ทำไมบางประเทศแก้ 'โรคระบาด-เศรษฐกิจ' ได้ดีกว่า?

ทำไมบางประเทศแก้ 'โรคระบาด-เศรษฐกิจ' ได้ดีกว่า?

เปิดบทวิเคราะห์ ทำไมบางประเทศจัดการทั้งเรื่องโรคระบาดและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้ดีกว่าประเทศอื่น? แล้วประเทศไทยแก้ปัญหากับการโรคระบาดรอบ 2 ได้ดีแค่ไหน? อย่างไร?

สถิติที่เราเห็นทางสื่อทุกวันมักจะเสนอประเทศที่คนติดเชื้อโควิด-19 สูงที่สุดตามลำดับ เช่น สหรัฐ อินเดีย บราซิล รัสเซีย อังกฤษ ฯลฯ แต่กล่าวถึงประเทศที่มีคนติดเชื้อและเสียชีวิตอันดับท้ายๆ น้อย เราน่าจะวิจัยหาข้อมูลการเพิ่มขึ้นว่า บางประเทศจัดการทั้งเรื่องโรคระบาดและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้ดีกว่าประเทศอื่นอย่างไร

Bloomberg องค์กรธุรกิจด้านข้อมูลข่าวสารทางเศรษฐกิจและธุรกิจของโลก จัดอันดับประเทศที่รับมือและมีโอกาสฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์โรคระบาดโควิดเมื่อต้นเดือน ธ.ค.2563 ให้คะแนน 15 ประเทศที่ได้คะแนนสูงสุดตามลำดับดังต่อไปนี้ 1.นิวซีแลนด์ 2.ญี่ปุ่น 3.ไต้หวัน 4.เกาหลีใต้ 5.ฟินแลนด์ 6.นอร์เวย์ 7.ออสเตรเลีย 8.จีน 9.เดนมาร์ก 10.เวียดนาม 11.สิงคโปร์ 12.ฮ่องกง 13.แคนาดา 14.เยอรมนี 15.ไทย

Bloomberg อธิบายเหตุผลกว้างๆ ว่า เป็นเพราะประเทศเหล่านี้มีรัฐบาลและระบบราชการที่มีประสิทธิภาพ ประชาชนไว้วางใจและยินดีปฏิบัติตามนโยบายคำชี้แนะของรัฐบาล และเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำต่ำสูงทางเศรษฐกิจน้อย มีระบบให้บริการสาธารณสุขพื้นฐานและสวัสดิการสังคมที่ค่อนข้างดี

บทวิเคราะห์ชิ้นนี้เขียนก่อนที่ไทยจะเจอโรคระบาดรอบ 2 ตอนต้นปี 2564 ซึ่งสถิติผู้ติดเชื้อสูงกว่ารอบแรก และถึงเดือน มี.ค.ตอนนี้ยังอยู่ในภาวะเสี่ยงอยู่มาก แนวทางแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจก็ยังไม่ชัดเจน เท่าที่ผมพยายามติดตามข้อมูลจากบทความแหล่งต่างๆ เท่าที่จะหาได้ทางออนไลน์ ประเทศที่อยู่ลำดับต้นๆ เหล่านี้มีส่วนที่คล้ายกัน เช่น ตัดสินใจปิดประเทศ ปิดเมือง และปิดกิจกรรมที่คนมาชุมนุมกันค่อนข้างเร็วและเอาจริงเอาจัง 

บางประเทศมีการตรวจหาเชิงรุก การควบคุมการกักกันคนเดินทาง คนเสี่ยง และการติดตามการเดินทางของประชาชนทางแอพพลิเคชั่นออนไลน์อย่างเอาการเอางานมาก บางประเทศมีการตรวจบัตรประชาชนสำหรับคนเข้าไปในบางพื้นที่ เพื่อตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังที่เป็นประโยชน์ได้ส่วนใหญ่ใช้แอพพลิเคชั่นผ่านโทรศัพท์มือถือ

แม้แต่ประเทศที่มีการระบาดรอบ 2 เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ เขาก็สามารถบริหารการจัดการได้ดี บางประเทศไม่ได้ล็อกดาวน์ปิดเมือง ปิดกิจการ อย่างหว่านแหหรือเนิ่นนาน มีการผ่อนคลายเพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าได้ แต่มีการควบคุมตรวจตราเรื่องการใส่หน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่าง การทำความสะอาด การตรวจหากลุ่มเสี่ยง การกักตัว ฯลฯ อย่างเข้มงวดแบบคงเส้นคงวา 

ในแง่เศรษฐกิจ รัฐบาลบางแห่งใช้งบประมาณในการช่วยเหลือคนตกงานคนและธุรกิจที่ได้รับผลกระทบเสียหายมาก ทั้งเงินช่วยเหลือโดยตรง ทั้งการลดภาษี รวมทั้งบางประเทศลดภาษีมูลค่าเพิ่มชั่วคราว บางประเทศปฏิรูปเพิ่มเก็บภาษีคนรวยและลดภาษีคนมีรายได้น้อยด้วย มีการใช้งบประมาณเพื่อการสาธารณสุข การศึกษา การฝึกอบรมให้คนปรับตัวไปทำงานใหม่ สังคมสวัสดิการด้านต่างๆ การพัฒนาด้านเทคโนโลยีดิจิทัลให้เข้าถึงประชาชนมากขึ้น การฟื้นฟูอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (สิงคโปร์ใช้งบแก้ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำช่วงนี้ถึงราว 20% จีดีพี)

