ส.อ.ท.เปิดโรงพยาบาลสนาม จ.สมุทรสาคร รองรับกักตัวโควิด 200 เตียง

ส.อ.ท.เปิดโรงพยาบาลสนาม จ.สมุทรสาคร รองรับกักตัวโควิด  200 เตียง

ส.อ.ท. เปิดศูนย์ห่วงใยคนสาคร แห่งที่ 10 ใช้เทคโนโลยีการก่อสร้าง Prefabrication ขนาด 200 เตียง รวมมูลค่ากว่า 11 ล้านบาท เพื่อให้แรงงาน และประชาชนใน จ.สมุทรสาครได้มีสถานที่กักตัวและรับการรักษา ช่วยลดค่าใช้จ่ายภาครัฐและลดจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19

นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในพิธีเปิดว่า ความร่วมมือของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร และผู้ให้การสนับสนุนทุกภาคส่วน ที่จัดตั้งศูนย์ห่วงใยคนสาคร แห่งที่ 10 นี้ นับว่าเป็นการสนองนโยบายของภาครัฐสำหรับใช้เป็นสถานที่ป้องกันและควบคุมโรคตามมาตรการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้เป็นอย่างดี และหวังว่าศูนย์ห่วงใยคนสาคร แห่งที่ 10 โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยแห่งนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อคนสมุทรสาครและทำให้โรคโควิด-19 หมดไปจากประเทศไทย

นายสุรศักดิ์ ผลยังส่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครมีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2564 ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 มีมติเห็นชอบในการปรับลดระดับของพื้นที่สถานการณ์ย่อยในเขตพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครจากเดิมที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด ขอขอบคุณสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร และผู้สนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ห่วงใยคนสาคร แห่งที่ 10 ที่ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการก่อสร้างศูนย์ห่วงใยคนสาครที่ได้มาตรฐาน สวยงาม และมีความพร้อมในการรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ยังจะเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องชาวสมุทรสาครและจังหวัดใกล้เคียงต่อไป

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปัจจุบัน ที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในรอบแรกนั้น สภาอุตสาหกรรมฯ ได้จัดตั้ง “คณะกรรมการบริหารสถานการณ์ COVID-19 ภาคอุตสาหกรรม” เพื่อช่วยเหลือสมาชิกและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยมีการกำหนดแนวทางและมาตรการป้องกันด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจระยะสั้น และระยะยาว เสนอแนวทางการเยียวยาต่อภาครัฐ รวมทั้งให้การช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์และพี่น้องประชาชนทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยมอบหน้ากากผ้าจำนวน 100,000 ชิ้น ให้กับโรงพยาบาลของรัฐ 10 แห่ง อุปกรณ์ป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส อาทิ หน้ากากผ้า, ชุด PPE, ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อและผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด และ Aerosol Box เพื่อเป็นประโยชน์แก่สังคมรวมเป็นมูลค่ากว่า 15 ล้านบาท

สำหรับการระบาดระลอกใหม่นี้ สภาอุตสาหกรรมฯ ยังคงมุ่งมั่นในการช่วยเหลือทุกภาคส่วนของประเทศอย่างต่อเนื่อง อาทิ การจัดตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาจากผลกระทบสถานการณ์โควิด-19 เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ, ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงอุตสาหกรรม ออกใบรับรองมาตรฐาน “IPHA : Industrial and Production Hygiene Administration” ให้กับสถานประกอบการที่ปฏิบัติตามมาตรการควบคุม ติดตาม และป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อย่างถูกต้อง, จัดหาตู้เก็บวัคซีน COVID-19 ภายใต้โครงการ “FTI ช่วยชาติสู้ COVID-19 มอบตู้เก็บวัคซีนให้แก่สถานพยาบาลของรัฐ 77 จังหวัด ทั่วประเทศ” ตามแผนการจัดหาวัคซีนของรัฐบาล ที่ต้องการให้คนไทยได้รับวัคซีนที่มีคุณภาพปลอดภัยจาก COVID-19

