มีหลายที่ในโลก ที่เขาไม่ทำอย่างอื่นเลย ส่วนที่เป็นอาคาร เก็บไว้เป็นประวัติศาสตร์ แล้วที่เหลือเป็นพื้นที่สีเขียวทั้งหมด" อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) กล่าว

       ส่วน อภิชาติ ประเสริฐรอง ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์กรมหาชน)หรือ OKMD กล่าวว่า บทบาทปัจจุบันของหัวลำโพงเปลี่ยนไป ต้องมาดูว่าคนต้องการอะไรจากหัวลำโพง สิ่งที่คนต้องการคือพื้นที่สีเขียว นอกเหนือไปจากพื้นที่ที่อยู่อาศัยและพื้นที่การทำงาน 

       "น่าจะเป็นพื้นที่ในเมืองที่นักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการ ทั้งการเรียนรู้ สันทนาการ เศรษฐกิจ พักผ่อนหย่อนใจ สร้างปฏิสังคมที่หลากหลายมากขึ้น พัฒนาพื้นที่ตรงนี้ให้ตอบสนองกับเทรนด์การเรียนรู้ ตามความต้องการของคนรุ่นใหม่ได้ ถ้าเราพัฒนาพื้นที่โดยไม่ได้ยึดความต้องการของคนเป็นตัวตั้ง แต่ไปยึดความคุ้มค่า ยึดตามนโยบาย โดยไม่มองคนเป็นหลักผมว่าอาจจะมีปัญหา"

161525506658 ผู้โดยสาร นั่งรอขบวนรถไฟ ที่สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง)

ปองขวัญ สุขวัฒนา ลาซูส อุปนายกสามาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม แสดงความคิดเห็นว่า หัวลำโพง มีความเป็นมรดกสถาปัตยกรรม และโบราณสถาน กำลังจะขึ้นทะเบียนโบราณสถาน 

"ในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกสมัยนั้น หัวลำโพง เป็นสถานีรถไฟแห่งแรก ที่ญี่ปุ่น เกาหลี ต้องมาดูงานที่บ้านเรา ถ้าเราทำพื้นที่นี้ให้ดี จะเป็นมรดกโลกได้ รถไฟบ้านเรามีความเก่าแก่ ถ้าเราเก็บรวบรวมข้อมูล ทำเป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิตระดับโลกก็ทำได้"