ประเทศที่ป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคระบาดได้ดี มักจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ค่อนข้างดีด้วย เศรษฐกิจตกต่ำน้อยกว่าและมีโอกาสฟื้นได้เร็วกว่าประเทศอื่น ข้อน่าสังเกตคือมักจะเป็นรัฐบาลที่ค่อนข้างมีความรู้ เชื่อแพทย์ เชื่อนักวิทยาศาสตร์ มีนโยบายที่ก้าวหน้า รับความเป็นธรรม เมื่อเทียบกับประเทศ เช่น สหรัฐ อังกฤษ อินเดีย บราซิล ที่มีรัฐบาลที่มีความคิดแบบหัวเก่า และประเทศมีความเหลื่อมล้ำต่ำสูงมาก

ความจริงมีประเทศอื่นๆ ที่น่าสนใจมากกว่า 15 ประเทศแรกที่ Bloomberg จัดอันดับไว้ อย่างจีน แม้จะมีสถิติคนติดเชื้อโควิดสูงหลัก 8 หมื่นเศษ แต่มีผู้เสียชีวิตน้อย ออสเตรเลียก็พอใช้ได้ ประเทศอื่นๆ ที่น่าสนใจ ทำได้ดีโดยเปรียบเทียบกับเพื่อนบ้านก็มีเช่น ไอซ์แลนด์ สาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กรีก ลิธัวเนีย อาร์เจนตินา

ขณะเดียวกันก็น่าจะศึกษาด้านลบว่า ทำไมบางประเทศจัดการกับโรคระบาดได้ค่อนข้างแย่ เช่น สหรัฐ อังกฤษ ฝรั่งเศส เป็นประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมที่ร่ำรวย มีวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีก้าวหน้า แต่ปัญหาคือมีความเหลื่อมล้ำต่ำสูงมาก มีคนจนมาก บริการสาธารณสุขและสวัสดิการสังคมอื่นๆ สำหรับประชาชนทั่วไปไม่ค่อยดีหรือไม่ทั่วถึงสำหรับคนรายได้ต่ำ ประชาชนบางประเทศมีวัฒนธรรมเสรีนิยม ชอบความสนุกสนาน ชอบบริโภคมากเกินไป ไม่ค่อยเชื่อถือ ไม่สนใจคำเตือนของรัฐบาล เช่น สหรัฐ อังกฤษ ฝรั่งเศส สวีเดน สเปน อิตาลี

สถิติจัดอันดับประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการติดเชื้อโควิด-19 จัดอันดับตามสถิติผู้ติดเชื้อที่ยืนยันแล้ว แต่อัตราการเสียชีวิตนั้นแตกต่างกันไป บางประเทศอัตราเสียชีวิตต่ำ โดยเปรียบเทียบกับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนไล่เลี่ยกัน เช่น รัสเซียต่ำกว่าอังกฤษ ขณะที่ฝรั่งเศส เยอรมนี โปแลนด์ อัตราเสียชีวิตก็ค่อนข้างต่ำ อาจจะเป็นเพราะมีการสาธารณสุขที่ดีกว่าหรือประชาชนไม่จนมาก มีภูมิต้านทานดีกว่า แต่ยังไม่ได้มีการวิจัยอย่างละเอียด

ไทยตอนนี้ตามสถิติจำนวนผู้ติดเชื้ออยู่ลำดับที่ด้อยกว่าฮ่องกง นิวซีแลนด์ ไต้หวัน ฯลฯ ประเทศที่อยู่อันดับท้ายๆ ของโลกมักเป็นประเทศเล็กๆ ในหมู่เกาะ หรือบางประเทศในแอฟริกา ซึ่งพึ่งพาตนเองได้ มีการติดต่อกับเศรษฐกิจโลกน้อย แนวการพัฒนาแบบพึ่งตนเองได้มากขึ้นและเน้นการพัฒนาแนวสีเขียวอย่างเป็นธรรมมากขึ้น (Green and Fair) จึงเป็นทางเลือกที่ดี แต่บางประเทศในแอฟริกาและตะวันออกกลางบางประเทศที่ใหญ่หน่อย พัฒนาทุนนิยมอุตสาหกรรมมากก็มีปัญหามากเช่นกัน

ประสบการณ์เรื่องโรคระบาดโควิดครั้งนี้ สอนให้เรารู้ว่าประเทศที่จะแก้ปัญหาทั้งโรคระบาดและเศรษฐกิจได้ดีขึ้นอยู่กับการพัฒนาความรู้สติปัญญา วัฒนธรรม ด้านการมีวินัยในการร่วมมือกันทั้งของประชาชน และชนชั้นนำที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม เห็นว่าคุณภาพชีวิตประชาชนสำคัญกว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจ ความทันสมัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือการเติบโตของประชาธิปไตยแบบทุนนิยมล้วนๆ 

ไทยยังแก้ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ/ชะลอตัวได้ไม่ดีนัก เพราะระบบเศรษฐกิจไทยมีความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนมาก และรัฐบาลยังคิดแก้ปัญหาในกรอบคิดส่งเสริมการเติบโตแนวทุนนิยมอุตสาหกรรม ไม่ได้มุ่งช่วยคนจนให้มีงานทำ มีรายได้แบบพึ่งตนเองได้มากขึ้นอย่างจริงจัง ยังไม่คิดในเชิงปฏิรูประบบเศรษฐกิจสังคมทั้งระบบอย่างแท้จริง

คนไทยควรอ่านศึกษาวิจัยบทเรียนจากต่างประเทศที่แก้ไขปัญหา/ปรับตัวได้ดี สร้างระบบเศรษฐกิจใหม่ ที่เน้นการกระจายผลผลิตทางเศรษฐกิจสังคมอย่างเป็นธรรมและเน้นการฟื้นฟูอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (fair and green) เพื่อที่เราจะเผชิญวิกฤติครั้งนี้และครั้งต่อๆ ไปได้ดีกว่า