โดยได้ส่งมอบตู้เก็บวัคซีนล็อตแรกให้กับ 21 สถานพยาบาลรัฐเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา, ส่งมอบเตียงสนาม และชุด PPE ให้กับ Mr. Phyo Min Thein มุขมนตรีประจำภูมิภาคย่างกุ้ง โดยสิ่งของที่บริจาคมีมูลค่ารวมกว่า 5.5 ล้านบาท ล่าสุด สภาอุตสาหกรรมฯ ได้ตั้งคณะกรรมการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามจังหวัดสมุทรสาครขึ้น เพื่อดำเนินการก่อสร้างศูนย์ห่วงใยคนสาคร แห่งที่ 10 ณ จังหวัดสมุทรสาคร โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อให้แรงงานไทย แรงงานต่างด้าว และประชาชนในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครและจังหวัดใกล้เคียงได้มีสถานที่กักตัวและรับการรักษา โดยคาดหวังว่าจะสามารถแบ่งเบาภาระของภาครัฐและช่วยลดจำนวน ผู้ติดเชื้อให้ได้เร็วที่สุด ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจของจังหวัดสมุทรสาครและประเทศไทยฟื้นเร็วขึ้น

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการจัดตั้งศูนย์ห่วงใยคนสาคร แห่งที่ 10 กล่าวว่า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้จัดทำโครงการ “เพื่อนห่วงใยเพื่อน” เพื่อมอบสิ่งของและเงินช่วยเหลือผ่านสภาออุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร ต่อมาพบว่าจังหวัดสมุทรสาครยังขาดสถานที่รองรับผู้ป่วยโควิด-19 สภาอุตสาหกรรมฯ จึงอนุมัติให้มีการดำเนินการอย่างเร่งด่วนผ่าน “คณะกรรมการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม” โดยร่วมกับสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร และกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ระดมทุนเพื่อจัดสร้างโรงพยาบาลสนาม (ระยะที่ 1) แบบ Prefabrication (การก่อสร้างอาคารจากชิ้นส่วนที่ผลิตให้สำเร็จจากโรงงานก่อนนำมาประกอบเป็นตัวอาคารที่หน้างาน) ขนาด 200 เตียง มูลค่ากว่า 11 ล้านบาท บนพื้นที่ติดถนนพระราม 2 จำนวน 49 ไร่ ตำบลท่าจีน จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อให้แรงงานไทย แรงงานต่างด้าว และประชาชนในจังหวัดสมุทรสาครและจังหวัดใกล้เคียง ได้มีสถานที่กักตัวและรับการรักษา ช่วยลดค่าใช้จ่ายภาครัฐและลดจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 นับเป็น “ศูนย์ห่วงใยคนสาคร แห่งที่ 10” ที่ใช้ระยะเวลาการก่อสร้างเพียง 28 วัน ตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 8 มีนาคม 2564

ทั้งนี้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ขอขอบคุณผู้สนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ห่วงใยคนสาคร แห่งที่ 10 โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้แก่ สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย, บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด, บริษัท พรีเมียร์โพรดักส์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ดีสโตน      คอร์ปอเรชั่น จำกัด, สมาคมบรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูกไทย, มูลนิธิเอสซีจี, กลุ่มสิทธิผล, สมาคมผู้ผลิตถุงมือยางไทย, กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก

บริษัท บีสไพพ์ฟิตติ้งอินดัสตรี จำกัด, บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน),     กลุ่มบริษัท ที.เค.เอส., กลุ่มบริษัทโตชิบาประเทศไทย, บริษัท ไมด้า เคมิคอล จำกัด, บริษัท เอ.เจ.พลาสท์ จำกัด (มหาชน), บริษัท เซ็นเตอร์ คอนเทนเนอร์ จำกัด, สภาหอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร, บริษัท เคมเม็กอุตสาหกรรม จำกัด, บริษัท ดีไลท์ พลัส จำกัด, บริษัท อนุสรณ์มหาชัยห้องเย็น จำกัด, บริษัท นำชัย อุตสาหกรรม จำกัด, บริษัท โควิก เคทท์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด

บริษัท แปซิฟิคแปรรูปสัตว์น้ำ จำกัด, กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน, บริษัท สยามคอมเพรสเซอร์อุตสาหกรรม จำกัด, บริษัท สตาร์ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท พลาสติค และหีบห่อไทย จำกัด (มหาชน), UACJ (Thailand), บริษัท ยูไนเต็ดฟูดส์ จำกัด, บริษัท กาญจนบุรีอมรชัย จำกัด, บริษัท นิวไวเต็ก จำกัด, มูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน, มูลนิธิว่องวานิช, บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน), บริษัท อุทิศเอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด, บริษัท พงษ์พนา จำกัด, กลุ่มอุตสาหกรรมแก้วและกระจก, ดร.ขัติยา ไกรกาญจน์, บริษัท อุตสาหกรรมพันท้ายนรสิงห์สินค้าพื้นเมือง จำกัด, คุณมงคล เหล่าทวีสุข, บริษัท มโนราห์ อุตสาหกรรมอาหาร จำกัด และ EOSRA