KBANK ชี้ศก.ไทยผ่านจุด ‘ต่ำสุด’ ส่งออกหนุน ลุ้น ‘จีดีพี’โตแตะ 3%

KBANK ชี้ศก.ไทยผ่านจุด ‘ต่ำสุด’ ส่งออกหนุน ลุ้น ‘จีดีพี’โตแตะ 3%

กสิกรไทย เปิดเส้นทางฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยปี 2564 หลังมีวัคซีน ชี้ยังต้องจับตาใกล้ชิดถึงการกระจายวัคซีน หนุนนักท่องเที่ยวได้2ล้านคนปีนี้ ขณะที่ปรับตัวเลขส่งออกเพิ่ม หลังเศรษฐกิจโลหกฟื้น หวังส่งออก-ท่องเที่ยวดีกว่าคาดดันจีดีพีแตะกรอบบนที่3%


    ภาพรวม 'เศรษฐกิจไทย' ปี 2564 คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ต้องให้น้ำหนักและฝากความหวังไว้กับ ‘วัคซีน’ ป้องกันไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่หรือโควิด-19 ที่เบื้องต้นประเทศไทยเริ่มมีการฉีดวัคซีน ให้กับประชาชนได้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม ที่ผ่านมา

    อย่างไรก็ตาม แม้ ‘วัคซีน’จะเป็นความหวังต่อเศรษฐกิจ แต่หากการฉีดวัคซีนไม่เป็นไปตามแผน นักท่องเที่ยวไม่มาตามคาด ปัจจัยเหล่านี้จะเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยเช่นกัน

    ล่าสุด ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดมุมมอง “เส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2564 หลังมีวัคซีน”

      โดย ‘เกวลิน หวังพิชญสุข’ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า สำหรับเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ตัวแปรหลักๆ คงหนีไม่พ้น “การท่องเที่ยว” ว่าประเทศจะเปิดรับท่องเที่ยวจากต่างประเทศได้หรือไม่ ซึ่งต้องยอมรับว่า วัคซีนและนโยบายการเปิดรับนักท่องเที่ยวของไทยมีผลอย่างมากต่อทิศทางต่อตลาดการท่องเที่ยวไทยในปี 2564 นี้

    ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ภายใต้สมมุติฐานการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ที่เป็นไปตามแผนของภาครัฐ และวัคซีนมีความชัดเจน ข้อจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศมีน้อยลง ทำให้ประเมินว่าจะเห็นจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ เดินทางเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยได้ ราว 2 ล้านคน ที่เป็นไปได้ในปีนี้

     เหล่านี้พิจารณาจากอัตราการฉีดวัคซีนของประเทศต้นทาง เช่น 10 ตลาดหลักสำคัญของไทย ได้แก่ จีน ยุโรปตะวันตก สหรัฐฯ รัสเซีย เอเชียและอาเซียนบางประเทศ ที่มีการฉีดวัคซีนคืบหน้าไปมาก ดังนั้นอาจเห็นนักท่องเที่ยวจาก 10 ประเทศสำคัญๆเหล่านี้ เข้ามาได้ในไตรมาสสุดท้ายปีนี้ราว 1.9 ล้านคน

     “แต่เหล่านี้ต้องติดตามสถานการณ์การฉีดวัคซีน ที่จะเป็นแปรหลัก ของตลาดท่องเที่ยวไทยปีนี้ และประเทศไทยจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับการฉีดวัคซีนเหมือนกัน ดังนั้นประเมินว่าธุรกิจโรงแรมในพื้นที่ 20 จังหวัด มีแรงงานที่ต้องการวัคซีนอย่างน้อย 2.2 แสนโดสก่อนเดือนต.ค.นี้"

     ด้านภาพเศรษฐกิจไทยปีนี้ “ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล”ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงประมาณการจีดีพีไว้ที่ 2.6% จากที่เคยประเมินไว้ แต่ไส้ในมีการปรับเปลี่ยนตามปัจจัยบวกและลบเพิ่มขึ้น

      โดยมีการขยับกรอบประมาณการจีดีพีปีนี้ เป็น 0.8-3.0% สะท้อนว่า เศรษฐกิจไทยอาจไม่ได้กลับไปต่ำ เหมือนที่เคยประเมินไว้ที่กรอบล่างระดับ 0% สะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว

     ขณะเดียวกัน ตัวเลขอัพไซด์ หรือกรอบบนที่ประมาณการไว้ที่ 3% อยู่บนสมมุติฐานว่า ส่งออกที่ประเมินไว้ในปัจจุบันดีกว่าคาด และนักท่องเที่ยวอาจเพิ่มขึ้นได้มากกว่าประเมินไว้ ทำให้อาจเห็นเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้นได้เล็กน้อย แต่ก็ยังมีอัพไซด์จำกัด

     ถามว่าไส้ในของจีดีพีปีนี้ภายใต้ 2.6% หลักๆ ตัวที่มีผลมากต่อมาตรการ คือภาคการส่งออก โดยเฉพาะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ และเศรษฐกิจโลก ที่ดีกว่าที่ประเมินไว้ ทำให้คาดส่งออกดีขึ้นเป็น 4.5% จากเดิมที่คาด 3%

     แต่ถามว่า ทำไมปรับส่งออกขึ้น แล้วทำไมยังคงจีดีพีไว้ที่ 2.6%? หลักๆ มาจากการท่องเที่ยว ที่มีมุมมองต่ำกว่าครั้งก่อนหน้า จากเดิมเคยมองไว้ 4.5 ล้านคน แต่รอบนี้ประเมินตัวเลขที่เป็นไปได้เพียง 2 ล้านคน ดังนั้นทำให้เศรษฐกิจไม่ได้ปรับตัวขึ้น

     สำหรับประเด็นที่ต้องติดตาม ในช่วงที่เหลือของปี ที่อาจกระทบต่อเศรษฐกิจไทยปีนี้ คือวัคซีน และนโยบายการเปิดรับนักท่องเที่ยว ตามแผนที่ภาครัฐจะมีการกระจายวัคซีน 2 ล้านโดสอาจเป็นไปได้

     แต่ระยะที่สอง ที่มีแผนกระจายวัคซีน 61 ล้านโดสให้ได้ภายในสิ้นปี อาจทำได้ช้าหรือเร็วได้ ถัดมาคือน้ำมันที่เร่งตัวขึ้น ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยขยับกรอบราคาน้ำมันเพิ่มเป็นมาเป็น 53 ดอลลาร์ต่อบาเรล และกรอบใหญ่มองที่ 50-60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เหล่านี้จะส่งผ่านไปสู่ “เงินเฟ้อ” ให้ขยับขึ้น เป็น 1.1% ปีนี้ จากปีก่อนที่อยู่เพียง 0.8%

     “การฟื้นตัวเศรษฐกิจปีนี้ที่มีวัคซีน ทำให้ลิมิตดาวไซด์กรอบล่างให้ขยับขึ้นมา สะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยได้ผ่าน “จุดต่ำสุด”มาแล้ว แต่ไทยพึ่งพาท่องเที่ยวมาก ทำให้อัพไซด์บวกไม่สูงมาก”

    สำหรับภาคการเงิน “ธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล” รองกรรมการผู้จัดการ กสิกรไทย กล่าวว่า ปีนี้เองยังประเมินว่า ไทยยังอยู่กับภาระหนี้ครัวเรือนสูง และยังขยับขึ้นต่อเนื่อง

    โดยหากดู 'หนี้ครัวเรือน' ปีที่ผ่านมา คาดการณ์อยู่ที่ 89.2% และสิ้นปีนี้ คาดจะเพิ่มมาเป็น 89-91% ต่อจีดีพี ซึ่งเป็นขาขึ้น ภายใต้เศรษฐกิจที่โตตามหนี้ไม่ทัน แต่ก็เป็นขาขึ้นพร้อมๆกับประเทศอื่นๆ ดังนั้นไม่ใช่เรื่องแปลก

      ขณะเดียวกัน สิ่งที่ต้องให้น้ำหนัก คือหนี้ที่อยู่ภายใต้การช่วยเหลือทางการเงิน หากหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 14 ล้านล้านบาท ดังนั้นต้องจับตาว่า ลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างการพักหนี้ ระยะข้างหน้าจะผ่านสถานการณ์นี้ไปได้หรือไม่

     ซึ่งปัจจุบันพบว่า กลุ่มนี้ ที่ยังรอรับการช่วยเหลือยังมีอีกราว 20% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด แม้จะผ่านจุดแย่สุด หรือจุดพีคไปแล้ว แต่มีโอกาสที่จะเห็นหนี้ขยับขึ้นได้อีก จะเป็นภูเขาเล็กๆ และเริ่มเห็นเพิ่มขึ้นในช่วง มี.ค.-เม.ย.ปีนี้

      ผลสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทยล่าสุดชี้ว่า ครัวเรือนยังกังวลกับสถานการณ์รายได้ลด ปัญหาค่าครองชีพ และภาระหนี้สูง และพบว่า 10.3% ของการทำผลสำรวจทั้งหมด มีภาวะทางการเงินเสี่ยงต่อวิกฤติ จึงยังจำเป็นต้องมีการต่ออายุมาตรการดูแลให้กับครัวเรือนเหล่านี้ เช่นเดียวกับธุรกิจเอสเอ็มอีที่จำเป็นต้องมีมาตรการช่วยเหลือ แต่เป็นเฉพาะเจาะจงมากขึ้น

    “บนเงื่อนไขที่เศรษฐกิจมีความไม่แน่นอน คนยังไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ ดังนั้นแบงก์จะต้องดูแลด้านคุณภาพหนี้ต่อไปอีก 1-2 ปี เป็นอย่างน้อย ส่วนหนี้เสียปีนี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้น เป็น 3.3% จากปลายปีก่อนที่ 3.12% ยังไม่สูงมากเพราะอยู่ในมาตรการผ่อนปรน แต่ต้องดูอีกในช่วง 1-2ปีข้างหน้าต่อไป”